สาขาปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา คุณวิทยา



รายงาน

เรื่อง อภิปรัชญา ญาณวิทยา คุณวิทยา



จัดทำโดย

**********************

นำเสนอ

**************************


รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญาเบื้องต้น

รหัสวิชา (๐๐๐ ๓๐๘) ๒ นก. ภาคเรียนที่ *************ปีการศึกษา ๒๕***************

ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ ************* สาขาการจัดการเชิงพุทธ

****************

คำนำ

ปรัชญา เป็นวิชาที่มีเนื้อหากว้างขวาง เพราะเป็นต้นตอแห่งสรรพวิชา วิชาการหรือศาสตร์ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาเป็นหลักทั้งนั้น จึงมีนักปราชญ์จำนวนมากที่พยายามจะแบ่งแยกปรัชญาออกเป็นสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปศึกษาได้ง่ายขึ้น จะอย่างไรก็ตาม แม้นักปราชญ์จะพยายามแบ่งแยกอย่างไรก็คงอยู่ในขอบเขต ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกไว้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ คือ อภิปรัชญา ญาณวิทยา และคุณวิทยา ซึ่งในรายงานเล่มนี้ได้อธิบายสาขาปรัชญาทั้ง ๓ นี้อย่างละเอียด ซึ่งมีเนื้อมาจากหนังสือหลายเล่ม จากผู้เชียวชาญหลายหลาย ดังที่ระบุไว้ในหน้าเอกสารอ้างอิง ท่านจะได้รับความรู้ในเรื่องนี้อย่างมากแน่นอน

หากท่านต้องการเนื้อหาที่มีความละเอียดมากกว่านี้ ผู้จัดทำ แนะนำให้ท่านเปิดไปที่หน้าบรรณานุกรม เพื่อดูแหล่งที่มาของข้อมูลในรายงานเล่มนี้ และสุดท้ายผู้จัดทำขอให้ผู้ที่ได้อ่านรายงานที่เต็มไปด้วยเกร็ดความรู้มากมายในเล่มนี้ ให้มีความสุขสวัสดิ์ตลอดไป เทอญ


