กระบวนการเกิดของไตรสิกขาและไตรลักษณ์



รายงาน

เรื่อง กระบวนการเกิดของไตรสิกขาและไตรลักษณ์

จัดทำโดย

(ชื่อ)    รหัส (รหัสนักศึกษา) 

นำเสนอ

อาจารย์(ชื่ออาจารย์ผู้สอน)


รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาธรรมภาคปฏิบัติ ๔

รหัสวิชา (๐๐๐ ๒๕๔) ๒ นก. ภาคเรียนที่ (***********) ปีการศึกษา ๒๕*******

ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ (***********) สาขาการจัดการเชิงพุทธ


คำนำ

ศาสนาพุทธมีวัตถุประสงค์ที่จะสอนคนเป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ย่างปกติสุข ซึ่งการสั่งสอนอบรมเพื่อให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมก็คือ หลักการมีมนุษยสัมพันธ์ เช่น ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เคารพนับถือ และให้ความไว้วางใจต่อกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มนุษย์ทุกคนหวังที่จะได้รับจากคนอื่น เมื่อทุกคนต่างหยิบยื่นให้กันก็กลายเป็นเหตุจูงใจที่กระตุ้นให้เกิด ความรัก ความศรัทธากัน

คำสอนของพุทธศาสนาถือเป็นรากฐานของมนุษยสัมพันธ์ รวมทั้งมีแนวปรัชญาเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์อยู่ด้วย เพราะมีหลักคำสอนที่ขัดเกลาจิตใจของมนุษย์จากระดับต่ำสุดไปถึงระดับสูงสุด คือ ตั้งแต่เข้าใจตนเองไปถึงเข้าใจผู้อื่น หากบุคคลใดปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้นำหลักพุทธศาสนาไปประยุกต์เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ เนื่องจากหลักธรรมของพุทธศาสนาหลายประการที่เป็นการสร้างความรักความศรัทธาให้กับคนอื่น และแน่นอนว่าเมื่อใครก็ตามที่นำหลักธรรมของพุทธศาสนาไปปฏิบัติย่อมเกิดประโยชน์แก่ตนเองทั้งสิ้น

หากท่านต้องการเนื้อที่มีความละเอียดมากกว่านี้ ผู้จัดทำ แนะนำให้ท่านเปิดไปที่หน้าบรรณานุกรม เพื่อดูแหล่งที่มาของข้อมูลในรายงานเล่มนี้ และสุดท้ายผู้จัดทำขอให้ผู้ที่ได้อ่านรายงานที่เต็มไปด้วยเกร็ดความรู้มากมายในเล่มนี้ ให้มีความสุขสวัสดิ์ตลอดไป เทอญ



ชื่อ................................





สารบัญ

เรื่อง                                                                                                                 หน้า

คำนำ                                                                                                                 ก

สารบัญ                                                                                                              ข

กระบวนการเกิดของไตรสิกขาและไตรลักษณ์                                                   ๑

พระไตรลักษณ์ โดยย่นย่อ และปรมัตถ์ที่สุด                                                      ๕

พระไตรลักษณ์                                                                                                  ๖

พระไตรลักษณ์ ๓ ลักษณะ                                                                                ๗

แสดงพระไตรลักษณ์ของสังขารร่างกาย                                                           ๑๗

แสดงการพิจารณาธาตุ ๔ แบบ กายคตาสติสูตร                                               ๒๓

การปฏิบัติภาวนา ในพระไตรลักษณ์                                                                 ๓๓

เอกสารอ้างอิง                                                                                                  ๓๖






กระบวนการเกิดของไตรสิกขาและไตรลักษณ์



พระไตรลักษณ์เดิมทีนั้น แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็เรียกกันโดยทั่วไปว่าธรรมนิยาม (ธมฺมนิยามตา) ที่แปลว่า นิยามของธรรม (หรือธรรมชาติ) ที่มีความหมายว่า ข้อกำหนดหรือความกำหนดที่แน่นอนแห่งธรรม หรือก็คือธรรมชาตินั่นเอง, ส่วนคำว่าพระไตรลักษณ์ และคำว่าสามัญลักษณะหรือสามัญญลักษณะ ที่มีความหมายเดียวกันกับธรรมนิยามนั้น เป็นคำที่เกิดขึ้นในภายหลังในยุคอรรถกถา, พระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยามเป็นข้อธรรมที่แสดงถึงลักษณะ หรือกฏ หรือข้อกำหนดของธรรม หรือก็คือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และลี้ลับ แต่ด้วยพระปรีชาญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของพระองค์ท่านได้หงายของที่ควํ่าอยู่ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยพระประสงค์ว่าผู้มีจักษุคือปัญญาจะได้แลเห็น กล่าวคือทรงแสดงสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันลี้ลับที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้อย่างถูกต้อง อย่างแจ่มแจ้ง อย่างแท้จริงมาก่อน นับเนื่องมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะพระองค์ท่าน ทรงสอนแต่ในเรื่องธรรมชาติของความทุกข์ ที่หมายถึงเน้นสอนในเรื่องสภาวธรรมหรือธรรมชาติของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นสำคัญ ซึ่งก็เพื่อยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่โดยการนำเอาความรู้ความเข้าใจอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความทุกข์นั้น ไปใช้ในการเพื่อการดับทุกข์อันเป็นสุขยิ่ง เป็นที่สุดนั่นเอง อันเกิดขึ้นและเป็นไปดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า

"ในกาลก่อนนี้ก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม เราตถาคต บัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องทุกข์ และการดับสนิทไม่เหลือของทุกข์เท่านั้น"

พระองค์ท่านทรงเปิดหงายของที่คว่ำอยู่ อันยากยิ่งต่อการหยั่งรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งแท้จริง ทรงแสดงแจกแจงแก่เวไนยสัตว์ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงแสดงพระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยาม อันเป็นสภาวะแห่งธรรมหรือธรรมชาติของเหล่าสังขารและธรรมทั้งปวงว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้นกล่าวคือไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ล้วนเกิดมาแต่การที่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกันทั้งสิ้นทั้งปวง จึงทำให้ต่างก็ล้วนต้องอยู่ภายใต้อํานาจของ อนิจจัง, ทุกขัง และธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา, เป็นธรรมคำสอนเพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ คือเกิดความหน่ายจากการไปรู้ความจริง เมื่อหน่าย จึงเกิดการคลายกำหนัดคือตัณหาความอยาก จึงวางความยึดมั่นหรืออุปาทาน (ซึ่งเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง) การวิปัสสนาในพระไตรลักษณให้แจ่มแจ้ง จึงเป็นการนําออกและละเสียซึ่งเหล่าตัณหาอุปาทานในขั้นปัญญาหรือวิปัสสนา ดังมีพุทธพจน์ตรัสสอนเกี่ยวกับธรรมนิยามหรือพระไตรลักษณ์ ใน อุปาทสูตร ไว้ดังนี้



สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง (อนิจจัง - อนิจจตา)

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวง คงทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง- ทุกขตา)

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวง ไม่เป็นตัวตน (อนัตตา- อนัตตตา)



โปรดสังเกตุคำว่าสังขารและธรรมในพระดำรัสข้างต้นนี้ ดังนั้นก่อนอื่น จึงควรทําความเข้าใจในคําว่า สังขาร และ ธรรม ให้ถูกต้องดีงามเสียก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาในพระไตรลักษณ์ได้อย่างแจ่มแจ้ง

สังขาร ในทางพุทธศาสนาหรือทางธรรมแปลว่า สิ่งปรุงแต่ง, สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่ถูกเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือ สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัย(คือเครื่องสนับสนุนปรุงแต่งแก่กันและกัน)ให้เกิดขึ้นมา จึงมิได้หมายถึงสังขารที่แปลกันโดยทั่วไปในภาษาไทยว่าร่างกายแต่อย่างเดียว แต่เป็นภาษาธรรมหรือบาลีที่มีความหมายถึง สิ่งปรุงแต่ง,สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการมีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันให้เกิดขึ้น โดยแท้จริงจึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมคือสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอายตนะ๕ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ดังเช่น สังขารของร่างกาย โต๊ เสื้อ รถ บ้าน อาหาร หรือกล่าวได้ว่าวัตถุทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้นนั่นเอง ฯลฯ. และยังครอบคลุมแม้ฝ่ายนามธรรม ที่แม้ไม่มีตัวตนเป็นกลุ่มก้อนให้สัมผัสหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะภายใน ๕ เหมือนดังฝ่ายรูปธรรม แต่สามารถสัมผัสรู้มวลของเหตุได้ด้วยอาตนตนะที่ ๖ คือใจ ดังเช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ. ที่แม้เป็นนามธรรม แต่ต่างก็ล้วนต้องเกิดแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั้งสิ้น(ถ้าไม่เข้าใจต้องอ่านรายละเอียดในบท ขันธ์ ๕) ดังที่จักได้กล่าวแสดงรายละเอียดเป็นลำดับๆไป ดังนั้นสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมจึงล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องประกอบขึ้นด้วยสิ่งต่างๆ(คือสิ่งหลายๆสิ่ง)มาเป็นปัจจัยหรือประชุมหรือรวมตัวกัน เพื่อยังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งๆขึ้น, อันเมื่อรวมตัวหรือประชุมกันอยู่นั้น หรือก็คือปรุงแต่งกันอยู่นั้น โดยความจริงแท้แล้วจึงเป็นมายาที่เพียงแต่แลดูเสมือนว่า หรือประหนึ่งว่า ดุจดั่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวหรือชิ้นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแท้ขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)แล้ว "ยังคงมีสภาพเกิดจากการประกอบกัน หรือการประชุมปรุงกันอยู่" กล่าวคือ แม้แลดูราวกับว่าเป็นสิ่งๆเดียว แต่ย่อมไม่สามารถที่จะเชื่อมหรือรวมกันจนเป็นสภาวะสิ่งๆเดียว หรือเนื้อเดียวกันได้อย่างแท้จริงนั่นเอง มันเองหรือสังขารที่เกิดจากสภาวะที่ถูกแรงคือการบีบคั้นปรุงแต่งกันให้เกิดขึ้นนั้น เมื่อเหล่าแรงบีบคั้นหรือบีบเค้นเหล่านั้นๆมีการเปลี่ยนแปลง จึงย่อมเกิดความไม่เสถียรหรือแปรปรวนโดยธรรมหรือธรรมชาติ ก็เพราะความที่ไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงดังกล่าวแล้วนั่นแล มันจึงเกิดสภาวะที่ไม่สามารถรวมตัวกันอยู่ได้อย่างเที่ยงแท้และถาวรโดยธรรมหรือธรรมชาติ อุปมาอย่างหยาบๆพอให้เห็นได้ก็คือ ไม้ชิ้นเดียวที่มีการปรุงแต่งน้อยกว่า ย่อมมีความแข็งแรงกว่าไม้ที่นำมาประกอบกันหรือปรุงแต่งประกอบกันด้วยตะปูหรือน๊อตหรือกาวหลายๆสิ่ง แม้ต่างก็เป็นสังขารที่ต้องแปรปรวนแตกหักดับไปในที่สุดเหมือนกันก็ตามที กล่าวโดยย่อก็คือ ธรรมชาติมีสภาวธรรมคือแรงบีบคั้น ที่พยายามผลักดันให้สังขารคืนสภาพ สู่สภาพเดิมๆ หรือธรรมชาติเดิมๆ โดยวิธีการต่างๆให้เป็นไป จึงเกิดอาการความไม่เที่ยงหรืออนิจจังขึ้นนั่นเอง

สังขาร ในไตรลักษณ์จึงหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่การที่มีเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน จึงหมายถึง ทุกๆสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม(คือทั้งฝ่ายวัตถุ และทั้งฝ่ายจิต), โลกียธรรม โลกุตรธรรม กาย จิต ขันธ์๕ ทุกๆสรรพสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น...ฯลฯ. จึงพึงยกเว้นแต่เพียงสิ่งๆเดียวคืออสังขตธรรมเท่านั้น ที่หมายถึง ธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่ง อันได้แก่เหล่า สภาวธรรมหรือธรรมชาติ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้นนั่นเอง ดังเช่น พระนิพพาน สภาวธรรมของฝน สภาวธรรมการตายของชีวิต ฯลฯ.

[ ควรทำเข้าใจความหมายของสังขาร ที่เจาะจงเฉพาะทางของสังขารนั้นๆ ดังเช่น สังขารในปฏิจจสมุปบาท, สังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในไตรลักษณ์ให้ชัดเจน ที่แม้ล้วนเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็ตามที มิฉนั้นเมื่อเวลาพิจารณาเจริญวิปัสสนาหรือโยนิโสมนสิการจะเกิดความสับสนและงุนงง จนเกิดวิจิกิจฉาในธรรมขึ้นได้, คลิกดูคําอธิบายเฉพาะเจาะจงภายหลังได้ ที่นี่ ]

"สังขาร"ที่กล่าวว่า สิ่งปรุงแต่งหรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ด้วยเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน ดังเช่น สังขารร่างกาย ก็เป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุ ๔, ชีวิต ก็เป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕, แม้แต่เวทนาหรือเวทนาขันธ์ คือความรู้สึกที่ย่อมเกิดขึ้นจากการผัสสะด้วยอายตนะต่างๆ อันเป็นนามธรรม ที่แม้ไม่มีตัวตนแต่ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่ง คือการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึง"เกิด"ขึ้น ดังต่อไปนี้

อายตนะภายนอก กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป อายตนะภายใน การกระทบกันของปัจจัยทั้ง๒ ย่อมเกิด วิญญาณ๖ การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี สัญญา เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข, ทุกข์, ไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นธรรมดาหรือตถตากล่าวคือ จะพิจารณาเห็นได้ว่าเวทนานั้นเกิดขึ้นหรือมีชาติขึ้นมาแต่การที่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งกันดังข้างต้น คือ เกิดแต่เหตุอันมีอายตนะภายนอกต่างๆ กับอายตนะภายในต่างๆ ตลอดจน วิญญาณ๖ จึงยังให้เกิดการผัสสะกันขึ้น และเกิดสัญญาขึ้น กล่าวคือ ต้องมีเหตุต่างๆเช่นดังนี้ มาเป็นปัจจัยกัน จึงยังให้เกิดเวทนาขึ้นมาได้ ฯ. กล่าวแสดงดังนี้แล้ว คงจะเห็นได้แจ่มแจ้งว่า แม้เวทนาที่เป็นนามธรรมไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง เป็นนามธรรม ที่เป็นความรู้สึกรับรู้ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของผู้ที่มีชีวิตเมื่อเกิดการผัสสะขึ้นโดยธรรมคือธรรมชาติ จึงเป็นสังขารอย่างหนึ่งช่นกัน, ส่วนขันธ์อื่นๆของชีวิตทุกขันธ์ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งดังนี้เช่นกัน, จิต ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง เกิดแต่เหตุปัจจัยของ เวทนา สัญญา วิญญาณ และยังต้องอาศัยสังขารกายหรือรูปเป็นเหตุปัจจัยร่วมอีกด้วย, โต๊ะ ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของไม้ ตะปู กาว ตลอดจนกรรม(การกระทำ)ในการประกอบกันขึ้น ฯ., การพูด การคิด การกระทำทางกายต่างๆ ก็ล้วนเป็นสังขาร เป็นผลที่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ทำงานประสานเนื่องสัมพันธ์กัน จึงเกิดสังขารที่เรียกกันเจาะจงเฉพาะตัวลงไปอีกว่าสังขารขันธ์, เมฆที่เห็นบนท้องฟ้า ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของ การระเหยของนํ้า ไอนํ้า ฝุ่น ความร้อนเย็น ฯ. จึงเป็นสังขาร, พระอาทิตย์ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของมวลหมู่ก๊าซต่างๆ ตลอดจนการลุกไหม้ ฯ., รถยนต์ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของวัตถุธาตุต่างๆมาประกอบกัน พร้อมทั้งการกระทำ(กรรม)เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น, อะตอมเพียงอะตอมเดียวก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของโปรตอน อิเลคตรอน นิวตรอน มาประชุมปรุงแต่งกันฯ. ลองพิจารณาในสิ่งต่างๆที่ท่านได้เห็น ท่านได้ยิน ท่านได้สัมผัสด้วยอายตนะใด ฯ. ต่างล้วนเป็นสังขาร กล่าวคือ เกิดแต่เหตุต่างๆมาประชุมเป็นปัจจัยกันนั่นเอง ดังเช่น อายตนะภายนอก อายตนะภายใน การผัสสะ วิญญาณ ฯ., และที่สำคัญที่สุดที่ควรรู้ยิ่ง แม้แต่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นสังขารเช่นกัน จึงต้องมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน อันเป็นไปดังวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จึงเกิดขึ้นเป็นความทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายขึ้นได้ ดังนั้นสังขารจึงครอบคลุมแทบทุกสรรพสิ่งจริงๆ อันพึงยกเว้นแต่เพียงอสังขตธรรมคือธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ดังที่จักกล่าวต่อไปโดยละเอียด