************************


สารบัญ

เรื่อง หน้า

คำนำ ก

สารบัญ ข

สาขาปรัชญา ๑

อภิปรัชญา ๑

ความเป็นมาของอภิปรัชญา ๗

ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ ๘

บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา ๑๑

หน้าที่ของอภิปรัชญา ๑๒

ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา ๑๒

ทฤษฎีทางอภิปรัชญา ๑๕

จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก ๑๖

คุณลักษณะของแบบหรือมโนภาพ ๑๗

จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก ๒๓

อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ ๒๓

ญาณวิทยา (Epistemology) ๒๕

ประจักษ์นิยม ๒๖

ประจักษ์นิยม ๒๖

เทพนาการนิยม ๒๘

อนุมาน ๒๙

อัชฌัติกญาณนิยม ๓๐

คุณวิทยา ๓๑

ปรัชญาสาขาคุณวิทยา ๓๒

ความหมายของค่านิยม ๓๒

ความเกี่ยวข้องกันระหว่างคุณวิทยากับค่านิยมและลักษณะต่าง ๆ ของค่านิยม ๓๓

ค่านิยมที่เป็นปรนัย ๓๔

ค่านิยมที่เป็นอัตนัย ๓๕

ค่านิยมมีการเปลี่ยนแปลงหรือคงที่ ๓๕

ค่านิยมมีเป็นลำดับขั้นหรือไม่ ๓๕

ค่านิยมของลัทธิปรัชญากลุ่มลัทธิจิตนิยมกับการศึกษา ๓๖

ค่านิยมของปรัชญากลุ่มลัทธิสัจนิยม กับการศึกษา ๓๙

ค่านิยมของปรัชญากลุ่มลัทธิปฏิบัตินิยม กับการศึกษา ๔๑

จริยศาสตร์กับการศึกษา ๔๒

บทสรุป ๔๖



เอกสารอ้างอิง ๔๘



สาขาปรัชญา



ปรัชญา เป็นวิชาที่มีเนื้อหากว้างขวาง เพราะเป็นต้นตอแห่งสรรพวิชา วิชาการหรือศาสตร์ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาเป็นหลักทั้งนั้น จึงมีนักปราชญ์จำนวนมากที่พยายามจะแบ่งแยกปรัชญาออกเป็นสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปศึกษาได้ง่ายขึ้น จะอย่างไรก็ตาม แม้นักปราชญ์จะพยายามแบ่งแยกอย่างไรก็คงอยู่ในขอบเขต ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกไว้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ คือ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา ดังนั้น สาขาของปรัชญาที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จึงมี ๓ สาขาใหญ่ ๆ คือ



๑. อภิปรัชญา (Metaphysics) หรือภววิทยา (Ontology)

อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมีอยู่ ความเป็นอยู่ของสรรพสิ่ง โดยทั่วไปแล้วถือว่า สิ่งที่มีอยู่ย่อมเป็นสิ่งแท้จริง และสิ่งแท้จริงย่อมมีอยู่ ความมีอยู่กับความแท้จริงจึงเป็นอันเดียวกัน ดังนั้น ทั้ง ๒ คำจึงเป็นอันเดียวกัน ต่างแต่ว่า Ontology ใช้มาก่อน Metaphysics ใช้ทีหลัง

อภิปรัชญาหรือภววิทยา มีขอบข่ายในการศึกษา ๓ เรื่องคือ

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยธรรมชาติ ศึกษาเรื่องเอกภพหรือธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของอวกาศ กาล สสาร ความเป็นเหตุและผล ชีวิต วิวัฒนาการ ความเป็นไปแบบเครื่องจักรกลของเอกภพ และความเป็นไปแบบมีวัตถุประสงค์

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ ศึกษาเรื่องธรรมชาติของวิญญาณ กำเนิดของวิญญาณ จุดหมายปลายทางของวิญญาณ และความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ ศึกษาเรื่องธรรมชาติของพระเจ้า คุณลักษณะของพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับเอกภพ และกับวิญญาณ

อภิปรัชญาคืออะไร

จากการศึกษาเรื่องของปรัชญา จะเห็นได้ว่าปรัชญามีบ่อเกิดมาจากความสงสัย หรือความประหลาดใจ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ซึ่งมีความสงสัยเกี่ยวกับปฐมธาตุของโลก ต่างคนต่างพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นปฐมธาตุของโลก หรืออะไรเป็นบ่อเกิดของโลก บางคนบอกว่า น้ำ เป็นปฐมธาตุของโลก บางคนบอกว่า ดิน เป็นปฐมธาตุของโลก เหล่านี้เป็นต้น การยึดถือแนวความคิดอย่างนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากความสงสัยเพื่อต้องการค้นหา หรือสืบค้นความแท้จริงของโลก

สำนักปรัชญาตะวันออก เช่น นักปรัชญาอินเดียโบราณ ก็มีความสงสัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฝนตก เป็นต้น ท่านเหล่านั้นคิดว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะมีเทพเจ้าสิงอยู่ อาจจะเป็นเพราะมีพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้าง มีลักษณะการสร้าง การควบคุมดูแล และการทำลาย ใช่หรือไม่ จึงพยายามค้นหาความเป็นจริงของโลก

ต่อมานักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ ก็มีความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งใกล้ตัวนั่นคือสงสัยเกี่ยวกับตัวตน เกี่ยวกับวิญญาณ เกี่ยวกับพระเจ้า แล้วพยายามสืบค้น หาหลักฐานอ้างอิงเพื่อหาความจริงของสิ่งเหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสงสัยจึงเป็นบ่อเกิดแห่งปรัชญา เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งความคิด และการคิดก็ก่อให้เกิดการคิดหาเหตุผล การวิเคราะห์วิจารณ์ต่อมา

เราจะสังเกตเห็นว่า แนวคิดเรื่องแรกที่นักปรัชญาค้นคิดก็คือเรื่องเกี่ยวกับโลก หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น อะไรเป็นปฐมธาตุของโลก ฝนตก ฟ้าร้อง เหล่านี้เกิดมาจากอะไร เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงหรือไม่ ลักษณะการคิดเช่นนี้ เป็นการคิดเกี่ยวกับสาขาของปรัชญาสาขาหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “อภิปรัชญา” (Metaphysics)

อภิปรัชญา จัดเป็นปรัชญาบริสุทธิ์ คือเป็นเนื้อหาของวิชาปรัชญาแท้ ๆ เพราะเป็นแนวความคิด หรือเป็นทฤษฎีล้วน ๆ อภิปรัชญาเป็นปรัชญาแบบเก่า หรือที่เรียกว่า “ปรัชญาสมัยโบราณ”

อภิปรัชญา เป็นสาขาของปรัชญาสาขาหนึ่ง เป็นสาขาที่รวมศาสตร์ที่ว่าด้วยความมีอยู่ของจักรวาล เป็นสาขาที่ค้นหาเรื่องสภาวะแห่งความเป็นจริง อะไรเป็นสิ่งที่เป็นจริง และอะไรเป็นสิ่งที่ได้จากสิ่งที่เป็นจริง โลกคืออะไร จักรวาลมีได้อย่างไร วัตถุหรือจิตเป็นความจริง มนุษย์คืออะไร เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่จะหาคำตอบได้จากอภิปรัชญา

เมื่อเป็นเช่นนี้ อภิปรัชญา จึงเป็นสาขาของปรัชญาที่ศึกษาถึงความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นจริง ซึ่งพยายามจะหาคำตอบจากสิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่น อะไรคือจิต จิตมีจริงหรือไม่ อะไรคือพระเจ้า พระเจ้ามีจริงหรือไม่ จิตกับพระเจ้ามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไรหรือไม่ อะไรแน่ที่เป็นความแท้จริง

ในการศึกษาเกี่ยวกับอภิปรัชญาดังกล่าว จึงเกิดมีทฤษฎีอภิปรัชญาขึ้นมากมาย แต่ก็อยู่ในลักษณะของ ๓ ทฤษฎีหลักคือ

ทฤษฎีสสารนิยม (Materialism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะยอมรับเรื่องของวัตถุ หรือสสารเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง จึงพยายามหาความจริงเกี่ยวกับสสาร

ทฤษฎีจิตนิยม (Idealism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอะไรคือธาตุแท้ของมนุษย์ โดยเน้นไปที่เรื่องของจิต เพราะยอมรับว่า จิต เท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

ทฤษฎีธรรมชาตินิยม (Naturalism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติว่า อะไรเป็นผู้สร้าง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีลักษณะเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสร้างโลก ควบคุมโลก และทำลายโลก เหล่านี้เป็นต้น



ความหมายของอภิปรัชญา (Meanings of Metaphysics)

คำว่า “อภิปรัชญา” เป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้คู่กับคำภาษาอังกฤษว่า “Metaphysics” เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต ๓ คำคือ

๑. อภิ : ยิ่ง

๒. ปฺร : ประเสริฐ

๓. ชฺญา : ความรู้, รู้, เข้าใจ

เมื่อรวมกันแล้ว เป็น “อภิปฺรชฺญา” (อภิปรัชญา) แปลว่า ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง

คำว่า “อภิปรัชญา” ตรงกับคำภาษาบาลีว่า “ปรมัตถ์” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก ปรม (อย่างยิ่ง, ลึกซึ้ง) + อัตถ (เนื้อความ) เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า ความรู้ที่มีเนื้อความที่ลึกซึ้ง

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้นิยามความหมายของคำว่า “อภิปรัชญา” เอาไว้ว่า “สาขาหนึ่งของปรัชญา ว่าด้วยความแท้จริง ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของปรัชญา”