ธรรม ในไตรลักษณ์ หมายถึง ครอบคลุมทุกๆสรรพสิ่งล้วนสิ้น ทั้งสากลจักรวาล กล่าวคือตั้งแต่เล็กที่สุด จนใหญ่ที่สุด, ทั้งรูปธรรม นามธรรม โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น, ธรรมจึงแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

สังขตธรรม ธรรมหรือสิ่งที่เกิดแต่การมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "สังขาร" ดังกล่าวแสดงข้างต้นแล้ว และ

อสังขตธรรม ธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังเช่น พระนิพพาน เพราะหมายถึงสภาวธรรมหรือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง กล่าวคือ ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่งกันขึ้น แต่ก็เป็นจริงอย่างนี้ เป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือนามธรรม ที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมสภาวธรรมทั้งหลาย เช่น นิพพาน, สภาวธรรมการตายหรือแตกดับของชีวิต, สภาวธรรมของการเกิดขึ้นของฝน ฯลฯ. สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธรรม ที่ยังไม่ได้เกิดการปรุงแต่งกัน จนเกิดขึ้นจริงๆ เป็นตัวเป็นตนหรือเป็นสังขาร แต่เมื่อใดที่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆที่เป็นปัจจัยกันมาปรุงแต่งหรือประชุมกันครบ ก็จะเกิดสังขารหรือสังขตธรรมขึ้น, ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้น เรียกได้ว่าอกาลิโก ไม่ขึ้นต่อกาล จึงมีความแตกต่างไม่เหมือนดังเช่นพวกสังขาร ที่ไม่เที่ยงและทนอยู่ได้ยากจึงต้องดับไปเป็นที่สุดทั้งสิ้น

ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งสอง แม้แลดูว่าเข้าใจง่ายๆ แต่พยายามแยกแยะให้กระจ่างชัด เพราะมีความเนื่องสัมพันธ์ให้เข้าใจในพระอนัตตาในภายหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง

สรุปความพระไตรลักษณ์ ได้ดังนี้ "สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนไปเป็นอาการธรรมดา, จึงทนอยู่ไม่ได้จึงต้องเสื่อมไปเป็นอาการธรรมดาและดับไปในที่สุด จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากไปยึดด้วยเหล่าตัณหาอุปาทาน, เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน หรือไม่ใช่ของตัวของตน (ตัวตน-หมายถึงตัวตนของสิ่งต่างๆทั้งหลายทุกชนิด รวมทั้งตัวตนของตนด้วย)ที่เป็นแก่นเป็นแกนอย่างแท้จริง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมปรุงแต่งกันชั่วขณะ หรือประกอบกันในระยะเวลาหนึ่ง เป็นกลุ่มก้อนมายาหรือฆนะ ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยเหล่านั้นมีอันต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี, ฆนะหรือกลุ่มก้อนของตัวตนหรือของตนเหล่านั้นอันเป็นผล จึงต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามเหล่าเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยกันนั้น ในที่สุด เป็นไปตามหลักธรรมอิทัปปัจจยตา, จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา ได้อย่างจริงแท้แน่นอน"



พระไตรลักษณ์ โดยย่นย่อ และปรมัตถ์ที่สุด

สังขาร จึงเกิดขึ้นมาแต่ มีเหตุต่างๆหรือก็คือสิ่งต่างๆ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น ดังนั้นฆนะมวลรวมหรือกลุ่มก้อน ล้วนคือมายาที่เห็น จึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวหรือชิ้นเดียวแท้จริง แต่ประกอบขึ้นมาแต่เหตุต่างๆ จึงมีสภาวะของแรงที่บีบเค้นขึ้นโดยธรรมหรือธรรมชาติต่อสังขาร ให้คืนสู่สภาพเดิมหรือธรรมชาติเดิมแท้ก่อนการปรุงแต่ง จึงทำให้เกิดสภาวะของอนิจจังหรือความไม่เที่ยง ที่เกิดการแปรปรวนจากแรงบีบเค้นนั้นๆขึ้นเป็นธรรมดา

เมื่อไม่เที่ยงแล้วจึงมีอาการแปรปรวนไปมา จนถึงที่สุดของอาการแปรปรวนคือทุกขัง สภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้อีกต่อไป จึงดับไปเป็นที่สุด

สังขารทั้งปวงจึงล้วนอนัตตา ตัวตนที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามทีล้วนเป็นเพียงมายาของกลุ่มก้อนที่ปรุงแต่งกันขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงล้วนไม่ใช่ของใครๆทั้งสิ้นล้วนเป็นไปตามธรรมคือเป็นไปตามเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง ดังนั้นสังขารทั้งปวง แม้แต่ตัวตนของเรา จึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง

ส่วนอสังขตธรรมนั้นก็เป็นเพียงธรรมชนิดนามธรรม ที่ยังไม่เกิดเป็นปรากฏการณ์ของการที่เหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นให้เป็นตัวเป็นตนคือเป็นผลขึ้นแต่อย่างใด จึงเป็นอนัตตาอยู่ในที หรือโดยธรรม คือย่อมยังไม่มีตัวไม่มีตนนั่นเอง ด้วยเหตุดังนี้ ธรรมทั้งปวงจึงล้วนอนัตตา ไม่มีตัวตนแท้จริง เมื่อไม่มีตัวมีตนอย่างแท้จริง จึงย่อมไม่สามารถเป็นอะไรของใครๆได้เช่นกัน จึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราล้วนสิ้นเช่นเดียวกันกับสังขารทั้งปวง

หรือ พิจารณาจากธรรมดังนี้ ก็ย่อมเห็นความจริงได้เช่นกันว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา

(ธัมมจักกัปวัตตนสูตร)

ดังนั้นสังขาร เมื่อถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดย่อมคืนสู่สภาพเดิมหรือธรรมชาติเดิมก่อนการปรุงแต่งโดยธรรมหรือธรรมชาติ กล่าวคือย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา จึงบังเกิดอาการของอนิจจังความไม่เที่ยงขึ้น ที่มีอาการของความแปรปรวนเพื่อคืนสู่ธรรมชาติเดิมเป็นธรรมดา จนทุกขังทนอยู่ไม่ได้ในที่สุด จึงย่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา จึงล้วนเป็นอนัตตาเพราะไม่มีตัวตน(จึงไม่ใช่ของตัวของตนอีกด้วย) เพราะตัวตนที่มาประชุมกันอยู่ได้เพียงชั่วขณะระยะหนึ่งนั้น ก็ต้องดับไปเป็นที่สุดนั่นเอง

(อ่านพระไตรลักษณ์จบแล้ว กลับมาอ่านพิจารณาอีกหลายๆครั้ง)



พระไตรลักษณ์

สังขารทั้งหลายทั้งปวง(สังขาร - สิ่งปรุงแต่งหรือถูกปรุงแต่งขึ้น จึงมิไดด้หมายถึงแต่สังขารร่างกายเท่านั้น) ล้วนเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ) อันเป็นเช่นนี้เอง กล่าวคือ ล้วนเกิดแต่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆ มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน หรือปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือ มีเหตุต่างๆ มาประชุมหรือปรุงแต่งกันขึ้น ชั่วขณะหรือระยะหนึ่งๆ เพราะเกิดแต่เหตุที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงต้องอาศัยเหตุต่างๆหลายเหตุ มาเป็นปัจจัยหรือมาประชุมรวมกันแบบเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จึงล้วนเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียว, แต่ในความเป็นจริงระดับปรมัตถ์นั้น มิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง เพียงแต่เกิดจากการประชุมเป็นปัจจัยกันของเหตุต่างๆ ชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆเท่านั้น จากความแตกต่างกันโดยธรรมหรือธรรมชาตินี้นี่เอง ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวงจึงมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเองซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ มีแรงบีบคั้น แรงยึด แรงผลัก ฯ. จากความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือ จึงมีแรงกริยาและแรงปฏิกริยาต่างๆนาๆ แอบแฝงอยู่ในสังขารนั้นๆ อันก่อให้เกิดสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ จึงเป็นไปดั่งนั้น จนเรียกกันว่าสามัญลักษณะ หรือลักษณะโดยทั่วไปของสังขารทั้งปวง อันเป็นไปดังนี้

จึงล้วนเป็น "อนิจจัง" มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาการธรรมดา, ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้ตลอดไป, เพียงบางครั้งแลดูประหนึ่งว่า สามารถควบคุมบังคับได้ในบางเหตุปัจจัย จึงก่อให้เกิดมายาจิต เกิดความหลงผิด ไปหลงคิดหลงยึดว่าอยู่ภายใต้อํานาจของตัวของตน สามารถควบคุมบังคับได้ แต่แท้จริงแล้วไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างจริงแท้แน่นอน ต้องมีอันต้องแปรปรวนไปตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติเป็นที่สุด อย่างจริงแท้แน่นอน จึงเป็นทุกข์

จึงล้วนเป็น "ทุกขัง" มีความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์เมื่อไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยอุปาทาน ก็เนื่องเพราะเมื่อมีการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดย่อมแปรปรวนจนถึงภาวะสุดท้ายของการแปรปรวน คือ การดับไปเป็นที่สุด ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวงจึงมีอาการเสื่อมไปเป็นอาการธรรมดา และถึงภาวะต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเป็นทุกข์เพราะย่อมไม่สมดังหวังเป็นที่สุดอีกนั่นเอง

เพราะล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนเป็น "อนัตตา" ไม่มีตัวไม่มีตน ที่เป็นแก่น เป็นแกน เป็นสาระอย่างแท้จริงได้ตลอดไป กล่าวคือ ตัวตนทั้งหลายนั้น แม้แต่ตัวตนของตน ก็ไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง เป็นเพียงสมมติสัจจะ เพราะล้วนแต่เกิดมาจากเหตุปัจจัยต่างๆหลากหลาย มาประชุมปรุงแต่งเป็นปัจจัยแก่กันและกัน และเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันชั่วขณะหรือในระยะเวลาหนึ่งๆ ดุจดั่งเงา(ขยายความ), ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆเหล่าใดเหล่านั้น ที่มาประชุมกันตัวใดตัวหนึ่งมีอันต้องแปรปรวน,เสื่อม หรือดับไป ผลหรือผลลัพธ์ที่เกิดแต่เหตุปัจจัยเหล่านั้น อันคือ สังขารทั้งปวงแม้

ตัวตน,ของตนทั้งหลายทั้งปวงที่ไปหลงยึดติด ยึดมั่น ถือมั่นพึงพอใจทั้งในสุขและในทุกข์ ก็ต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นที่สุด จึงมีสภาพที่ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง จึงต่างล้วนแต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่เป็นไปตามธรรมคือเหตุปัจจัยล้วนสิ้น

ด้วยเหตุเพราะอนิจจังความไม่เที่ยง, ทุกขังความคงทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมและดับไป, และอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตน หรือไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง, เหตุเพราะย่อมควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาอย่างแท้จริงแน่นอน จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหา หรือไปยึดมั่นตามความพึงพอใจของตนด้วยกิเลส(อุปาทาน) เพราะย่อมไม่สมปรารถนาหรือผิดหวังเป็นที่สุดเมื่อเกิดอาการแปรปรวนหรือดับไปนั่นเอง แม้ในสุข ทั้งในทุกข์ก็ตามที กล่าวคือ ต้องเป็นทุกข์ในที่สุดอีกนั่นเอง

(ควบคุมบังคับไม่ได้ หมายถึง การควบคุมบังคับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอน)

สังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงล้วนมีสภาวะดังนี้

ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย ตั้งอยู่อย่างไม่เที่ยง แปรปรวนไปมา จนดับไปเป็นที่สุด ล้วนเป็นอนัตตา จึงล้วนไม่ใช่เราหรือของเรา อย่างแท้จริง



พระไตรลักษณ์อันมี ๓ ลักษณะ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ อันมีรายละเอียด ดังนี้

๑. อนิจจัง

สังขารหรือสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมหรือประกอบกันชั่วขณะเพียงระยะหนึ่ง จึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง เพราะความที่ไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงนี่แหละจึงมีความไม่สมบูรณ์เป็นหนึ่ง แอบเร้นอยู่ในตัวเอง มีแรงบีบคั้นโดยธรรมหรือธรรมชาติ จึงเป็นปัจจัยทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันอย่างเสถียร คงที่ คงทนได้ตลอดไป จึงเกิดอนิจจังคืออาการแปรปรวน หรืออาการไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดาตามสภาพเหตุปัจจัยของมัน จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้ตลอดไปในที่สุด จึงเกิดสภาวะที่มีการเกิดขึ้นแล้วต้องมีการแปรปรวนไปเป็นธรรมดาหรือตถตา

เมื่อไม่เที่ยง มีอาการแปรปรวนกลับกลายไปเป็นธรรมดา เมื่อไปอยากด้วยตัณหา จึงเกิดการไปยึดว่าเป็นของตัวของตนด้วยอุปาทานในสังขารใดๆเข้า ดังนั้นเมื่อเกิดการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงหรือดับไป จึงยังให้เกิดทุกข์ชนิดอุปาทานทุกข์อันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย

พระไตรลักษณ์ หรือลักษณะของธรรมชาติทั้ง ๓ นี้ มีธรรมหรือสิ่งที่มาปกปิดหรือซ่อนเร้นไว้ไม่ให้ปุถุชนแลเห็นหรือเข้าใจได้อยู่เช่นกัน จึงปกปิดบดบังร่องรอยไม่ให้เห็นและเข้าใจ จึงก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยไปทั่วทุกโลกธาตุ จนบังเกิดมีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พระปรีชาญาณ ตรัสรู้เห็นชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงนำมาเปิดเผยดุจดัง หงายของที่คว่ำอยู่ขึ้นแสดง เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ตามประทีปในที่มืด ด้วยเห็นว่าผู้มีจักษุคือปัญญาคงเห็นได้ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งนั่นเอง

อนิจจัง ถูกปิดบังซ่อนเร้นร่องรอย ทําให้ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรมหรือธรรมชาติได้ ก็เพราะเหล่า สันตติ - ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้ปกปิดบดบังไว้ ดังเช่น คนที่อยู่ใกล้ชิดกันเห็นกันบ่อยๆหรือทุกๆวัน หรือตัวของเราเอง จะสังเกตุได้ว่ามองไม่ค่อยเห็น ความแปรปรวนไป ความไม่เที่ยงในกายว่ามีความแก่ ความเสื่อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แต่คนคุ้ยเคย ที่จากกันไม่พบกันเป็นเวลานาน กล่าวคือ ขาดความสืบต่อหรือขาดความต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เมื่อเกิดมาประสบพบกันอีกจะสังเกตุเห็นได้อย่างง่ายๆว่า โตขึ้น แก่ขึ้น เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งกายและความคิดหรือจิต, ตัวตนของเราหรือท่านทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้วมีความเสื่อมไม่เที่ยงเกิดอยู่ทุกๆขณะ ทุกๆโมเลกุลในเซลมีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเคลื่อนไหว ไม่เที่ยง เสื่อม หลุดลอก อยู่ตลอดเวลาจริงๆ,แม้แต่อะตอม อันจัดว่าเป็นสิ่งทางวัตถุธาตุที่เล็กที่สุดในวิทยาการปัจจุบัน ก็เป็นเพียงสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากเหล่ามวลของอิเลคตรอน โปรตอน นิวตรอน ที่มีเหล่าอิเลคตรอนวิ่งวนเวียนรอบกลุ่มของเหล่าโปรตอนและนิวตรอนอยู่โดยมิรู้จักหยุดหย่อน อันแสดงให้เห็นสภาวะแห่งความแปรปรวน อันก่อให้เกิดความไม่เที่ยงอยู่ทุกขณะ ที่ยืนยันพระพุทธพจน์ได้เป็นอย่างดีโดยความรู้ทางโลก แม้อะตอมในที่สุดก็ต้องดับไปตามวงจรอายุขัยของสิ่งๆนั้น การที่อิเลคตรอน,โปรตอนและนิวตรอนก็หมุนรอบตัวเองก็ยังเกิดแต่เหตุปัจจัยของพลังงานชนิดต่างๆอีกเช่นกัน, โมเลกุลอันเป็นมวลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนั้น ก็่เป็นสังขารที่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งของเหล่าอะตอม กล่าวคือ ย่อมประกอบกันด้วยมวลของอะตอมในรูปแบบต่างๆกัน, โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากวัตถุธาตุต่างๆนาๆอย่างหนึ่ง จึงแสดงอาการแปรปรวนไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลาทุกๆขณะ มีการหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝนตก แดดออก หิมะตก ฯลฯ., จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ยังเป็นสังขารที่ล้วนเกิดแต่การมีเหตุต่างๆแม้มหาศาลมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นเช่นกัน จึงย่อมแสดงความไม่เที่ยงแปรปรวนเป็นธรรมดา มีการโคจรของดวงดาวต่างๆตามเหตุแรงดึงดูด การชนกัน การเกิด การดับของดวงดาวอยู่ทุกๆขณะจิต ฯลฯ., กายของเราท่านทั้งหลายก็เป็นสังขารที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือมวลหมู่ของเซลมาประกอบกันเป็นร่างกายตัวตน จึงย่อมมีความไม่เที่ยงมีความเสื่อมสลายและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลาเช่นผิว,ผม,เล็บ,เยื่อบุ,นํ้าเลือด,นํ้าหนอง ฯลฯ.มีความเสื่อมหรือหลุดลอกอยู่ทุกๆขณะทุกๆเศษเสี้ยวของวินาที และสร้างเสริมใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน การหายใจก็เป็นสังขารจึงมีการแปรปรวนอยู่ทุกขณะจิต ส่วนจิตก็ยิ่งมีความแปรปรวนยิ่งกว่าสิ่งใด เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตุหรือพิจารณาให้เห็น เพราะโดยทั่วไปนั้นถูกปกปิดบังไว้ด้วย ความต่อเนื่อง จนปิดบังมองไม่เห็นการเกิด การดับ และความเสื่อมไป จึงมองด้วยตาธรรมดาไม่เห็น ต้องใช้ตาปัญญาที่มาจากการเจริญวิปัสสนา หรือธรรมวิจยะ แล้วต้องตริตรอง คิดค้น พิจารณาโดยละเอียดแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง เช่น ธูปเวลาเราจุดไฟแล้วแกว่งโดยเร็วจะสังเกตุแต่ไฟที่ปลายธูปเป็นเส้นไฟสายเดียวต่อเนื่องกันไปเพราะความเป็นไปอย่างต่อเนี่องจนเห็นแต่มายา,มองไม่เห็นความจริงว่าเป็นแค่จุดเปลวไฟเล็กๆจากปลายธูป และสังเกตุไม่เห็นความเสื่อมมอดไหม้ไปทุกขณะของธูป เห็นแต่ความรุ่งโรจน์เรืองรองเป็นสายของเส้นไฟจากปลายธูป ไม่ได้สนใจหรือสังเกตุเห็น(เทียบเท่าสติ)ความไม่เที่ยงของธูปที่แปรปรวนมอดไหม้หมดลงไป..ลงไป จนต้องดับไปเป็นที่สุด

ดูเอาเถอะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดา พระมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้อนิจจังของพระไตรลักษณ์เป็นธรรมดา

ชีวิตของเราก็เช่นกัน มองหา สนใจแต่ความสมปรารถนา(สุข)เพราะความเป็นธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ที่ย่อมชอบต้องรักความสุขสบาย หน่ายในทุกข์ จนลืมสังเกตุ มองไม่เห็นความไม่เที่ยงของกายและจิต(รูป-นาม)ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆก็เพราะ สันตติความสืบเนื่องนี้ที่เป็นปัจจัย, เมื่อสังเกตุไม่เห็น จึงเกิดการลืมตัวเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดการประมาทโดยไม่รู้ตัวเป็นปกติธรรมดา



อนิจจลักษณะ - ลักษณะที่เป็นอนิจจัง

ลักษณะที่แสดงว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่

๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ..... มีแล้ว ก็ไม่มี

๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ ควบคุมบังคับให้คงที่คงทนไม่ได้อย่างแท้จริง

๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ ระยะหนึ่งๆ

๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธหรือตรงข้ามกับความเที่ยงอยู่ในตัว

ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งทั้งหลาย(สังขาร)ที่ไปอยากหรือไม่อยากอันล้วนคือตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยกิเลสตน(อุปาทาน)ทั้งด้วยความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(ไม่มีสติ)เหล่านั้น มีอาการไม่เที่ยง,ต้องแปรปรวน,มีอาการเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา



๒. ทุกขัง

สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยคงทนอยู่ไม่ได้, ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยความไม่เที่ยง แปรปวน, ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องซ่อนเร้นอยู่ในตัวของตัว, ภาวะของแรงดูดและผลัก ฯ. ตัวเหตุปัจจัยหลายๆอย่างอันประกอบกันขึ้น แต่ละตัวก็ล้วนแปรปรวน ซึ่งเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆมีการแปรปรวน ผลก็ย่อมแปรปรวนไปๆมาๆอยู่เยี่ยงนั้น อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา เมื่อเกิดการแปรปรวนเยี่ยงนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ในที่สุดภาวะของการสิ้นสุดหรือดับไปก็ต้องบังเกิดขึ้นเป็นที่สุด จึงทำให้ผู้ที่ไปยึดไปอยากในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดภาวะที่ทําให้ไม่มีความสมใจ,ไม่สมอยาก,และไม่พอใจ อันก่อให้เกิดทุกข์ แก่ผู้ที่ไปอยากด้วยตัณหา จึงเกิดการไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตัวหรือของตนอย่างแท้จริงด้วยอุปาทาน ในที่สุด

คําว่า"ในที่สุด" นี้ต้องการชี้ให้เห็นชัดๆว่า เพราะบางครั้งนั้นความสมใจสมอยากบ่อยๆคือได้ตามปรารถนาจนลืมตัวว่าในที่สุดก็ต้องเป็นทุกข์อย่างแน่นอน เพราะความกล้าแข็งขึ้นของตัณหาและอุปาทานตามที่ได้รับการตอบสนอง จนเกินกําลังที่จะสนองได้ในที่สุด, ตลอดจนเพราะความไม่เที่ยงและทุกขังคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปนั่นเอง

ทุกขัง สภาวะที่คงทนอยู่ไม่ได้ จึงเกิดอาการดับหรือสูญสลายไปในที่สุด ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหาอันยังให้เกิดความยึดมั่นด้วยอุปาทานในสังขารที่ดับไป จึงย่อมเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย

ทุกขัง หรือความทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป มักถูกปิดบังด้วยอิริยาบถ(ความเคลื่อนไหวร่างกาย และแม้แต่ทางจิต) จึงก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือบดบังหรือเกิดการแยกพราก,การยักย้ายจากกัน จนทำให้ไม่ทันสังเกตุเห็นทุกขังความทนอยู่ไม่ได้หรือทุกข์ที่เกิดขึ้น ดังเช่นผู้ฝึกสมาธิ เมื่อปฏิบัติจะเห็นความคิด(ทุกข์ที่เกิดทางใจ)แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนสังเกตุเห็นทุกข์ทางกายจากความปวดเมื่อยต่างๆรุมประเดประดังเข้ามาจนสังเกตุได้ชัด(เคยสังเกตุ?) เหตุเพราะเราอยู่ในความสงบนิ่ง, ไม่มีอิริยาบถเคลื่อนไหว ทุกข์ต่างๆจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในความรู้สึก บางคนอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะท่านั้นไม่สบายไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย ลองท่าทางต่างๆหรือท่านอนอันแสนสบายที่สุดดูก็ได้ เพราะจะเป็นเพียงการรอให้แรงบีบคั้น,ความกดดันจนถึงระดับปรากฏแก่สายตาหรือความรู้สึกของเราเท่านั้น มันแค่จะกินเวลาเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งเท่านั้น การนอนหรือกริยาที่สบายที่สุดอะไรก็ตามแค่ต้องการใช้เวลามากขึ้นเท่านั้นเอง, หรือการที่รูป(ณ.ที่นี้หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้)ถูกแยกพรากออกจากนาม(ผู้รู้)ก่อนสังเกตุเห็นภาวะบีบคั้นกดดันขัดแย้งนั้น เช่น สิ่งที่เราเห็นนั้นถูกแยกหรือหายไปจากสายตาของเรา ดังเช่นคนที่เราเกลียดเดินแยกพรากไปจากสายตาเราเสียก่อนที่จะรู้ว่ามันไม่สามารถคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป, หรือการที่นาม(ผู้รู้หรือผู้สังเกตุ)ถูกแยกพรากจากรูป(สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกสังเกตุ) ดังเช่น เราเองเดินแยกพรากไปจากสิ่งที่เห็นและไม่ชอบใจนั้นเสียก่อนที่จะเห็นความคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปเอง, เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุอันสําคัญที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตุเห็นความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงดับไปในที่สุด ก็เนื่องมาจากอิริยาบถหรือการแยกพรากนี้นั่นเอง มาบดบังไม่ให้เห็นสัจจธรรมข้อทุกขังนี้ ถ้าเราเห็นอย่างชัดแจ้งประจักษ์ในจิตอยู่เสมอๆ ก็จะไม่ถูกครอบงำด้วยอิริยาบถหรือการแยกพราก ในการปฏิบัติควรใช้ประโยชน์จากโทษนี้ เช่นเมื่อนั่งสมาธิถ้าใจเราสงบเป็นสมาธิก็ปล่อยให้เป็นสมาธิ เพื่อจิตจักได้ไม่ซัดส่าย อันก่อเกิดเป็นกําลังของจิตในการพิจารณาธรรมต่อไป และชิมรสอร่อยของความสงบ ปิติ สุข อุเบกขา (อย่าไปอยากหรือยึดจนติดเป็นวิปัสสนูปกิเลส จมติดอยู่กับ "สุข หรือความสงบ", เผลอตัวเมื่อไรเสพทันที จะทําให้ไม่พัฒนาให้เกิดขั้นปัญญาในการดับทุกข์ตลอดจนเกิดโทษในภายหลัง) แต่เมื่อใดที่เป็นทุกข์ ใจไม่สามารถสงบได้เพราะไม่มีอิริยาบถความเคลื่อนไหวมาปิดบังทุกข์ จนทุกข์นั้นปรากฎเด่นชัดขึ้นมาในจิต ทําให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆแม้แต่ในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็เถอะ ก็ให้เห็นความคิด หรือเวทนาต่างๆทั้งทางกายและจิตที่ผุดขึ้นนั้นด้วยใจที่สงบอุเบกขา วางทีเฉย ไม่แทรกแซงเข้าไปปรุงแต่ง สังเกตุให้เห็นความคิด,นึก, คิดปรุงแต่ง โทสะ โมหะ ฯ. ตลอดจนเวทนาต่างๆที่ผุดขึ้น,ที่เกิดขึ้น(อย่าไปไหลเลื่อนปรุงแต่งตามความคิดหรือเวทนานั้นๆแค่สังเกตุหรือเห็นและเข้าใจ แล้วละเสีย) เหล่านี้แหละคืออาสวะกิเลส ที่ยังให้เกิดสังขารตามที่เคยสั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติมาไว้แล้วแต่ในอดีต ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอันเกิดแต่อวิชชาและอาสวะกิเลส อันนี้เป็นจักประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นตาแห่งปัญญาที่จะนําพาให้พ้นทุกข์(วิปัสสนาญาณ)จักได้เริ่มบังเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เริ่มเห็นความคิดหรือจิตตามที่ได้สั่งสมไว้ว่าเป็นอย่างไร ก่อทุกข์ ขึ้นมาใช่ไหม เริ่มเข้าใจและเห็นสังขารความคิดปรุงแต่งอันก่อทุกข์ได้ด้วยตนเองอย่างแจ่มแจ้ง

อิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย บดบังหรือเบี่ยงเบนทุกข์ได้ จึงสามารถนําภูมิรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ในการดับทุกข์ชั่วขณะ ในขณะที่ถูกทุกข์รุมเร้ามากๆ หรือการที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานอันแรงกล้าแล้วนั่นเอง จนไม่สามารถสลัดหลุดออกได้ด้วยกำลังจิตของตนเอง เช่น เปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ, เปลี่ยนงานหรือกิจที่ทําเช่นเปลี่ยนกริยาต่างๆ, ตลอดจนการแยกพรากออกจากสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์นั้น (แต่ต้องพึงสังวรณ์ว่าแค่ชั่วระยะหนึ่ง จะออกได้อย่างถาวรหรือเบาบางได้นั้นต้องเกิดแต่ญาณและการปฏิบัติ(วิปัสสนา)ตามความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์อย่างถูกต้องเท่านั้น) แต่ต้องระวังในการกระทำอิริยาบทหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำเจอย่างต่อเนื่อง ที่มีรูปแบบค่อนข้างเฉพาะตัว เพราะจะทำให้เป็นสมาธิขึ้นได้ เนื่องจากไปยึดเอาอิริยาบถเป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดของจิตโดยไม่รู้ด้วยอวิชชา แล้วเมื่อไม่ดำเนินต่อไปในการวิปัสสนาอย่างจริงจัง ทำอยู่แต่ในอิริยาบถเป็นสำคัญ ก็จะกลายเป็นสมาธิอย่างขาดสติหรือมิจฉาสมาธิ อันเมื่อกระทำบ่อยๆเนื่องเพราะเกิดความสงบ ความสุข ความสบายใจที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องล่อจนกลายเป็นสังขารความเคยชินหรือสั่งสมในปฏิจจสมุปบาทแล้ว จักก่อทุกข์โทษภัยในภายหลังและแก้ไขได้ยาก

ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดวว่าเป็นทุกข์

ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ

๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมบังคับได้อย่างแท้จริง

๒. ทนได้ยาก หรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ตลอดไป

๓. จึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข ์เมื่อเกิดความดับสลายไปในที่สุด

๔. แย้งต่อสุข หรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข

ลักษณะหรืออาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งทั้งหลาย(สังขาร)ที่ไปอยากหรือไม่อยากอันคือตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยความพึงพอใจว่าเป็นของตัวตนด้วยกิเลส(อุปาทาน)ไว้ ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้ตัว(ไม่มีสติ) มีอาการทนอยู่ไม่ได้ด้วยอาการดับไปสูญไป ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา



๓. อนัตตา

ธรรม(สิ่ง)ทั้งหลายไม่ใช่ตัวใช่ตน อย่างเป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง หรือในความหมายเดียวกัน หมายถึง มีตัวตนแต่ไม่เป็นแก่นแกนหรือแก่นสารอย่างถาวรแท้จริง, จึงไร้คุณค่าให้ไปยึดติดยึดมั่น เพราะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะอย่างแปรปรวน แล้วต้องดับไปในที่สุด ตัวตนเป็นเพียงฆนะของการประชุมกันหรือรวมตัวกันของเหตุปัจจัยต่างๆในรูปของกระแสที่ไหลเลื่อนไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ) อันมีเหตุปัจจัยเกิดๆดับๆและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเหล่าเหตุปัจจัยเหล่านั้นตัวใดตัวหนึ่งมีอาการแปรปรวนหรือดับไปด้วยเหตุอันใดก็ดี ก็ย่อมส่งผลให้ความเป็นตัวตน ที่เป็นกลุ่มก้อนมายาตามสภาวะของสิ่งๆนั้น ก็ต้องแปรปรวนหรือดับไปตามเหตุปัจจัยที่แปรปรวนไม่เที่ยงนั้นด้วย อันเป็นการดำเนินไปตามหลักธรรมอิทัปปัจจยตา และเป็นจริงเช่นนี้ไปตลอดกาลนาน เพราะเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันยิ่งใหญ่ อันต้องเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา

ตัวตนหรือสังขารทั้งหลายจึงไม่ใช่เรา จึงไม่ใช่ของเรา เพราะล้วนขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยนั่นเอง หรือกล่าวได้ว่าตัวตนทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ว่าเป็นของเรา จึงไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง ดังจักแสดงในลำดับต่อไปในภายหน้า

เมื่อไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง จึงไปควบคุมบังคับบัญญชาอย่างแท้จริงให้เป็นไปตามปรารถนาตลอดไปไม่ได้ จึงเป็นทุกข์เมื่อไม่เป็นไปตามปรารถนาหรือความอยากขึ้นในที่สุด

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง จึงควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ดังเช่น กายหรือตัวตนของเรา จะไปควบคุมบังคับบัญญชาว่า เจ้าจงสวย เจ้าจงอย่าแก่ เจ้าจงอย่าเจ็บ เจ้าจงอย่าป่วย เจ้าจงอย่าตาย ฯ ก็ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา

อนัตตาถูกปิดบังด้วย ฆนะ-ความเป็นกลุ่มก้อน เป็นชิ้น เป็นมวล เป็นหน่วยรวม เป็นตัว เป็นตน ช่วยกันปิดบัง ซ่อนเร้นไว้ อนันตลักษณะหรือลักษณะของความไม่มีตัวไม่มีตน อย่างเป็นแก่นสาระแท้จริง จึงไม่ปรากฏให้เห็น(อนันตลักษณะ-ความไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสารเป็นเพียงการรวมตัวของเหตุปัจจัยที่มาประชุมกัน เมื่อเหตุปัจจัยนั้นดับ ตัวตนนั้นก็จักดับไปด้วย) ฆนะ กลุ่มก้อนตัวตนจึงเป็นมายาของเหตุปัจจัยที่ประชุมปรุงแต่งกัน ดังเช่น ก้อนหิน เมื่อแตกสลายเป็นฝุ่นหรือชิ้นเล็กๆ ความรู้สึกของเราจะไม่เห็นเป็นก้อนหินอีกแล้ว ใจอันถูกยึดไว้แล้วตามความเชื่อความรู้เข้าใจในก้อนหินนั้น ไม่ยอมรับว่าเป็นก้อนหินทั้งๆที่มาจากก้อนหินก้อนนั้นแท้ๆ แต่จะรู้สึกหรือเรียกว่า ฝุ่นบ้าง ทรายบ้าง ดินบ้าง ผงบ้าง เป็นต้น, ดังในพุทธธรรม ท่านได้แสดงตัวอย่างไว้ในเรื่องเสื้อในลักษณะดังนี้ว่า เมื่อเราเห็นเสื้อ เราก็รู้สึกว่าเป็นเสื้อ มองไม่เห็นลึกลงไปเห็นตามความเป็นจริงว่าผ้านั้นเกิดจากการมาปรุงแต่ง(สังขารอันเกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา) ต้องนำมาปรุงแต่ง ทั้งถัก ทั้งทอ ทั้งตัด ทั้งเย็บด้วยคน ให้เป็นเสื้อผ้าต่างๆขึ้นมา ถ้านำพิจารณาลงไปอีกก็จะเห็นว่า แม้แต่ผ้านั้นก็เกิดแต่เหตุปัจจัยอันเกิดแต่ฝ้าย มาปรุงแต่งเป็นเส้นด้าย มาประชุมปรุงแต่งรวมกันให้เป็นระเบียบด้วยมนุษย์(กรรม-การกระทำ) ดังนั้นเมื่อแยกด้ายออกจากกัน(ดับที่เหตุ) ความเป็นผ้า(ผล)นั้นก็ไม่มี ก็เพราะฆนะความเป็นกลุ่มก้อนมายาได้ถูกทําลายลงไป, หรือดั่งเราเห็นโต๊ะ เราแลเห็นแต่โต๊ะ เราไม่แลเห็นความเกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยต่างๆของโต๊ะ เช่น ไม้ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุต่างๆ ตะปูก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้เกิดโต๊ะ กาวก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของโต๊ะ แม้แต่กรรมการกระทำโดยเจตนาของมนุษย์นั่นเองก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของโต๊ะ เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้ประชุมเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดสิ่งที่เราเรียกโดยกันทางโลกสมมุติหรือสมมุติสัจจะนั้นว่าโต๊ะ แต่ถ้าเราแยกเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านั้นออกมา สภาพมายาความเป็นตัวตนของโต๊ะนั้นก็ไม่มีแสดงให้เห็นอีกต่อไป เหลือเพียงเศษไม้ เศษตะปูบ้างเท่านั้น เหล่านี้ก็เพราะฆนะ ความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นมายา ที่บดบังความเป็นอนัตตาอันเป็นธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา ทําให้ไม่เห็นได้อย่างถ่องแท้ในอนัตตลักษณะความไม่ใช่ของตัวไม่ใช่ของตนอย่างแท้จริง เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมรวมกันแค่ชั่วขณะระยะหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเป็นมายาไม่มีแก่นแกนอย่างถาวรอย่างแท้จริง

พระอนัตตาเป็นสิ่งที่ยากแก่การเข้าใจ เป็นธรรมที่ถกเถียงหรือเป็นที่วิจิกิจฉากันมาโดยตลอด แก่นของธรรมอยู่ที่ "ไม่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง" มิใช่อยู่ที่ความ มีตัวตน หรือ ไม่มีตัวตน

ลองพิจารณาในธรรมทั้ง ๒ ดังต่อไปนี้ อันจักแสดงอนัตตา ทั้งในสภาวะไม่มีตัวตน และสภาวะมีตัวตน ที่เกิดจากกลุ่มก้อนของเหตุปัจจัย

เงา ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วขณะหรือระยะหนึ่ง ของเหตุดังเช่น วัตถุทึบแสง,แสง,พื้นรับแสง กล่าวคือ วัตถุทึบแสงอันเป็นเหตุอย่างหนึ่ง มากั้นกางแสงไว้ จึงเกิดเป็นเงาตกลงบนพื้นรับแสง, เงานั้นก็ไม่มีในวัตถุทึบแสง เงานั้นก็ไม่มีอยู่ในแสง เงานั้นก็ไม่มีอยู่ในพื้นรับแสง แต่เมื่อมาเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดเงานั้นๆขึ้น เงาอันเป็นทั้งธรรมซึ่งครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง และย่อมเป็นธรรมชนิดสังขาร(สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น)อย่างหนึ่งเช่นกัน อันเกิดแต่เหตุดังที่กล่าว มาเป็นปัจจัยกัน อันยังให้เกิดสิ่งอื่นขึ้น จึงเป็นอนัตตา พิจารณาดูความไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริงให้จับให้ต้องได้ ล้วนเกิดแต่เหตุมาเป็นปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมาประชุมกันล้วนสิ้นเท่านั้น แต่จะบอกว่าไม่มีเงา ก็เห็นสิ่งๆนั้นอยู่ตำตาตำใจ แต่พอเหตุปัจจัยข้างต้นอันใดอันหนึ่ง เกิดการแปรปรวนหรือดับไปขึ้น ตัวเงาหรือผลที่เกิดปรากฏให้เห็นนั้น ก็ต้องแปรปรวน หรือดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเช่นกัน นั่นแหละสภาวะอนัตตาอย่างหนึ่ง ดังนั้น รูป สิ่งที่ถูกรู้โดยอายตนะเช่นความคิดหรือธรรมารมณ์, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, ธรรมะ, ตลอดจนจิต ก็เป็นไปในลักษณาการนี้ ไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนแท้จริง กล่าวคือ เมื่อเหตุปัจจัยครบองค์ ก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยใดเกิดอาการแปรปรวนหรือดับไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมต้องดับไปตามเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยเช่นกัน จึงทำให้เกิดสภาวะเกิดดับๆๆ..อันเกิดแต่เหตุปัจจัย เฉกเช่นเดียวดังเงา

แต่ถ้ากล่าวถึงเงาในแง่ที่เป็นธรรมหรือสภาวธรรมที่เป็นอสังขตธรรม อย่าสับสนที่แม้เงาดังที่กล่าวข้างต้น ที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆเป็นสังขารก็จริงอยู่ แต่เงานั้นก็เป็นธรรมชนิดอสังขตธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติด้วย กล่าวคือ สภาวะหรือสภาพที่เมื่อไรก็ตามที่มีเหตุ อันคือ มีวัตถุทึบแสง มากั้นกางแสงไว้ ก็ต้องเกิดเงาตกลงบนพื้นรับแสง เป็นจริงอย่างเที่ยงแท้และคงทนต่อทุกกาลอยู่เยี่ยงนี้เองเป็นธรรมดา แต่ก็ล้วนเป็นอนัตตาเพราะเป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือสภาวธรรมชาติล้วนๆที่ยังไม่ได้เกิดการปรุงเป็นสังขารเป็นเงาขึ้น จึงย่อมไม่มีตัวมีตน เมื่อไม่มีตัวมีตนแล้วจะไปควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างไร? ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง อนัตตาจึงเป็นธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติชนิดอสังขตธรรมที่ครอบคลุมในทุกสรรพสิ่ง จึงต่างจากอนิจจังและทุกขังที่ครอบคลุมเฉพาะสังขตธรรมที่หมายถึงสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งหลายทั้งปวง

คราวนี้ลองพิจารณาตัวตนของตนดู ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุต่างๆเช่นกัน คือ ธาตุ ๔ จะอ้างว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็เห็นๆกันอยู่ คนอื่นก็เห็น ตีลงไปก็เจ็บ ใครด่าว่าก็รู้สึก นั่งอ่านธรรมะอยู่ขณะนี้ นี่ละตัวตนใคร? ดังนั้นจะบอกว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็ไม่ได้ มีตัวมีตนนั้นมีอยู่ เพียงแต่ตัวตนนั้นไม่เป็นแก่นแกนถาวรแท้จริง หรือไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง เป็นกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ ไม่ใช่สิ่งสิ่งเดียวกันอย่างแท้จริง เกิดแต่การประกอบกันดังกล่าว จึงไม่ใช่เราหรือของเราอย่างแท้จริงเพราะขึ้นหรืออิงอยู่กับธาตุ ๔ จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างเต็มที่หรือเต็ม๑๐๐ จึงไม่คงที่คงทนเช่นนั้นได้ตลอดไป จึงต้องมีการแปรปรวน และการดับไป และเมื่อควบคุมไม่ได้ตามปรารถนาอย่างคงที่หรือตลอดไป จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวน,เจ็บป่วย) ในที่สุดต้องแตกดับไปไม่เหลือแก่นเหลือแกนหรือตัวตนให้เห็นอีกต่อไปอย่างแท้จริง จึงกล่าวว่าไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริงเช่นกันเหมือนดังสภาวะอนัตตาข้างต้น นี่ก็เป็นสภาวะอนัตตาอีกอย่างหนึ่ง, ดังอริยะเจ้าที่เข้าถึงพระนิพพาน(บุคคลผู้เข้าถึง + สภาวะธรรมของนิพพาน) หรือสภาพการเกิดปรากฎขึ้นของธรรมชาติ(ไม่ได้หมายถึงสภาวธรรมชาติ แต่หมายถึงการเกิดปรากฎขึ้นจริงๆคือเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นแล้ว - ตรงนี้ผู้เขียนขอสารภาพสื่อเป็นภาษาพูดได้ลำบากจริงๆ พยายามอ่านจับใจความให้ดี) ก็จัดอยู่ในสภาวะอนัตตานี้เช่นกัน ดังเช่นฝน สภาวธรรมชาติของฝนนั้นมีเป็นจริงเช่นนี้อย่างจริงแท้แน่นอนเช่นสภาวธรรมของเงา แต่เป็นสภาวธรรมจึงไม่มีตัวไม่มีตน ยังไม่ปรากฎเป็นตัวเป็นตนเป็นเม็ดฝนตกลงมา แต่เวลาเกิดฝนแล้วตกลงมาจริงๆ(สังขาร)ตามที่เราเห็นๆกันอยู่นั้นหรือการเกิดตัวตนขึ้นตามสภาวธรรมนั่นเอง ก็ล้วนต้องเกิดแต่เหตุปัจจัย สังขารที่ตกแล้วนั้น ก็ยังต้องหยุดดับไป อย่างไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง อันหมายถึง ถ้าพูดถึงสภาวธรรมของฝนก็จะเป็นอย่างสภาวธรรมชาติที่ไม่มีตัวไม่มีตนดังข้างต้น แต่ถ้าหมายถึงฝนที่ตกลงมาให้เห็น(สังขาร)ให้สัมผัสให้ใช้ให้ดื่ม ก็จะเป็นไปในลักษณะมีตัวมีตน แต่ก็ไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง ในที่สุดก็ต้องหยุดตก(ดับ)ไปตามเหตุปัจจัย ต้องโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นสภาวะที่สื่อเป็นคำพูดได้ยากยิ่ง ต้องให้บังเกิดขึ้นที่ใจหรือปัจจัตตังอันเมื่อเข้าใจแล้วควรเกิดนิพพิทาญาณ ดังนั้นการจักกล่าวว่ามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน จึงเป็นเรื่องอยู่ที่ว่ามองในมุมมองเยี่ยงไรเท่านั้นเอง แต่ก็เรียกกันโดยรวมๆได้ว่าไม่มีตัวตน แต่ก็ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ไปยึดความไม่มีตัวไม่มีตน จนไม่เห็นธรรม เอะอะอะไรก็อ้างไม่มีตัวไม่มีตนตนโดยไม่เห็นไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แก่นของพระอนัตตาจึงอยู่ที่ความไม่เป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง ตัวอย่างในสภาวะนี้ ก็เช่น รูปที่หมายถึงกาย ตัวตนของท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ มีตัวตนอยู่ณ.ขณะนี้ แต่ไม่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง เพราะไม่คงที่ ไม่คงทน ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง แล้วต้องดับเป็นที่สุด ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันขณะระยะหนึ่ง อันเมื่อเหตุปัจจัยใดมีอาการแปรไป ตัวตนของตนก็แปรปรวน และดับสูญหรือตายไปเป็นที่สุด

อนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่ของตัวของตน เพราะตัวตนที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามที เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของเหตุที่มาประชุมเป็นปัจจัยกันเท่านั้น แท้จริงแล้วจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัย จึงไม่ใช่ตนหรือของตนที่มีความหมายว่า ไม่ใช่เราหรือของเรา อย่างแท้จริง, แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ปุถุชนถูกมายาพากันนึกไปเองว่าเป็นเราหรือของเรา ความจริงจึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กล่าวคือ นั่นก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่นั่น นั่นก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา อย่างแท้จริง เพราะล้วนเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุ ดังกล่าวเช่นกัน

อนัตตา ไม่มีตัวมีตน อย่างแท้จริง เพราะสังขารทั้งหลายหรือตัวตนที่เห็น หรือแม้แต่ผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามทีนั้น เป็นเพียงมายาของกลุ่มหรือก้อนของเหตุปัจจัยนั่นเอง แท้จริงตัวตนที่เห็นคือการประกอบกันอยู่ของเหตุ ไม่ใช่ตัวตนสิ่งๆเดียวอย่างแท้จริง จึงไม่มีตัวตนอย่างแท้จริง ฝ่ายอสังขตธรรมนั้นย่อมไม่มีตัวตนอยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงสภาวธรรม ที่ยังไม่ได้เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่ง จนเป็นสังขารหรือตัวตนนั้นๆขึ้น



อนัตตลักษณะ - ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา

ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ

๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ, แต่ความจริงอย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว

เป็นของสูญ ในแง่ของอสังขตธรรม ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมที่ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการที่เหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยกันขึ้น

๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้

๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง เพราะสภาวะของสังขารเองก็มีแรงแต่ภายในหรือแม้แต่ภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุดโดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง แต่เพราะมีการควบคุมบังคับบ้างบางส่วนได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันว่า สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา

๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็นสังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ

๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา

ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงจึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่ไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหาหรือไปยึดมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)ว่าเป็นของตัวตน ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(สติ)เหล่านั้น ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา

พระอนัตตา จักเข้าใจในสภาวะธรรมได้กระจ่าง สว่างขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อพิจารณาโดยการโยนิโสมนสิการ ร่วมกับ ความเป็นเหตุปัจจัย, อนิจจัง, ทุกขัง

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงทนอยู่ไม่ได้จึงดับไป สังขารทั้งปวงล้วนอนัตตาไม่มีตัวตน อย่างแท้จริง

อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนเที่ยง อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนอกาลิโกจึงทนต่อทุกกาลเวลา อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนอนัตตาไม่มีตัวตน แท้จริงเช่นสังขาร



(ถ้ายังสงสัยในคำกล่าวนี้ ขอให้โยนิโสมนสิการโดยแยบคายเพิ่มเติม ในบท อนัตตา)



จำแนกแตกธรรม อนัตตา โดยละเอียด อย่างถึงที่สุด



แสดงพระไตรลักษณ์ของสังขารร่างกาย

สังขารทั้งหลายทั้งปวง ที่หมายถึง สิ่งปรุงแต่งหรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น จึงล้วนมีสภาวธรรมดังนี้ ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบันธรรม ๑ จึงมีสามัญญลักษณะประจำตัวที่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งอยู่อย่างไม่เที่ยงมีอาการแปรปรวนไปมา(อนิจจัง) ๑ จนดับไปเป็นที่สุด(ทุกขัง) ๑ จึงล้วนเป็นเหตุให้ไม่มีตัวตนอย่างถาวรหรือไม่มีตัวเป็นแก่นแท้จริง(อนัตตา) ๑

ด้วยสามัญญลักษณะหรือลักษณะโดยทั่วไปของสังขาร ดังนี้นี่เอง จึงก่อให้เกิดทุกข์ แก่ผู้ที่ไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดไว้ด้วยอุปาทาน ก็ล้วนเนื่องมาจากความไม่เที่ยง ความทนอยู่ไม่ได้ และการที่ไม่มีมีตัวตน แท้จริง จึงย่อมไม่ใช่ของตัวของตน อย่างแท้จริงเช่นกัน จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน

ปุถุชนพากันยึดในตัวในตนหรือยึดในสังขาร หรือยึดในความพึงพอใจของตัวของตนเราเองโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่เห็น,ไม่รู้แจ้งแทงตลอดเข้าถึงใจ และไม่รำลึกถึง ว่าตัวตนแห่งเราก็แค่ประกอบแต่เหตุปัจจัยอันมี รูป+นาม หรือกาย+จิต หรือขันธ์ทั้ง๕(แล้วแต่จะพิจารณาในมุมมองใด) ตัวตนก็คือสังขารอันเกิดแต่สภาวธรรม ที่ขันธ์ทั้ง๕ อันเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน มาอยู่ร่วมกันและทํางานประสานสอดคล้องกันแค่ชั่วขณะระยะหนึ่ง(ชีวิตหนึ่ง) และอย่างมีการแปรปรวน เป็นไปเพื่ออาพาธ เจ็บป่วย เสื่อม อยู่ตลอดเวลาเสียด้วย และต้องดับไปเป็นที่สุด

รูปหรือกาย ก็เป็นสังขาร(สิ่งปรุงแต่งอันเกิดแต่ปัจจัยต่างๆ - ในภาษาเราบางทีก็หมายถึงร่างกาย) เมื่อแยกลงไปล้วนเกิดมาแต่เหตุหรือสิ่งคือ ธาตุ ทั้ง ๔ อันมี ดิน, นํ้า, ลม, ไฟ หรือมหาภูต ๔ ซึ่งมาประชุมเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างผสมกลมกลืนตามธรรมหรือธรรมชาติ ตลอดจนต้องทํางานประสานสัมพันธ์ร่วมกับจิต

นามหรือจิต ก็เป็นสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)เพราะประกอบด้วย เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ อันต้องทํางานประสานเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างกลมกลืนสอดคล้องตามธรรมชาติเช่นกัน ตลอดจนต้องยังต้องทํางานประสานสัมพันธ์กันกับกาย ตราบเท่าที่ยังมีขันธ์ ๕ ในการดำเนินชีวิตอยู่

รายละเอียดของรูปและนาม หรือกายและจิต

รูป หรือรูปขันธ์ หรือกองร่างกาย เกิดจากเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔ อันมี ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุลม และธาตุไฟ

มีพุทธพจน์ตรัสไว้เรื่องธาตุ ดังนี้ "ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง" (อุปาทสูตร ๒๐/๕๗๖), สิ่งที่ทรงสภาวะของมันอยู่เองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย.