อภิปรัชญา เป็นปรัชญาบริสุทธิ์สาขาหนึ่ง มีลักษณะเป็นการศึกษาค้นหาความจริงที่สิ้นสุด เดิมทีเรียกว่า “ปฐมปรัชญา” (First Philosophy) หรือปรัชญาเริ่มแรก (Primary Philosophy) ซึ่งเป็นชื่อเรียกผลงานของ อริสโตเติ้ล (Aristotle) อีกอย่างหนึ่ง เหตุที่เรียกวิชาอภิปรัชญานี้ว่า First Philosophy เนื่องจากว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักพื้นฐานที่แท้จริงของจักรวาลและเป็นวิชาที่ควรศึกษาเป็นอันดับแรก ส่วนวิชาการต่าง ๆ ในสมัยแรก ๆ นั้น ก็รวมอยู่ในปฐมปรัชญาทั้งนั้น เพราะหลักการของปฐมปรัชญาสามารถใช้อธิบายวิชาอื่น ๆ ได้ทุกวิชา จึงเป็นศาสตร์ต้นตอแห่งศาสตร์ทั้งปวง หรือเป็นศาสตร์ที่ทำให้เกิดศาสตร์ต่าง ๆ

ดังนั้น อภิปรัชญา เป็นวิชาที่เกี่ยวกับพื้นฐานที่แท้จริงของจักรวาล เป็นศาสตร์เบื้องต้นแห่งศาสตร์ทั้งปวง เพราะศาสตร์หรือวิชาการต่าง ๆ ได้รวมอยู่ในปฐมปรัชญาหรืออภิปรัชญานี้ทั้งนั้น เราจึงสามารถนำหลักการของปฐมปรัชญาไปอธิบายสาขาของปรัชญาได้ทุกสาขา

อภิปรัชญา (Metaphysics) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology หรือ Theory of Being) คำว่า “ภววิทยา” มีความหมายว่า วิชาที่ว่าด้วยความมีอยู่, ความเป็นอยู่ มาจากภาษาสันสกฤต ๒ คำคือ

๑. ภว : มี, เป็น

๒. วิทยา : วิชา, ศาสตร์

คำว่า “Ontology” มาจากรากศัพท์ภาษากรีก ๒ คำคือ

๑. Onto : Being

๒. Logos : Science

คำว่า “Ontology” เป็นคำที่นักปรัชญาสมัยโบราณใช้มาก่อนคำว่า “Metaphysics” เพราะคำว่า Metaphysics เพิ่งจะเริ่มใช้กันเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์ศักราชตามที่ สเตช (W.T. Stace) ได้ชี้แจงไว้ คือเมื่อแอนโดรนิคัส (Andronicus) จัดพิมพ์งานของ อริสโตเติ้ล (Aristotle) เข้าเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำเอาตำราปฐมปรัชญาไปพิมพ์ไว้หลังฟิสิกส์ คำว่า “Metaphysics” (เมตาฟิสิกส์) จึงมีความหมายว่า “มาหลังฟิสิกส์” “ล่วงพ้นฟิสิกส์” (After Physics) กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งนอกเหนือฟิสิกส์

เมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์ คำว่า “Metaphysics” ในภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของอภิปรัชญาใช้คำว่า “Meta ta Physika” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Metaphysics มีรากศัพท์มาจากคำ ๒ คำคือ

Meta : After, Above (หลัง, เบื้องหลัง, ล่วงเลย)

Physika : Physics = Nature (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส, สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยอินทรีย์)

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า “Metaphysics” จึงหมายถึง “After Physics” แปลว่า “สิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัส, สิ่งที่อยู่หลังฟิสิกส์, สิ่งที่อยู่เบื้องหลังวัตถุ หรือวิชาที่ว่าด้วยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่รู้สึกทางประสาทสัมผัส”

จากความหมายดังกล่าวนี้ มีนักปราชญ์ของไทยบางท่าน ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นใช้อีกศัพท์หนึ่งคือ “อตินทรีย์วิทยา” (อติ + อินทรีย์ = ล่วงเลยอินทรีย์ หรือล่วงเลยประสาทสัมผัส)

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า คำว่า “อภิปรัชญา” มีไวพจน์ที่ใช้อยู่ ๔ อย่างได้แก่

๑. อภิปรัชญา

๒. ความรู้ขั้นปรมัตถ์

๓. Meta ta physika

๔. อตินทรีย์วิทยา

เมื่อแยกพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า ไวพจน์ที่ ๑ คืออภิปรัชญา และไวพจน์ที่ ๒ คือความรู้ขั้นปรมัตถ์ มีความหมายที่เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการค้นหาความจริงสูงสุด ไม่มีอะไรที่จริงไปกว่านี้อีกแล้ว ภาษาปรัชญาเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า การค้นหาความจริงขั้นอันติมะ (Ultimate Reality) ในการศึกษาค้นหาความจริงดังกล่าวนั้น เราอาจจะวิเคราะห์ได้ ๓ ขั้นตอน (ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์, ๒๕๒๕: ๓ - ๔) ตามความจริงที่เป็นพื้นฐาน นั่นคือ

ความจริงขั้นสมมติ เป็นความจริงที่เราสมมติขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เราได้รับการศึกษาหรือสั่งสอนให้เรียกวัตถุที่เหลว ๆ ดื่มได้ อาบได้ ล้างถ้วยชามได้ ฯลฯ ว่า “น้ำ” เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นลม หรือเป็นไฟ หรือเป็นดิน การที่เราเรียกอย่างนั้นก็เพราะเรียกตามที่เคยได้รับการศึกษาหรือได้รับการสั่งสอนอบรมมา ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงขั้นสมมติ

ความจริงตามสภาวะ เป็นความจริงที่อาศัยสภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีลักษณะเป็นอีกอย่าง แต่เมื่อถึงขั้นนี้มีลักษณะอย่างใด เราก็เรียกตามลักษณะเช่นนั้น เช่น การเรียกตามสภาวะนั้น อาจจะมีได้เพราะสาเหตุหลายอย่าง เป็นต้นว่า วิทยาการมีการก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาทดลอง น้ำที่เราใช้ดื่ม อาบ หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ นั้น เมื่อได้รับการศึกษาทดลองแล้ว ได้กลายเป็นอย่างอื่นไป ไม่ใช่น้ำ เพราะเป็นเพียงสารประกอบทางเคมีที่เป็นไฮโดรเจน ๒ ปรมาณู รวมกับปรมาณูของอ๊อกซิเจน อีก ๑ เท่านั้น อย่างที่ตั้งเป็นสูตรกันว่า H๒O นั่นเอง ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงตามสภาวะ

ความจริงขั้นปรมัตถ์ เป็นความจริงสูงสุด เมื่อเราวิเคราะห์ลงไปเรื่อย ๆ โดยเอาปรมาณูของไฮโดรเจน และปรมาณูของอ๊อกซิเจนมาแยกย่อยลงไปอีก จะได้เป็น อีเล็กตรอน โปรตรอน และนิวตรอน และอนุภาคที่เล็กกว่าปรมาณูแล้ว สภาวะเช่นนี้ สูตรที่เราเรียกว่า H๒O ก็หายไป ก็จะมีแต่ความว่างเปล่า ลักษณะความจริงเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงขั้นปรมัตถ์

ส่วนไวพจน์ที่ ๓ คือ Meta ta physika (Metaphysics) และไวพจน์ที่ ๔ คือ อตินทรีย์วิทยา มีความหมายเหมือนกัน กล่าวคือ ความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์

นักปรัชญาตะวันตก ได้แบ่งวัตถุในโลกออกเป็น ๒ อย่างคือ (ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์, ๒๕๒๕: ๔)

๑. สิ่งที่ปรากฏ (Appearance)

๒. สิ่งที่เป็นจริง (Reality)

นักปรัชญาทั่วไปยอมรับว่า สิ่งที่ปรากฏต่อประสาทสัมผัสทั้ง ๕ นั้น เป็นเพียงสิ่งปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องมีสิ่งที่เป็นความจริงอยู่ในสิ่งที่ปรากฏนั้น เช่น การเห็นเชือกเป็นงู

ในขณะที่เราเดินทางตอนกลางคืนที่มีแสงสว่างพอสลัว ๆ พอเดินผ่านสนามหญ้า มองไปเห็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ความยาวศอกเศษ ๆ เราถึงกับสะดุ้งตกใจร้องออกมาว่า “งู ๆ ๆ” แต่พอได้สติหายตกใจ นำเอาไฟฉายมาส่องดูแล้วจึงร้องออกมาด้วยความโล่งใจว่า “อ๋อ เชือกนั่นเอง ตาเราฝาดไป เห็นเชือกเป็นงู”