ธาตุดิน จึงหมายถึง สิ่งที่ทรงสภาพเป็นของแข้น,แข็งโดยธรรมชาติของมันนั่นเอง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า; อย่างนี้เป็นการกล่าวถึงธาตุดินหรือปฐวีธาตุมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่คนทุกคนจะเข้าใจได้ ก็เพื่อนำไปสำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐานได้, หรือจะพิจารณาไปดังนี้ ก็เพื่อประโยชน์ไปในการเจริญกรรมฐานเช่นเดียวกันว่า ธาตุดินหรือปฐวีธาตุ คือ ธาตุต่างๆทุกชนิดอันล้วนแข้นแข็ง และย่อมล้วนมีอยู่ในดิน จึงเรียกรวมๆกันทั้งสิ้นว่าธาตุดิน เช่น คาบอนร์-C, ไฮโดรเจน-H , อ๊อกซิเจน-O, เหล็ก-Fe, ไนโตรเจน-N , แคลเซี่ยม-Ca, สังกะสี- Zn....ฯลฯ. หรือก็คือ ๑๐๘ ธาตุ ที่ค้นพบ,บรรลุถึงในวิทยาการปัจจุบันนั่นเอง อันล้วนแล้วแต่มีอยู่ในดิน,แฝงอยู่ในดินในรูปแบบต่างๆทั้งสิ้นทั้งปวง และธาตุต่างๆเหล่านี้ก็ยังมีการรวมตัวกันอยู่ในรูปของสารประกอบต่างๆทุกชนิดอีกด้วย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรทหรือแป้ง กระดูก ไขมัน...ฯลฯ. ดังนั้นของแข้นแข็งและสารประกอบต่างๆ จึงล้วนเกิดมาจากธาตุดินเป็นปัจจัยกันทั้งสิ้น จึงมีธาตุดินอยู่ในทุกอณูหรือก็คือทุกเซลของรูปขันธ์หรือร่างกายนั่นเอง เช่น ในเนี้อเยื่อ, อวัยวะต่างๆทุกชนิด, โปรตีน, ผม, สมอง, ตับ,ม้าม, ผิวหนัง, เลือด, นํ้าเหลือง...ฯลฯ. กล่าวคือทุกๆส่วนที่เป็นของข้นแข็งของร่างกาย, เริ่มแรกสุดของชีวิตนั้น ธาตุดินนั้นก็ย่อมได้มาจากบิดามารดาที่เป็นแดนเกิดนั่นเอง คือแรกสุดได้ธาตุดินในไข่ของมารดา และธาตุดินอีกส่วนหนึ่งจากคันธัพพะ(สเปิร์ม)ของฝ่ายบิดา อันล้วนแต่มีธาตุดินประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน (ฝ่ายบิดามารดา ท่านก็ได้บรรดาธาตุดินต่างๆจากบรรพบุรุษ และธาตุดินจากเหล่าอาหารที่ท่านต้องเติมและถ่ายอยู่เป็นประจำตราบเท่าที่ยังดำรงขันธ์อยู่) เมื่อถือกําเนิดเกิดขึ้นมา ก็กินพืชเป็นอาหาร ซึ่งพืชก็ย่อมให้ธาตุดินแก่ผู้บริโภค ซึ่งพืชเองก็ได้ธาตุดินหรือแร่ธาตุอาหารต่างๆจากดินที่มันอาศัยงอกงามอยู่นั่นเอง, หรือจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งบ่วงโซ่อาหารสุดท้ายในสัตว์ทุกชนิดเมื่อไล่ลำดับลงมาแล้ว ก็ต้องลงมาที่พืชล้วนสิ้น ดังเช่น เสือกินวัว วัวกินพืช พืชก็อาศัยหรือกินธาตุดินเป็นที่สุด ดังนั้นในที่สุดบ่วงโซ่สุดท้ายของวงจรอาหารก็ล้วนต้องมาจากธาตุดินเป็นที่สุดนั่นเอง, ดังนั้นจักเห็นได้ด้วยปัญญาว่า กายหรือตัวตนทุกๆส่วน กล่าวคือทุกๆเซล ทุกๆส่วนประกอบ ล้วนประกอบด้วยธาตุดินอันคือใน๑๐๘ล้วนสิ้นไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่อณูเซลเดียว และยังแปรปรวนต้องการแร่ธาตุต่างๆหรือธาตุดินอยู่ทุกๆขณะผ่านทางอาหารที่จำเป็นต้องกินต้องถ่ายวันละหลายๆครั้งอยู่ทุกๆวัน ซึ่งเมื่อเป็นเหตุปัจจัยกับธาตุนํ้าและเหตุอื่นๆอีกเช่นธาตุลม จึงเป็นปัจจัยให้เกิด การย่อยสันดาปเกิดธาตุไฟขึ้น ย่อมได้สารประกอบของธาตุต่างๆที่ให้พลังงาน และสารประกอบต่างๆอันต่างล้วนประกอบมาแต่ธาตุดินตามที่ร่างกายต้องการ และส่งไปทั่วทุกอณูเซล, ดังนั้นเมื่อกําจัดฆนะความเป็นกลุ่มก้อนมายาที่เห็นคือกายหรือตัวตนออกไปด้วยปัญญาญาณ อันจักทำให้เราน้อมยอมรับเข้าใจได้ว่า ตัวรูปหรือกายเรานั้นส่วนหนึ่งประกอบด้วยธาตุดิน หรือธาตุต่างๆซึ่งมีรวมในธาตุดินนั่นเอง คือมีธาตุดินเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของกายอันสําคัญยิ่ง อันดําเนินไปตามกระบวนธรรมต่างๆโดยคร่าวๆดังนี้

อาหารอันประกอบมาแต่ธาตุดิน ทาน ย่อย เป็นธาตุต่างๆ, สารประกอบจากธาตุต่างๆ อันถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เพื่อนําส่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกายทุกอณูเซล มากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุปัจจัย

สังเกตุธาตุดินเหล่านี้ว่า ทุกท่านต้องเติม และขับถ่ายอยู่ทุกวัน มีการเสื่อมสลายหรือแปรปรวนไปในรูปแบบต่างๆ มีความไม่เที่ยงแปรปรวนแม้แต่ในตัวของธาตุดินเอง และด้วยเหตุที่ธาตุดินเองก็ยังไม่เที่ยง แล้วกายหรือตัวตนของเราอันเป็นผลจักเที่ยงได้อย่างไร! ธาตุดินที่ทานลงไปก็แปรปรวนไปภายในตัวเองเช่นกันแม้แต่เมื่อขับถ่ายออกมาก็เป็นธาตุดินอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้น แปรปรวน และดับไปภายในตัวของธาตุดินเองอีกด้วยเช่นกัน

ธาตุนํ้า ตัวตนก็ประกอบไปด้วยธาตุนํ้าที่มาจากการดื่มและในอาหารที่กินอยู่ทุกๆวัน แม้ในขณะเป็นทารกก็ได้ธาตุนํ้าจากนํ้านม อีกส่วนหนึ่งของนํ้านมนั้นก็ให้ธาตุดินเช่นกัน ธาตุนํ้าหรือสิ่งที่ทรงสภาพเอิบอาบดูดซึมหรือธาตุเหลว กล่าวคือส่วนของเหลวต่างๆในร่างกาย รวมทั้งในเซลทุกๆเซล และในระบบร่างกายทุกๆส่วน เลือด นํ้าเหลือง นํ้ามูก นํ้าย่อย นํ้าดี....และทุกอวัยวะน้อยใหญ่ ฯลฯ. ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ เป็นเหตุปัจจัยที่ต้องนําเติมมาจากการดื่มการกิน เติมเข้า ถ่ายออก อยู่เยี่ยงนี้ตราบที่ขันธ์ทั้ง๕ยังดำเนินอยู่ ถ้าเราโยนิโสมนสิการก็จักน้อมยอมรับได้ด้วยปัญญาญาณว่า กายนั้นเป็นมีนํ้าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งอีกสิ่งหนึ่ง หรือมีนํ้านั้นเป็นเหตุปัจจัยอันสำคัญยิ่งของกาย อันดําเนินเป็นไปตามกระบวนธรรมดังนี้

นํ้า ดื่มหรือกิน ดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เพื่อนําส่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกายทุกเซล มากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุปัจจัย

ธาตุนํ้าที่ทานลงไปก็แปรปรวนไปภายในตัวเองเช่นกันเมื่อขับถ่ายออกมาก็เป็นธาตุนํ้าอีกชนิดหนึ่งที่ถูปรุงแต่งขึ้นอีก เกิดขึ้น แปรปรวน และดับไปภายในตัวของธาตุนํ้าเองอีกด้วยเช่นกัน ดื่มนํ้าเข้าไป แปรปรวน เปลี่ยนแปลง ดับไป เกิดเป็นแอมโมเนียบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

ธาตุลม เราได้จากการหายใจอยู่ทุกๆขณะ เป็นปัจจัยที่จําเป็นในการคงชีวิตเหมือนธาตุอื่นๆ และบางส่วนจากส่วนเกินของขบวนการย่อยสันดาปของอาหารเช่นลมในท้องจากการย่อยสันดาปอาหาร ฯลฯ., ธาตุลมมีอยู่ในทุกอณูเซลของร่างกายเช่นกัน โดยการนําพาออกซิเจนหรือลมที่อยู่ในปอดโดยกระแสโลหิต อันจําเป็นอย่างยิ่งในการดํารงชีวิตและการยังชีวิตของทุกๆเซลที่มีชีวิตในร่างกาย ถ้าเราโยนิโสมนสิการ เราจักยอมรับได้ว่า ตัวกายเรานั้นส่วนหนึ่งประกอบด้วยธาตุลม หรือลมนั้นเป็นเหตุปัจจัยของกายอันสําคัญยิ่งเช่นกัน

ลม หายใจ ปอด ดูดซึมออกซิเจนเข้าสู่กระแสโลหิต เพื่อนําส่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกายทุกเซล มากบ้างน้อยบ้าง.

ธาตุลมที่หายใจเข้าไป ก็แสดงอาการแปรปรวน เปลี่ยนแปลงแสดงความไม่เที่ยง จากธาตุอ็อกซิเจน แปรปรวน และปรุงแต่งเป็นธาตุลมอีกชนิดหนึ่ง คือเกิดเป็นธาตุคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

ธาตุไฟ เราได้ความร้อนหรือธาตุไฟมาจากธาตุดินและธาตุนํ้าที่ต้องหมั่นเติมอยู่ตลอดเวลา และเมื่อรวมกับธาตุลมที่เราหายใจอยู่ทุกขณะจิต ตลอดจนเหตุปัจจัยอื่นๆอีก จึงทําให้เกิดกระบวนการย่อยสันดาป(Oxidation)เกิดเป็นพลังงานและความร้อนต่างๆขึ้นภายในกายในการดํารงชีพเป็นปกติ อันล้วนแล้วเกิดจากการย่อยสลายแปรปรวนและผสมผสานของปัจจัยต่างๆเพื่อการสันดาปให้เกิดพลังงานในรูปสารประกอบชีวะเคมี อันนําส่งไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายทุกอณูเซล อันยังให้เกิดความร้อนและพลังงานอันคือธาตุไฟนั่นเอง ตลอดจนความร้อนอันเกิดแต่เหตุปัจจัยภายนอกเช่น พระอาทิตย์ จากไฟ อันทําให้เกิดความอบอุ่นในการยังชีวิต ฯลฯ. ถ้าเราโยนิโสมนสิการ เราจักยอมรับได้ด้วยปัญญาญาณว่า ตัวกายเรานั้นส่วนหนึ่งประกอบด้วยธาตุไฟ หรือไฟนั้นเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งอันยังให้เกิดกายนั่นเอง อันดําเนินไปตามกระบวนธรรมดังนี้

อาหาร ทาน ย่อย เกิดการสันดาปของธาตุดินนํ้าลมเป็นสารประกอบชนิดให้พลังงานอันล้วนเกิดแต่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน ดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เพื่อนําส่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกายทุกเซล มากบ้างน้อยบ้าง.

ธาตุไฟอันอยู่ในรูปของสารประกอบที่ให้พลังงานออกมา ก็ยังคงมีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปต่างๆนาๆเช่นเดียวกัน ในรูปของเสียที่คงเหลือจากการใช้ต่างๆ

ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบกันเป็นรูปกายหรือตัวตนนั้น ถ้าพิจารณากันอย่างวิทยาศาสตร์ก็กล่าวได้ว่าคือสารประกอบอย่างหนึ่งของธาตุ ๔ นั่นเอง, ตัวธาตุอันเป็นเหตุของรูปที่มาเป็นปัจจัยกันก็ยังล้วนมีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวน ทุกขังทนอยู่ด้วยยากหรือคงทนอยู่ไม่ได้นั่นเอง และเป็นอนัตตาในที่สุด กล่าวคือ แม้ธาตุดินหนึ่งๆเข้าไปในกายแล้วก็ล้วนแปรปรวนไปเป็นธาตุดินอื่นๆ คงทนอยู่ไม่ได้ขับถ่าย และหลุดล่วงเสื่อมดับไป ไม่คงสภาพของธาตุดินต้นกำเนิดแต่อย่างใด ส่วนนํ้านั้นเล่า เมื่อเข้าไปสู่กายก็ยังเป็นนํ้าดีๆอยู่ แต่ก็ต้องแปรปวนไม่เที่ยงไปเป็นนํ้าต่างๆในร่างกาย เป็นของเสียยูเรียบ้าง นํ้ามูก นํ้าเลือด นํ้าหนอง ต่างๆนาๆ ไม่คงรูปของธาตุนํ้าเดิมๆอีกต่อไป และคงทนอยู่ไม่ได้ถูกขับออกมาตลอดเวลา เป็นอนัตตาในที่สุด ส่วนธาตุลมเล่า เมื่อเข้าไปก็แปรปรวนจาก O2 เป็น CO2 เสียด้วยความไม่เที่ยง และคงทนอยู่ยากต้องหายใจออกมา แสดงอนัตตาในลักษณาการเดียวกัน ส่วนธาตุไฟเล่า ก็ไม่คงที่คงทน เมื่อธาตุใดแปรปรวนก็ร้อนเกินปกติบ้าง ร้อนน้อยกว่าปกติบ้าง ต้องวิ่งหาหมอกันให้วุ่นว่าย แล้วก็ดับๆเกิดๆทดแทนกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดก็ดับไปอย่างถาวร ก็เป็นอนัตตา

เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว อาศัยสมถกรรมฐานให้ใจสงบไม่ซัดส่าย แล้วเจริญวิปัสสนาให้เห็นได้ด้วยปัญญาตนได้ว่า ตัวตนหรือรูปขันธ์หรือสังขารร่างกายทั้งปวงนั้น ความจริงแล้วในแต่ละอณูเซล(Cell)ล้วนประกอบด้วยธาตุ ๔ ล้วนสิ้น แล้วมาประชุมเป็นมวลรวมหรือกลุ่มก้อนของอวัยวะน้อยใหญ่ ฯลฯ. ในลักษณาการที่แสดงด้วยภาพด้านล่างนี้ จนเป็นตัวตนเป็นกลุ่มก้อนที่แลดู เป็นหนึ่ง เป็นบุคคลเดียวกันในชั่วขณะระยะหนึ่ง ยังเกิดช่องว่างต่างๆของอวัยวะน้อยใหญ่ (อากาสธาตุ) และเชื่อมโยงกันโดยวิญญาณธาตุอันคือระบบประสาทต่างๆนั่นเอง จึงเป็นเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็นชิ้นเป็นมวลเป็นตัวตนหรือบุคคลเดียว แต่แท้ที่จริงกลับประกอบขึ้นแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยต่างๆกัน มิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง อันในที่สุดย่อมต้องแปรปรวน(อนิจจัง) คงทนอยู่ไม่ได้(ทุกขัง) ย่อยยับแตกดับ กลับคืนสู่สภาพเดิมๆคือสูญล้วนสิ้น เป็นที่สุด กล่าวคือ สภาวะของสมมติสัจจะต้องดับไป แล้วแสดงสภาวะของพระอนัตตา ที่ไม่มีตัวตนอย่างเป็นแก่นแกนถาวรแท้จริงหรือสูญอันเป็นปรมัตถสัจจะ



ดินน้ำลมไฟ

ดินลมไฟน้ำ


ไฟดินน้ำลม

ดินน้ำลมไฟ






ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ไฟดินน้ำลม

ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ไฟดินน้ำลม

น้ำดินลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ






ไฟดินน้ำลม

ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ไฟดินน้ำลม


ดินน้ำลมไฟ

ดินลมไฟน้ำ

ดินน้ำลมไฟ

ไฟดินน้ำลม


ดินน้ำลมไฟ

ดินน้ำลมไฟ

ไฟดินน้ำลม

ดินน้ำลมไฟ


ดินลมไฟน้ำ

ไฟดินน้ำลม

ดินลมไฟน้ำ

ไฟดินน้ำลม






ไฟดินน้ำลม

น้ำดินลมไฟ


ดินลมไฟน้ำ

ไฟดินน้ำลม


ไฟดินน้ำลม

น้ำดินลมไฟ


ดินน้ำลมไฟ

ดินลมไฟน้ำ


น้ำดินลมไฟ

ไฟดินน้ำลม




แสดงรูปขันธ์หรือกาย ที่เกิดแต่ธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกันในแต่ละอณูเซล

แล้วแต่ละอณูยังปรุงแต่งมายารวมกันเป็นกลุ่มก้อนตัวตน

ตัวตนที่เห็นหรือผัสสะแท้จริง จึงเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุคือธาตุทั้ง ๔ ที่มาประชุมกัน

ขยายรายละเอียดของแต่ละอณู(เซล)ที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ แล้วมาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเป็นอวัยวะต่างๆ ฯลฯ.



แล้วปรุงแต่งจนเป็นตัวเป็นตนที่หมายถึงรูปขันธ์ขึ้นในที่สุด แต่ก็ชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ถ้าไม่สามารถพิจารณาเห็นเข้าใจได้ดังนี้ ก็อาจใช้วิธีน้อมนึกพิจารณาว่า ดุจดั่งมีดินนํ้ามันอยู่ ๔ ก้อน แต่ละก้อนล้วนคนละสี แล้วนำมาบดขยี้ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมกลืน แต่ละสีก็อุปมาดั่งธาตุแต่ละธาตุ เมื่อนำมารวมกันอย่างกลมกลืนดียิ่งแล้ว ก็จะได้ดินนํ้ามันในรูปแบบเฉดสีอีกอย่างหนึ่งแตกต่างกันไป อุปมาได้ดั่งกายเราในบัดนี้นั่นเอง ที่มีธาตุทั้ง ๔ รวมกันอย่างแลดูว่า กลมกลืนดุจดั่งดินนํ้ามันก้อนเดียวกันทีเดียว มิได้แลดูแยกกันอยู่เป็นส่วนๆ แต่ถึงกระไรก็ตามล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยอันคือดินนํ้ามัน ๔ สี ๔ ก้อนนั้น อันมีกรรม(การกระทำ)ของเราที่บดขยี้เป็นเครื่องปรุงแต่ง ดุจดั่งชีวิตก็เป็นเฉกเช่นกัน



แสดงการพิจารณาธาตุ ๔ แบบ กายคตาสติสูตร

ธาตุ ๔ หรือมหาภูต

เห็นได้ว่า หรือน้อมเข้าใจเพื่อการเจริญวิปัสสนาได้ว่ารูปหรือกายนี้ล้วนเกิดแต่ "เหตุปัจจัย"โดยปัญญาญาณ, อันเกิดมาจากการประชุมรวมกันชั่วระยะหนึ่งของธาตุทั้ง ๔ เป็นรูปร่างกลุ่มก้อนมายาขึ้น ความจริงยิ่งแล้วจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุคือธาตุทั้ง ๔ ตามหลักอิทัปปัจจยตา จึงไม่ใช่เราหรือของเราอย่างแท้จริง และธาตุทั้ง๔ นั้นต่างก็ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวน และดับไปอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ และด้วยเหตุปัจจัยปรุงแต่งอันสําคัญอีกเช่นกันอันคือนามหรือจิต (อันก่อให้เกิดกรรมอันคือการกระทําที่มีเจตนา อันทําให้ชีวิตเป็นไปตามกรรมคือการกระทํานั้นนั่นเอง), และธาตุทั้ง ๔ หรือมหาภูตรูปก็เป็นเหตุปัจจัยยังให้เกิดอุปาทายรูป ๒๔ หรือที่กันเรียกว่ารูปอาศัย กล่าวคือ รูป ที่อาศัยเกิดสืบเนื่องต่อจากมหาภูตูรูป เป็นอายตนะต่างๆ เพศ สวยงาม ฯลฯ. ดังนั้นเมื่อฝ่ายรูปรวมกับฝ่ายนามหรือจิต ก็เกิดเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น กล่าวคือ เมื่อครบขันธ์ทั้ง ๕

อันเมื่อรู้ด้วยสัมมาญาณแล้ว ยังต้องหมั่นพิจารณาเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติว่า กายเป็นเพียงสักแต่ธาตุ ๔ หรือสรีระยนต์อันเป็นคำที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีใช้อุปมาถึง กาย หมายถึงเป็นเพียงสักแต่ว่าเครื่องจักร เครื่องยนต์ หรือหุ่นยนต์อย่างหนึ่งใช้ทำการงาน อันล้วนเกิดมาแต่ธาตุ ๔ เท่านั้น, อันเมื่อเกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวกัน จึงย่อมต้องไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อให้เกิดนิพพิทาความหน่าย จึงคลายกําหนัด คลายความยินดี ความชื่นชม ความยึด ความอยาก หรือดับตัณหา ในกายแห่งตน ตลอดจนในสังขารต่างๆ พิจารณาทั้งเมื่อถอนออกจากสมาธิ เมื่อถอนออกจากจิตสงบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจําวัน ว่าเพราะล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนั้นสังขารร่างกายและสังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นไปดังนี้

ตัวกู ยังไม่ใช่ ของกู แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็น ของกู หรือ ดังใจกู ได้อย่างไร

ตัวกู ยังสักแต่ว่าเหตุปัจจัยของ ธาตุ๔, แม้แต่ชีวิต ของกู ยังสักแต่ว่าเหตุปัจจัยของ ขันธ์๕

ทั้ง ตัวกู ชีวิตกู ยังเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันเท่านั้นเอง

เพราะถ้า ตัวกู เป็น ของกู แล้วไซร้ จะต้องควบคุมบังคับบัญชาได้ดังใจปรารถนา

ไม่ใช่การควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ดังเช่นปวงสังขารทั้งปวง

ต้องเป็นไปดังใจ จึงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธเจ็บป่วยแก่ตาย

แต่เพราะ ตัวกู ไม่ใช่ ของกู อย่างแท้จริง

จึงควบคุมไม่ได้ดังใจปรารถนา

ล้วนเป็นไปตาม เหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง

เพียงแต่บางครั้ง เมื่อเป็นไปตาม เหตุปัจจัย อันปรุงแต่งขึ้น

แต่ไปตรงตามใจปรารถนาเข้า จึงเกิดมายาจิต

ไป หลงคิดหลงยึด ว่าเป็น ตัวกู ของกู

หรือไปหลงคิดว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาดลบันดาลให้เกิดขึ้น

จึงเป็นทุกข์เป็นร้อนกันไปทั่วทุกโลกธาตุ

ด้วยไฟแห่ง อุปาทานทุกข์

(พนมพร คูภิรมย์)

ตัวกูไม่ใช่ของกู นี้ นอกจากความ เกิด แก่ เจ็บตาย พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ประสบสิ่งที่ไม่รัก ปรารถนาสิ่งอันใดไม่ได้ในสิ่งอันนั้นแล้ว หรือก็คือทุกขอริยสัจ, ลองพิจารณาดูว่า เมื่อมีสิ่งใดมากระทบกับอายตนะภายในนั้นๆ วิญญาณของอายตนะภายในนั้น ย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเขา(อ่านขันธ์ ๕) จะไปควบคุมบังคับก็ไม่ได้ว่า วิญญาณเอ๋ย เจ้าจงอย่าเกิดเลย เจ้าจงดับไปเถิด หรือเจ้าจงเกิดขึ้นเถิด เจ้าจงอย่าได้ดับไป ย่อมไม่ได้ดังปรารถนา และยังต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยต่อเนื่องไปอีก กล่าวคือ และเมื่อครบองค์ของการผัสสะแล้ว ย่อมเกิดเวทนาเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆบ้าง อย่างหนึ่งอย่างใด แล้วบังคับบัญชาในเวทนาก็ไม่ได้ว่า เวทนาเอ๋ย เจ้าจงอย่าเกิดเลย เจ้าจงดับไปเถิด หรือเจ้าจงเกิดขึ้นแต่สุขหรือสุขเวทนาเถิด เจ้าจงอย่าได้เกิดทุกข์หรือทุกขเวทนาขึ้นเลย แต่กลับต้องดำเนินไปตามเหตุปัจจัย กล่าวคือ ดำเนินไปตามกระบวนธรรมของชีวิตหรือขันธ์ ๕ หรือดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอันเกิดทุกข์

ส่วนฝ่าย นาม หรือ จิต แม้เป็นนามธรรมนั้น ก็ล้วนเป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อันประกอบด้วยขันธ์ต่างๆ ๔ ขันธ์ อันมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เวทนา เป็นเพียง การเสวยอารมณ์ หรือ ความรู้สึก(Feeling), ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้อารมณ์(สิ่งที่กระทบสัมผัสเช่นรูป,เสียง ฯ.)ที่มากระทบสัมผัสหรือเกิดการผัสสะ เป็น สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, หรือเฉยๆ เป็นแค่กระบวนการของการรับรู้ในอารมณ์ที่มากระทบอันย่อมพรั่งพร้อมด้วยสัญญาความจําได้ความหมายรู้ในอารมณ์หรือสิ่งที่กำหนดหรือกระทบนั้นๆ อันเป็นกระบวนธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดาหรือตถตา ยังไม่ใช่ สุขหรือทุกข์ในมุมมองของพุทธศาสนาที่ย่อมหมายถึงอุปาทานทุกข์ แต่ก็เป็นธรรมหรือสิ่งที่สําคัญยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะมักไปสับสนจนเกิดมายาสับสนกับเหล่าอุปาทานทุกข์คือความทุกข์ความสุขจริงๆที่เกิดแก่ใจเพราะความที่ไปยึดไปอยากด้วยตัณหาอุปาทานในเวทนานั้น เมื่อไม่เข้าใจจึงทําให้การปฏิบัติไม่ได้ผลเพราะพยายามไปดับกระบวนการธรรมชาติในการดำรงชีวิต จึงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ(ความเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติ)ไม่รู้จักจบสิ้น ความสําคัญนี้พระพุทธองค์จึงได้บัญญัติเวทนานุปัสสนาในสติปัฏฐาน๔ ให้เห็นเวทนาในเวทนา, หรือการมีสติรู้เท่าทัน(อันหมายรวมถึงความเข้าใจ)เวทนาหรือการรับรู้อารมณ์(สิ่งที่มากระทบนั่นเองอันมีสัญญาความจําเกี่ยวข้องด้วย) คือมีสติตามดูและเข้าใจเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ในอารมณ์(รูป เสียง ฯ.) อันมีสุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทุกข์(เฉยๆ) เป็นอารมณ์หรือสิ่งที่กำหนด โดยเพื่อให้รู้เท่าทันว่า เวทนานี้ ก็สักแต่ว่าเวทนา เป็นแค่กระบวนการรับรู้ เกิดๆดับๆเป็นสภาวธรรมชาติตามปกติ ไม่สมควรไปอยาก หรือไปยึดมั่นถือมั่นให้เป็นความทุกข์จริงๆเกิดขึ้น เพราะเวทนานั่นก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่เวทนา เวทนานั่นก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราอย่างแท้จริง จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริงเพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยจึงไม่ได้้ขึ้นอยู่กับเรา

และเวทนาเหล่านี้ ก็ล้วนเกิดมาแต่เหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งแก่กันและกันล้วนสิ้นเช่นกัน ทั้งใน สัญญา สังขารขันธ์ และวิญญาณ ดังเช่น เวทนาอันเกิดแต่ตา อันย่อมมีเหตุ คือ ตา รูปที่เห็น จักษุวิญญาณ การผัสสะ สัญญา ฯ. และเหตุต่างๆเหล่านี้มาเป็นปัจจัยกัน จึงยังให้เกิด(การทำงานของ)เวทนาขึ้นมา

ตา + รูป > จักษุวิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำได้ > จึงเกิด เวทนา ขึ้นได้

สัญญา ความจําได้ในอารมณ์, หมายรู้ในอารมณ์ที่มากระทบสัมผัส(รูป เสียง.. ฯ.), ตลอดจนสัญชาตญาณ(ญาณหรือความรู้ความเข้าใจที่ติดมาพร้อมกับการเกิด) สรุปรวบรวมความคิด ประสบการณ์ต่างๆ(จากอดีต)เป็นความทรงจํา, สติและปัญญาก็เป็นสัญญาชนิดหนึ่งแต่ก็จัดเป็นสังขารขันธ์ด้วยเพราะมีการริเริ่มกระทําหรือเจตนาขึ้นมาได้ และก็เป็นสัญญาชนิดที่ควรเจริญให้เกิดให้มียิ่งๆขึ้นไป จักเห็นได้อย่างหนึ่งว่าสมองหรือหทัยวัตถุ อันเก็บจําอดีตและคิดค้นก็เป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งของจิต จึงเป็นหทัยวัตถุอย่างหนึ่งด้วย แต่จิตไม่ใช่สมองแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจิตมีเหตุปัจจัยอื่นๆอีกหลากหลายที่ประกอบกันเป็นจิต (อ่านรายละเอียดได้ใน จิตคืออะไร)

สัญญา ก็ล้วนเกิดมาแต่เหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งแก่กันและกันล้วนสิ้นเช่นกัน ดังเช่น สัญญา มีเหตุมาเป็นปัจจัย ดังเช่น สมองหรือหทัยวัตถุอันเป็นส่วนหนึ่งของกาย + อดีต + มโนวิญญาณ ฯ.