นั่นคือ นักปรัชญาจะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า จะต้องมีของจริงเป็นฐานรองรับในทุกปรากฏการณ์ เช่น “การเห็นเชือกเป็นงู” กล่าวคือ เชือกเป็นของมีอยู่จริง แต่เพราะเห็นเชือกไม่ชัด จึงเห็นเป็นงู งูในที่นี้ไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงภาพปรากฏของเชือกเท่านั้น

ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ นักปรัชญาจะพูดถึงลักษณะเหล่านี้ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งฝ่ายตะวันตก และฝ่ายตะวันออก ที่ต่างกันเห็นจะเป็นการเรียกชื่อ นั่นคือปรัชญาตะวันตก เรียกว่า “Metaphysics” เพราะเป็นการค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง อันจะมีผลในการทำให้แจ้งสัจจะของปรากฏการณ์ธรรมชาติ และข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่าง ๆ ส่วนปรัชญาตะวันออก เรียกว่า “อภิปรัชญา หรือปรมัตถธรรม” เพราะเมื่อค้นพบปรมัตถธรรมแล้วก็จะนำมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้ก้าวสู่ระดับสูงของการประพฤติต่อไป



ความเป็นมาของอภิปรัชญา (History of Metaphysics)

ดังที่ทราบมาแล้วว่า คำว่า “อภิปรัชญา” (ปรัชญาอันยิ่งใหญ่, ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่) มาจากภาษาอังกฤษว่า “Metaphysics” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก Meta + Physics รวมกันแล้วแปลว่า “สภาวะที่อยู่เหนือการสัมผัส” นั่นหมายถึงว่า อภิปรัชญา เป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือการรู้เห็นทั่วไป

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้อธิบายไว้ว่า การให้ความหมายหรือการแปลศัพท์ของคำว่า Metaphysics นั้น จะแปลตามมูลศัพท์หาได้ไม่ เพราะว่าคำนี้เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ นั่นคือหลังจากที่เพลโต้ (Plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้ทำให้วิชา Philosophy เจริญขึ้น เพลโต้ถือว่า วิชานี้เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่อริสโตเติ้ล (Aristotle) มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ในหนังสือที่อริสโตเติ้ล แปลและเรียบเรียงขึ้นเล่มหนึ่งได้นำเอาเรื่อง First Philosophy มาเรียงไว้ในตอนท้าย ๆ ซึ่งต่อมาจากเรื่องฟิสิกส์ หรือปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosophy)

ในหนังสือดังกล่าว ได้จัดเรียงลำดับไว้ดังนี้

๑. คณิตศาสตร์ (Mathematics)

๒. กายภาพของโลก (Physics)

๓. ปฐมปรัชญา (First Philosophy)

๔. ตรรกศาสตร์ (Logic)

๕. จิตวิทยา (Psychology)

๖. จริยศาสตร์ (Ethics)

๗. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)

สเตช (W.T. Stace) ได้ชี้แจงไว้ว่า คำว่า Metaphysics เป็นคำที่ได้มาโดยบังเอิญ คือประมาณ พ.ศ. ๔๘๐ เมื่อแอนโดรนิคัส (Andronicus) ได้รวบรวมผลงานของอริสโตเติ้ลเข้าเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำเอาตำราปฐมปรัชญาไปพิมพ์ไว้หลังฟิสิกส์ คือเรียง First Philosophy ไว้หลังปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosophy หรือ Physics) และ นีโคลาอุส (Nicolaus) แห่งดามัสกัส เป็นคนแรกที่เรียก First Philosophy โดยใช้ภาษากรีกว่า Ta meta ta Physika แล้วเรียกส่วนนี้ว่า “หลังฟิสิกส์” (After Physics) กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งนอกเหนือฟิสิกส์ ภาษากรีกที่ว่า Meta ta Physika หมายความว่า “งานที่ทำนอกเหนือหรือล่วงพ้นจากทางร่างกาย, โลกเบื้องหลังกายภาพ, สิ่งที่อยู่เบื้องหลังฟิสิกส์”