สังขารขันธ์ ความคิดอ่านเจตนาที่จะกระทําทางกายสังขาร, วจีสังขาร, มโนสังขาร ทั้ง๓, ความคิดอ่านอันนี้ไม่เหมือนใน "สัญญา"ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดจากความจําหรือเกิดจากการเปรียบเทียบ คิดค้น ตัดสินใจเพื่อหมายรู้ในอารมณ์หรือสิ่งที่สัมผัสหรือกระทบโดยอาศัยเทียบเคียงประสบการณ์จําอดีต, ส่วนความคิดอ่านหรือเจตนาในสังขารขันธ์นั้นมีการริเริ่มหรือเจตนาด้วยตนเองหรือสั่งการในการคิดอ่านหรือกระทํา แสดงเจตจํานงค์ที่ต้องการได้ ดังเช่นความโกรธ โลภ หลง เมตตา กรุณา สติ ปัญญา อารมณ์สมาธิ หดหู่ ฟุ้งซ่าน อุเบกขา ฯลฯ. อันเกิดแต่จิตอันมีเจตนาเป็นผู้สั่งการปรุงแต่งต่างๆนาๆ

สังขารขันธ์ ก็ล้วนเกิดแต่เหล่าเหตุต่างๆอันคือขันธ์ทั้ง๔ มาเป็นเหตุปัจจัยกัน ดังการเกิดขึ้นและเป็นไปสังขารขันธ์การกระทำต่างๆของชีวิต

วิญญาณ การรับรู้ เช่น ตา กระทบ รูป จะเกิดการรับรู้(จักษุวิญญาณ-ระบบประสาทตา)เห็นภาพนั้น แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไรแค่ภาพเฉยๆ ไม่ทราบความหมายใดๆ (สัญญาจะทําหน้าที่จําและแปลสัญญาณภาพนั้น)ดังเช่น เมื่อเด็กทารกเห็นปืน ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะไม่มีสัญญาในอารมณ์(สิ่งที่กระทบสัมผัสคือปืน)เกี่ยวกับปืนมาก่อน แต่เห็นปืนนั้น แต่ถ้าเห็นนมเด็กจะรู้ทันทีว่านี่ของกินของฉันเพราะมีสัญญา(ความจำ)ในอารมณ์(สิ่งที่กระทบสัมผัสกับตาหรือลิ้น อันคือนม)นั้นอยู่แล้วอันจําได้ว่าเป็นของกินของชอบ, ต้องการชี้ให้เห็นว่าทารกนั้นมีจักษุวิญญาณเห็นปืนแต่ไม่มีสัญญาจําใดๆกับปืนนั้น จึงเกิดเวทนาประเภทไม่สุขไม่ทุกข์(เฉยๆ)เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจในปืนอันเป็นอารมณ์ แต่เมื่อเห็นนมจึงย่อมเกิดเวทนาชนิดสุขเวทนา เกิดความถูกใจ ชอบใจ, แต่การเห็นปืนก็สักแต่ว่าเห็นไม่รู้ไม่เข้าใจเพราะไม่มีสัญญาในเรื่องปืน

วิญญาณ ก็เกิดแต่เหตุปัจจัย ขยายความ ประกอบด้วยองค์ของชีวิต กล่าวคือ ต้องมีชีวิตจึงมีวิญญาณ ๖ และเกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในกระทบกับอายตนะภานนอก จึงไม่ใช่วิญญาณที่ท่องเที่ยว แล่นไป หรือเจตภูต อันพระองค์ท่านตรัสไว้ว่าเป็นทิฏฐิอันลามก ขยายความ

ฝ่ายนามหรือขันธ์ทั้ง ๔ นี้ ต่างทํางานประสานร่วมกันเป็นเหตุปัจจัยกันเกิดเป็นจิต อันเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติและนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเฝ้าเพียรพยายามค้นหาว่าอยู่ที่ใด แต่ก็หาไม่มีวันพบ เพราะมันไม่มีขนาด ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน หรือที่อยู่อย่างแท้จริง เพียงเกิดแต่เหตุปัจจัยหลักทั้ง ๔ และกาย มาประชุมกันจึงเกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นเฉพาะการณ์หรือเฉพาะกิจเหมือนดังเงา และแต่ละเหตุปัจจัยหลักเหล่านี้ก็ล้วนเกิดมาแต่เหตุปัจจัยของตนเองย่อยๆลงไปอีกมากมายหลายสิบหลายร้อย (อ่านรายละเอียดได้ใน จิตคืออะไร)

รูปทํางานร่วมกับนามโดยอาศัยซึ่งกันและกัน ผ่านการเชื่อมโยงของวิญญาณ(ในแง่วิทยาศาสตร์ อุปมาดั่งระบบประสาท) โดยอาศัยผ่านอายตนะทั้ง ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย )ที่มีอยู่ในรูปหรือกาย โดยมีใจหรือจิตเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่

ตัวเราหรือชีวิตจึงเป็นเหตุปัจจัยต่างๆที่มาประชุมกันของธาตุ ๔ (รูป)และนาม(ทั้ง ๔)อันมาประชุมกันชั่วขณะชีวิตอย่างประสานผสมกลมกลืนเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน ทั้งหมดคือชีวิตที่กําลังดํารงอยู่นั่นเอง อันอุปมาได้ดั่งการเกิดไฟ



ไฟ อันลุกโพลง อันเกิดขึ้นจากการกระทำ โดยใช้แว่นขยาย(เลนส์นูน) ส่องรับแสงแดด ไปที่เชื้อไฟหรือฟืน

ไฟที่เกิดขึ้นมานั้น มิได้มีตัวมีตนอยู่ในแว่นขยายนั้น, มิใช่ตัวใช่ตนในแว่นขยาย

ไฟที่เกิดขึ้นมานั้น ก็มิได้มีตัวมีตนอยู่ในแสงแดดนั้น, มิใช่ตัวใช่ตนในแสงแดด

ไฟที่เกิดขึ้นมานั้น ก็มิได้มีตัวมีตนอยู่ในสิ่งที่เป็นเชื้อไฟนั้น, มิใช่ตัวใช่ตนในเชื้อไฟ

ไฟที่เกิดขึ้นมานั้น ก็มิได้มีตัวมีตนอยู่ในผู้กระทำ, มิใช่ตัวใช่ตนในผูกระทำ

แต่ ไฟ นั้นเกิดจากเหตุปัจจัยทั้ง ๔ มาประชุมรวมเป็นปัจจัยแก่กันและกันชั่วขณะหรือระยะหนึ่งหรือปฏิจจสมุปบันธรรม ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็ไม่เกิดผลหรือไฟขึ้น และเป็นปัจจัยอย่างผสมกลมกลืนเนื่องสัมพันธ์กัน ดุจดั่งกรรมที่ใช้แว่นขยายส่องไปยังเชื้อไฟก็ต้องถูกต้องสอดคล้องได้ระยะกันอีกด้วย ถึงจักเกิดไฟขึ้นได้ จิตหรือชีวิตเราก็เฉกเช่นกัน เกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมกันดังกล่าวแล้ว มาเป็นจิตหรือชีวิต และยังมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งหลัก อันคือกรรม(การกระทํา) อันทําให้ชีวิตเป็นไปตามกรรม(การกระทํา)นั้นๆอีกด้วย

หรือดังที่พระบาลีกล่าวไว้ว่า "อาศัยไม้ เถาเชือก ดินฉาบ และหญ้ามุง มีช่องว่างแวดล้อม ย่อมเรียกกันว่า "เรือน" ฉันใด(บ้านในสมัยพุทธกาล) อาศัยกระดูก เส้นเอ็น เนื้อ หนัง มีช่องว่างแวดล้อม ย่อมเรียก(รูปนั้น)กันว่า "คน" ฉันนั้น" อันแสดงถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดรูปหรือกาย ในอีกมุมมองหนึ่งที่ถูกต้องและดีงาม

ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้ หรือบางตัวนั้นเกิดการแปรปรวนไปหรือเหตุปัจจัยบางปัจจัยดับไปตามกฎพระไตรลักษณ์ เหตุปัจจัยต่างๆย่อมไม่ครบองค์ประกอบของชีวิต ตัวตนก็จักต้องแตกสลายแยกไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของมัน ดังเช่น การเกิดอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วยอันเกิดแต่แรงภายนอกมากระทำ แม้แต่สังขารที่แก่เฒ่าชราลงไปเอง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยของรูปหรือกายที่แปรปรวนจากการถูกกระทํายํ่ายีจากความแปรปรวนเสื่อมไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)หรือแรงภายในที่บีบคั้นโดยธรรมหรือธรรมชาติเอง เมื่อรูปหรือกายไม่มีความสมดุลย์ในองค์ประกอบของชีวิตแล้ว ธาตุ ๔ต่างๆที่รวมตัวกันเป็นรูปหรือกายก็เกิดการเสื่อมแตกสลายไปตามเหล่าเหตุปัจจัยนั้นๆเช่นกัน เช่น เมื่อธาตุใดแปรปรวนหรือดับไป เช่นธาตุดินถูกกระทำย่ำยีจนแตกดับไปด้วยเหตุอันใดก็ดี ธาตุน้ำ, ลม,ไฟ ก็ย่อมต้องแปรปรวนแล้วแตกดับดับตามในที่สุด ธาตุนํ้าก็กลับสู่ดินและระเหยไปตามธรรมชาติ ธาตุลมก็กลับดับไป ธาตุไฟก็ต้องดับเป็นที่สุด ฯลฯ. ส่วนฝ่ายนามนั้น เมื่อรูปหรือกายอันเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งแตกดับไปแล้ว ทําให้ไม่ครบองค์ประกอบของชีวิต นามหรือจิตก็ต้องดับตามไปด้วย ในที่สุดก็ไม่มีสิ่งใดที่แสดงความเป็นตัวเป็นตนเป็นแก่นแกนอีกต่อไป ควบคุมบังคับบัญชาอย่างใดก็ไม่ได้ ท่านจึงตรัสว่าไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสารหรือแก่นแกนที่คงที่คงทนได้ตลอดไป จึงไม่ควรหรือไม่คุ้มค่าที่จะไปยึดมั่น ถือมั่นเพราะต้องดับไปเป็นที่สุด, หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งในความหมายเดียวกันแต่ในอีกแง่มุมมอง(ที่มักถกเถียงและพาให้งุนงงกันอยู่เนืองๆ)คือ มีตัวตนแต่ไม่มีแก่นสารสาระให้ยึดมั่น เพราะอยู่ได้แค่ชั่วขณะหรือระยะหนึ่งแล้วในที่สุดก็ต้องดับไปตามเหตุปัจจัยต่างๆที่เกิดการแปรปรวนและแตกสลายดับไป แต่สภาวธรรมชาตินี้มักถูกปิดบังและซ่อนเร้นอยู่ด้วยความเป็นกลุ่มก้อน(ฆนะ)ของรูปและนามที่มาประชุมกัน คือตัวตนชีวิตทางโลกของเรา จึงมองไม่เห็น นอกจากใช้ตาปัญญาหรือญาณเท่านั้น ตลอดจนเหตุปัจจัยที่ประกอบกันในรูปของกระแสธรรมชาติที่ไหลเลื่อน เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา(อนิจจัง,ทุกขัง)จนไม่สามารถสังเกตุเห็นด้วยตาธรรมดาๆนอกจากใช้ตาปัญญา(ปัญญาจักขุ)มาไตร่ตรองพิจารณา(ธรรมวิจยะโดยการโยนิโสมนสิการ)เท่านั้น

ดังนั้นสาระสําคัญของอนัตตา มิได้อยู่ที่มีตัวตน หรือไม่มีตัวตน แก่นสารสาระสําคัญกลับไปอยู่ที่ เกิดแต่เหตุปัจจัยจึงแปรปรวนไม่สามารถคงทนอยู่ได้ตลอดไป หรือควบคุมบังคับไม่ได้อย่างจริงแท้แน่นอน และเป็นไปตามสภาวธรรม ตามกฎอนิจจังและทุกขัง

ดังนั้นเมื่อเข้าใจอย่างชัดเจนก็จะเห็นได้แจ่มแจ้งถึงจุดมุ่งหมายของพระไตรลักษณ์ ที่ใช้ปัญญาเข้าถึง "ความไม่เที่ยงมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงมีความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากด้วยตัณหาหรือไปยึดด้วยอุปาทาน, ตัวตนก็่ไม่มีแก่นสารเป็นเพียงสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ในรูปกระแสเหตุปัจจัย ที่ไหลเลื่อนเป็นปัจจัยแก่กันและกันหรือเนื่องสัมพันธ์กันอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดนิพพิทาความหน่าย จึงคลายกําหนัด ความชื่นชม,ความยินดี ความอยาก ความยึด หรือเหล่าตัณหา จึงลดละความยึดมั่นถือมั่นความพึงพอใจในตัวตน,ของตนและในสิ่งใดๆ หรือ"อุปาทาน"โดยตรงนั่นเอง



พระพุทธองค์ทรงแสดงพระไตรลักษณ์ หรืออนันตลักษณะ, อนิจจลักษณะ, ทุกขลักษณะอยู่เนืองๆ ดังนี้

"รูป (เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณ) ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์(คงทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ในที่สุดถ้าไปอยากหรือไปยึด) สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นพึงเห็นด้วย "สัมมาปัญญา"(ญาณ-ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง)ตามที่มันเป็น อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา(อย่างแท้จริง), มิใช่เราเป็นนั่น(อย่างแท้จริง), นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา(อย่างแท้จริง)"

ตัวเราอันประกอบด้วย รูป(กาย) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละสิ่งล้วนไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ทั้งสิ้น ทําให้เป็นทุกข์ถ้าไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดด้วยอุปาทานความพึงพอใจในตน,ของตน และเป็นอนัตตาทั้งสิ้น แต่ละเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นตัวตนเราคือมวลรวมทั้งหมดของแต่ละเหตุปัจจัยของทั้งกายและจิต จึงยิ่งมีความไม่เที่ยงแปรปรวน ทนอยู่ไม่ได้ และอนัตตายิ่งกว่าเพราะประกอบมาจากเหตุปัจจัยอันมากหลายที่ล้วนแต่แปรปรวนเป็นทุกข์และทนอยู่ไม่ได้ และเมื่อเหตุปัจจัยใดๆแปรปรวนหรือดับก็เกิดสภาพอนัตตาขึ้นทันที

นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา คือสภาพที่ไม่มีตัวไม่มีตนของ"อุปาทาน"นั่นเอง และต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยคือดําเนินชีวิตไปตามขันธ์ ๕ ปกติ ไม่ใช่การไม่เอาอะไรสักอย่าง เลยไม่ทําอะไรเป็นความเข้าใจผิด ต้องดําเนินชีวิตไปตามปกติตามหน้าที่ หรือ กิจอันพึงกระทํา แต่กระทําอย่างไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจของตัวตนอันเป็น"อุปาทาน"เท่านั้นคือไม่มีความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นแก่จิตนั่นเอง ขันธ์๕ยังคงดําเนินไปเป็นปกติคือทําทุกอย่างได้ แต่ต้องไม่ก่อกิเลส > ตัณหา > อุปาทานให้เกิดเป็นทุกข์อุปาทานอันบังเกิดขึ้นแก่ใจ

ตัวกู ยังไม่ใช่ของกู, แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจักเป็นของกูได้อย่างไร.

ถ้าตัวกู เป็นของกูอย่างแท้จริงแล้วไซร้ จักต้องควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา

ไม่ตกอยู่ภายใต้อํานาจของสภาวธรรม(ธรรมชาติ)

เพราะตัวกูไม่ใช่ของกู จึงควบคุมบังคับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

เมื่อควบคุมเหตุบางเหตุได้ชั่วขณะหนึ่งๆบ้าง ก็ก่อเกิดมายาจิตไปหลงคิดหลงยึดว่าควบคุมบังคับได้อย่างจริงแท้แน่นอน

แต่ตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)นั้น การแปรปรวนตามสภาวธรรมนั้น จึงจริงแท้แน่นอนเป็นที่สุด

ควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา หมายถึงการควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริง,

ไม่ใช่การควบคุมบังคับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

เพราะเป็นการควบคุมได้ที่เหตุเพียงบางส่วนและชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง



ข้อคิด

ถ้าไม่เข้าใจพระไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทโดยถ่องแท้ ในบางขณะจะเกิดวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในพระไตรลักษณ์ขึ้นมา หรือเกิดมิจฉาทิฏฐิอันคือความเห็นผิดในพระไตรลักษณ์ คือเห็นว่าในเมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาแล้วต้องไปกังวลสนใจไปทําไม มีอะไรก็อ้างพระไตรลักษณ์ และทําทุกสิ่งดีชั่วตามปรารถนามิดีกว่าหรือ? ในเมื่อมันเกิดๆดับๆ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับก็จบกัน นี้เพราะความไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าชีวิตยังคงอยู่ และไม่เคยลิ้มชิมรส รสแห่งความสุขสงบไม่ร้อนด้วยการเผาลนด้วยไฟของกิเลสตัณหาอุปาทาน และไม่เข้าใจวงจักรที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาของปฏิจจสมุปบาทโดยแรงขับดันของอาสวะกิเลสและอวิชชาอันเกิดแต่กรรม(การกระทําที่มีเจตนา)นั่นเอง ดังนั้นในบางครั้งเห็นคนทําชั่วมีความรุ่งเรือง ได้ดีมีเงินทอง สิ่งที่เห็นนั้นเป็นการเห็นแต่สิ่งภายนอกเท่านั้น ถ้าท่านเข้าใจปฏิจจสมุปบาทพึงจักเข้าใจได้ว่าผลกรรมการกระทําของเขานั้น ในที่สุดการกระทําหรือกรรมนั้นก็จักก่อให้เกิดผลเป็นสังขารตามที่สั่งสม,ประพฤติ,ปฏิบัติไว้ อันเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อน ขับดันให้บุคคลผู้นั้นเข้าสู่กระบวนการของทุกข์อันมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถเลี่ยงได้เพราะเป็นสภาวะธรรม หรือสภาวะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เที่ยงแท้และแน่นอน(แต่ก็เป็นอนัตตา) อันไม่มีใครมีอํานาจมาบังคับได้แม้แต่ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์, โดยเริ่มตั้งแต่ในขณะหลับ, ขณะก่อนตาย, ขณะไม่มีอิริยบถใดๆมาเบี่ยงเบน บดบัง, หรือรอขณะความทุกข์บางเรื่องเข้าแทรกก็จะร่วมผสมโรงแสดงผลกรรมออกมาโดยเร็วพลันและรุนแรง ต่างๆเหล่านี้อันจะผุดเกิดขึ้นมาเอง อันไม่มีใครสามารถควบคุมบังคับได้ เกิดเป็นความทุกข์ ความวิตก กังวล ระแวง เป็นห่วง ขุ่นข้อง ขัดเคือง ต่างๆเผาลนจิต ตั้งแต่ยังไม่ตายแตกดับ อันเกิดขึ้นภายในจิตอันแปรปรวนจากผลกรรม(วิบากของกรรม)อันแม้เป็นอจินไตย แต่ก็เกิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคราวนี้ไม่มีหนทางที่คดโกงหรือหลบเลี่ยงได้ตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้แล้ว โดยมิต้องกล่าวอ้างถึงวิบากกรรม(ผลของการกระทํา)ที่จักส่งผลไปในภพชาติหน้า อันมิมีทางแก้ไขด้วยการล้างบาป ทำบุญ ถือศีล แต่ฝ่ายเดียว แต่พึงมีทางแก้ไขคือเหนือกรรม กล่าวคือ ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องจนดับทุกข์ไป วิบากของกรรมนั้นแม้เกิดขึ้นแต่ย่อมส่งผลไปไม่ถึง หรือไม่มีตัวกูของกูเป็นผู้รับผลนั่นเอง

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุปัจจัยอันแปรปรวนมาประชุมกัน จึงยิ่งไม่เที่ยง จึงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปจึงเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก ไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นแก่นสารสาระอย่างแท้จริง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

หรือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยย่อยๆอันไม่เที่ยงแปรปรวนมาประชุมรวมกันจึงยิ่งไม่เที่ยงแปรปรวน จึงยิ่งทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปในที่สุดจึงเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก ไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นแก่นเป็นแกนอย่างแท้จริงเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วขณะแล้วต้องดับไป

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมหรืออิทัปปัจจยตา จึงล้วนไม่ได้เกิดแต่ เทพ ไท้ เทวา องค์ใดมาดลบันดาลทั้งสิ้น อันล้วนยังให้เกิดทิฏฐุปาทานความเชื่ออย่างผิดๆงมงายและยึดมั่น หรือสีลัพพตปรามาส-ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต(ข้อปฏิบัติ)อย่างผิดๆหรืองมงาย เหตุเพราะขาดความเชื่อมั่น ต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวและเพราะอวิชชาความไม่เข้าใจในธรรม(ธรรมนิยาม)ตามความเป็นจริง เพราะความที่อยากให้ได้สมดังใจตามความเชื่อ จึงไปหาที่ยึดถือเพื่อเป็นหลักใจ เป็นกําลังใจ แต่เป็นไปอย่างผิดๆด้วยอวิชชา ตามความเชื่อ ความคิด หรือประเพณีที่ปฏิบัติตามๆกันมาอย่างงมงายแต่ขาดเหตุผล เพราะความไม่เข้าใจในธรรมนิยาม หรือกฎแห่งเหตุผล(อิทัปปัจจยตา) หรือกฏแห่งเหตุปัจจัย(ปฏิจจสมุปบาท)ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สังขาร สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจึงเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันตามความเป็นจริงของธรรมชาตินั้นๆแค่ชั่วขณะหรือระยะหนึ่ง ไม่ได้เกิดแต่เทพ ไท้ เทวา, แต่เกิดขึ้นและเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา(เพราะสิ่งนี้มี ผลนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ผลนี้จึงเกิดขึ้น อันเป็นหลักการเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั่นเอง เพียงแต่วิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปธรรมอันหยาบกว่าและเห็นหรือจับต้องได้) ดังนั้นจึงมีความไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนไปเป็นธรรมดาไม่มีใครหรือสิ่งใดควบคุมบังคับบัญญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ตลอดไป(บางครั้งบางคราอาจได้ตามเหตุปัจจัยอันตนเองไม่รู้เหตุ จึงเข้าใจผิดไปยึดทําให้จิตหลงหรือความหลง-โมหะ) เมื่อไม่เที่ยง แปรปรวน จึงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปเป็นธรรมดาเป็นที่สุด ดังนั้นถ้าไปยึดไปอยากด้วยตัณหาและอุปาทานจึงต้องเป็นทุกข์จากความไม่สมปรารถนาในที่สุด ไม่มีตัวตนเป็นแก่นสารสาระให้ไปยึดมั่นถือมั่นเพราะเมื่อเหตุปัจจัยอันไม่เที่ยงแปรปรวนและดับไป ตัวตนที่ไม่มีแก่นไม่มีแกนหรือไร้คุณค่าที่แท้จริง ก็ต้องแปรปรวนและดับไปด้วย ตามหลักอิทัปปัจจยตาเช่นกันคือ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ ผลนี้จึงดับ

เวทนา - ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยอันไม่เที่ยง(เกิดแต่่ อายตนะภายนอกกระทบสัมผัสกับ+อายตนะภายใน+ มีวิญญาณรับรู้ +และจําได้ในอายตนะภายนอกนั้น) จึงไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป จึงเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระ เมื่อเหตุปัจจัยดับ เวทนานั้นก็ดับไป (ถ้าเข้าใจขันธ์๕ แล้ว ลองพิจารณาดู) จึงล้วนอยู่ในสภาพ เกิดดับๆๆ...เป็นไปเยี่ยงนี้ เพราะเป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นแล้วจากเหตุปัจจัยต่างๆจึงไม่เที่ยง,คงทนอยู่ไม่ได้ แต่กลับกลายว่าต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนี้กล่าวคือเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นใหม่อีกแล้วก็ดับไป เป็นไปอย่างเที่ยงตรงและคงทนเพราะเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิตอันเป็นอสังขตธรรม อันเที่ยงและคงทนอยู่ได้ทุกกาล ขยายความโดยพระสูตร

สัญญา - เกิดแต่เหตุปัจจัย ดังเช่น เกิดจากอดีต แและจดจำไว้ในหทัยวัตถุคือสมอง ฯลฯ. จึงย่อมไม่เที่ยง ดังเช่น เมื่ออยากจำก็กลับลืม เมื่อไม่อยากจำกลับจำได้หรือผุดขึ้นมาเอง จึงไม่เที่ยง จึงย่อมทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปในที่สุด จึงเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระ เมื่อเหตุปัจจัยดับ สัญญานั้นก็ดับไป จึงล้วนอยู่ในสภาพ เกิดดับๆๆ...เป็นไปเยี่ยงนี้ แต่กลับกลายเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและคงทนเพราะเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต

สังขาร - เกิดแต่เหตุปัจจัยอันไม่เที่ยง จึงไม่เทีี่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป จึงเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระเมื่อเหตุปัจจัยดับ สังขารนั้นก็ดับไป จึงล้วนอยู่ในสภาพ เกิดดับๆๆ...เป็นไปเยี่ยงนี้ แต่กลับกลายเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและคงทนเพราะเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต

วิญญาณ - เกิดแต่เหตุปัจจัยอันไม่เที่ยง จึงไม่เทีี่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปจึงเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระ เมื่อเหตุปัจจัยดับ วิญญาณนั้นก็ดับไป จึงล้วนอยู่ในสภาพ เกิดดับๆๆ...เป็นไปเยี่ยงนี้ แต่กลับกลายเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและคงทนเพราะเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต

ดังนั้นนามหรือจิต - จึงยิ่งไม่เที่ยง ยิ่งทนอยู่ไม่ได้ จึงเปป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก ยิ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระ ยิ่งเกิดแต่เหตุปัจจัยอันยิ่งมากหลาย(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)อันแปรปรวนและต้องดับไป จึงล้วนอยู่ในสภาพ เกิดดับๆๆ...เป็นไปเยี่ยงนี้ แต่กลับกลายเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและคงทนเพราะเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต

เช่นเดียวกันในธาตุดิน, นํ้า, ลม, ไฟ-เกิดแต่เหตุปัจจัยจึงไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระ ในที่สุดก็ต้องดับไป อยู่ในสภาพเกิดดับๆเหมือนกัน เช่น ธาตุดิน ฯ. เข้าไปก็แปรปรวนไปเป็นธาตุสารประกอบอื่นๆอีกเช่นกัน ตลอดจนมีการขับถ่าย,หมดอายุในบางส่วนบางที่อยู่ตลอดเวลา จึงก็ล้วนอยู่ในสภาพ เกิดดับๆๆ...เป็นไปเยี่ยงนี้ แต่กลับกลายเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและคงทนเพราะเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต

ดังนั้นรูปหรือกาย - จึงยิ่งไม่เที่ยง ยิ่งทนอยู่ไม่ได้เป็นทุุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก ยิ่งเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนที่เป็นแก่นสาระ ยิ่งเกิดแต่เหตุปัจจัยมากหลาย อันล้วนแปรปรวนและต้องดับไป

เมื่อรูปและนามประกอบกันเป็นตัวตนชั่วขณะไม่ถาวรและควบคุมบังคับไม่ได้อย่างแท้จริงถาวร จึงยิ่งไม่เที่ยง จึงยิ่งทนอยู่ไม่ได้ จึงยิ่งเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก จึงยิ่งเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนที่เป็นแก่นสาระ จึงยิ่งเกิดแต่ปัจจัยมากหลายที่ยิ่งล้วนแปรปรวนมาประชุมกันทั้งสิ้น ยิ่งอยากด้วยตัณหา หรือยิ่งยึดด้วยอุปาทานก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น ในที่สุดก็ต้องดับไปตามเหตุปัจจัยที่แปรปรวนและต้องเสื่อมและต้องดับไปในที่สุด

สิ่งใดเกิดแต่เหตุปัจจัยมาปรุงแต่ง ล้วนไม่เที่ยง

สิ่งใดไม่เที่ยง ล้วนทุกขังคงทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไปเป็นที่สุด

สิ่งใดต้องดับไป สิ่งนั้นเป็นอนัตตาไม่มีตัว,ไม่มีตนที่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง

เพราะไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนถาวรอย่างแท้จริง จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดด้วยอุปาทานความพึงพอใจ เนื่องจากความไม่คงที่(ความไม่เสถียร,ความที่ต้องแปรปรวน)ของมัน อันย่อมต้องประสบกับความไม่สมปรารถนาเป็นที่สุด



การปฏิบัติภาวนา ในพระไตรลักษณ์

เห็นในสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ มีความสำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอนัตตา

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย

สิ่งใดเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกัน สิ่งนั้นย่อมมิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้เป็นปัจจัย

จึงมีความไม่เที่ยง ที่สุดจึงทนอยู่ไม่ได้ จนต้องดับไปเป็นที่สุด

ทั้งล้วนเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนถาวรแท้จริง

จึงไม่เป็นอะไรของใครๆ จึงไม่ใช่ของตัวของตนแท้จริง

แต่ล้วนเป็นไปตามเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง

จึงเป็นทุกข์ ถ้าไปอยากด้วยตัณหา หรือ

ไปยึดด้วยอุปาทานความพึงพอใจ

เพราะความไม่สมปรารถนา อันย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นที่สุด

จึงควรรู้ด้วยสัมมาปัญญาว่า

สังขารทั้งปวง นั่นก็มิใช่เรา เราก็มิใช่นั่น นั่นก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราอย่างแท้จริง

เพราะล้วนเป็นอนัตตา เป็นเพียงกลุ่มก้อนมายาของเหตุปัจจัยที่ประชุมกัน.



พระไตรลักษณ์ โดยย่นย่อ

พิจารณาตัวตน ขันธ์๕ ตลอดจนสิ่งต่างๆ ว่าต่างล้วนเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์จริงๆ

ทำความเข้าใจพระไตรลักษณ์เสียก่อน แล้วทําการภาวนาอย่างสมํ่าเสมอ อย่างมีสติ (จึงไม่ใช่การท่องบ่นอย่างปล่อยให้เลื่อนไหลไปเพราะคล่องใจหรือคล่องปาก) ในทุกอิริยาบถสัก ๗ วัน เท่าที่โอกาสอํานวย(ยิ่งมากยิ่งดี) ใหม่ๆใช้ท่องจําเอา แล้วภาวนาท่องบ่น คือคิดแบบพิจารณาได้ทั้งออกเสียงและในใจ ขณะภาวนานั้นความคิดอาจแตกฉาน เข้าใจ เห็นในธรรมนี้มากขึ้นเองเป็นธรรมดา แต่ห้ามไปฟุ้งในเรื่องอื่นๆ ขอให้มีสติอยู่ในแนวทางการพิจารณาธรรมก็แล้วกัน

หรือ ให้พิจารณาในสังขาร ต่างๆที่มากระทบผัสสะอยู่ตลอดเวลาทางอายตนะทั้ง๖ อยู่อย่างสมํ่าเสมอว่า เป็นไปดังนี้หรือไม่ คือ เกิดแต่เหตุปัจจัย ไม่เที่ยง คงสภาพหรือคงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ ไม่มีแก่นแกนตัวตนแท้จริง อย่างค่อนข้างประจำสมํ่าเสมอ เหตุที่ปฏิบัติดังนี้ เพราะเป็นการเปลี่ยนสมมติทางโลกอันเราได้ยึดถือสั่งสมมาแต่กําเนิด โดยอาศัยสภาวธรรมเดียวกับสังขารในปฏิจจสมุปบาทแต่มิได้เกิดจากอวิชชา ซี่งเมื่อทําไปจะบังเกิดผลเป็นธรรมดาอย่างน่าอัศจรรย์ กล่าวคือ ยังให้เกิดนิพพิทาญาณ กล่าวคือ เป็นการสร้าง อนิจจสัญญา หรือ อนัตตสัญญา

หมายเหตุ สําหรับท่านที่เป็นฌานหรือสมาธิชนิดติดเพลินหรืออึดอัดมาก่อน(โปรดระวังเพราะบางท่านไม่รู้ว่าเป็น) ขณะที่ท่านคิดพิจารณา(โยนิโสมนสิการ)ต่างๆนั้นว่าเป็นไตรลักษณ์ อย่าได้ไปคอยส่องหรือจับ หรือพิจารณากายหรือจิต อันมีสุข สงบ หรือซาบซ่าน หรืออิ่มเอิบ อันเกิดแต่ผลของสมาธิ แม้กระทั่งความอึดอัดอันบังเกิดจากหวั่นไหวเคลื่อนหลุดไปจากสมาธิเช่นกัน, หรือที่เรียกว่าจิตส่งใน ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านที่เป็นฌานหรือสมาธิคงเข้าใจที่ผู้เขียนหมาย ถ้ายังไม่แน่ใจขอให้อ่านเรื่องฌาน,สมาธิ และ จิตส่งใน

การปฏิบัติในแนวทางพระไตรลักษณ์

มีสติระลึกพิจารณาให้เข้าใจใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เสมอๆ จนมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแจ่มแจ้ง(ปัญญา)

แล้วฝึกสติระลึกรู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง(สัมมาสมาธิฝ่ายวิปัสสนา) ในสังขารต่างๆที่เกิดขึ้นหรือผัสสะว่า ล้วนเป็นไปตามพระไตรลักษณ์เป็นลำดับต่อไป



๑๐. สัญญาสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗

ว่าด้วยการเจริญอนิจจสัญญา

[๒๖๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะทั้งปวงได้. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ในสรทสมัย ชาวนาเมื่อไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายความสืบต่อแห่งราก(หญ้า)ทุกชนิด แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะทั้งปวงได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.



๗. อนิจจเหตุสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗

ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเหตุปัจจัย

[๔๕] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจัก เที่ยงเล่า? เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลายวิญญาณที่เกิดจากสิ่งไม่เที่ยง ที่ไหนจะเที่ยงเล่า? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ข้อคิด

เมื่อเกิดเวทนาหรือจิตสังขารขึ้นแล้ว มีสติรู้เท่าทันสภาวธรรม(ชาติ)ของเวทนาหรือจิตสังขารที่เกิดขึ้นนั้นและมันเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปทําอะไรกับเขา เพียงแต่มีสติถืออุเบกขาหยุดการคิดนึกปรุงแต่งแทรกแซงไปยินดียินร้าย ในสิ่งที่สติระลึกรู้เท่าทันนั้นๆ.

พุทธศาสนิกชนทุกคนต่างก็รู้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ทำไมจึงยังเป็นทุกข์อุปาทานกันอยบ่อยๆมากๆ ก็เพราะ ยังไม่มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งนั่นเอง๑. สติไม่เท่าทัน๑. สัญญาหรือความจำนี้ไม่แนบแน่น เนื่องจากการขาดความเพียร(วิริยะ)โดยการหมั่นพิจารณานั่นเอง๑. เมื่อไม่แนบแน่นเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง จิตอันเปรียบประดุจนํ้าที่ตามธรรม(ชาติ)แล้วย่อมไหลลงสู่ที่ตํ่ากว่า จิตก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่ตามธรรม(ชาติ)แล้วย่อมต้องไหลไปสู่ที่ตํ่ากว่าเช่นดุจเดียวกัน คือไหลไปตามกระแสของอาสวะกิเลส >> กิเลส >> ตัณหา >> อุปาทาน กล่าวคือ ดำเนินเลื่อนไหลไปตามกระแสวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง อันเป็นสภาวธรรม(ชาติ)ฝ่ายก่อให้เกิดทุกข์ของปุถุชนทุกคนที่ยังไม่มีวิชชา



เอกสารอ้างอิง

พระไตรปิฏก ฉบับที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๘๖

http://threefold-learning.dawnofdhamma.org/tag/ไตรสิกขา/

https://makkanuka.wordpress.com/2015/03/13/the-threefold-learning/

http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2011/08/11/entry-1

http://www.nkgen.com/12.htm




รวบรวมข้อมูลโดย : นายสถิต สมเสงี่ยม


ดาวน์โหลดไฟล์ : กระบวนการเกิดของไตรสิกขาและไตรลักษณ์


ตัวอย่างไฟล์ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น