คำว่า Meta (After, Above) แปลว่า “หลัง เหนือกว่า เบื้องหลัง เลยออกไป” เมื่อรวมกับ Physics จึงหมายถึงสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส หรือสิ่งที่นอกเหนือไปจากสสารและพลังงาน หรือสิ่งทั้งหลายที่ไม่อาจจะรู้หรือเข้าถึงได้ด้วยอาศัยประสาทสัมผัส ดังนั้น อภิปรัชญา จึงเป็นวิชาที่ศึกษาถึงเบื้องหลังหรือเนื้อแท้ของสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์และทดสอบด้วยประสาทสัมผัสได้

ต่อมา นักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อ โบธิอุส (A.M.S.Boethius) ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นภาษาลาตินเพียงคำเดียวว่า Metaphysica ต่อมาจึงได้กลายมาเป็น Metaphysics อย่างที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ คำว่า “Metaphysics” แต่เดิมมีความหมายเพียง “หลังฟิสิกส์”

คำว่า “ฟิสิกส์” เดิมหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติหรือในโลก ต่อมาในตอนหลัง ได้มีการแปลความหมายกว้างขวางออกไปอีกเป็นว่า Physics หมายถึง กายภาพ, ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตของประสาทสัมผัส, สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยอายตนะ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กล่าวคือสสารและพลังงาน

จะเห็นได้ว่า คำว่า อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นคำที่นำมาใช้ในสาขาปรัชญาสาขาหนึ่ง นำมาใช้ครั้งแรกประมาณ พ.ศ. ๔๘๐ หรือในศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์กาล ปรัชญาเมธีอริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้เรียกปรัชญาสาขาที่สำคัญที่สุดนี้ว่า “ปฐมปรัชญา” (The First Philosophy) ซึ่งเป็นสาขาที่ว่าด้วยความแท้จริง หรือความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส

ในปรัชญาสมัยกลาง (Medieval Period) อภิปรัชญามีความสำคัญน้อยกว่าเทววิทยา (Theology) เพราะเทววิทยาได้รับการยอมรับและศึกษากันอย่างกว้างขวาง เป็นยุคมืดของวงการปรัชญา นักปรัชญาส่วนมากเป็นพระนักบวชในคริสตศาสนา จึงเน้นเฉพาะคำสอนเกี่ยวกับคริสตศาสนาอย่างเดียว ต่อมาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ซึ่งเข้าสู่ปรัชญาสมัยใหม่ (Modern Period) อภิปรัชญา ได้มีความสำคัญเท่ากันกับเทววิทยา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน



ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ

อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องความเป็นจริงและความจริงแท้ (Reality) เกี่ยวกับโลกและจักรวาล ตลอดจนธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีความเป็นจริงอย่างไร ความเป็นจริงที่แสวงหานั้นเป็นความจริงสุดท้ายหรือความจริงสูงสุดที่เรียกว่า ความจริงอันติมะ (Ultimate Reality) อันเป็นพื้นฐานที่มาของความจริงอื่น ๆ ดังนั้น จึงทำให้ปรัชญาสาขานี้ มีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ มากมาย จะขอยกมาที่นี้เฉพาะที่เห็นสำคัญเท่านั้นคือ

๑. อภิปรัชญากับศาสนา

ระหว่างอภิปรัชญากับศาสนา มีทั้งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ที่คล้ายคลึงกันมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

อภิปรัชญาและศาสนา มีวัตถุประสงค์ขั้นต้นเหมือนกัน นั่นคือเพื่อศึกษาเบื้องหลังของโลกหรือจักรวาล

ทั้งอภิปรัชญาและศาสนา พยายามที่จะก้าวไปให้พ้นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้มองเห็นความแท้จริง

ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาเน้นการฝึกจิตว่า เป็นวิธีที่เข้าถึงความแท้จริงได้ ยกเว้นอภิปรัชญาฝ่ายสสารนิยม

ทั้งอภิปรัชญาและศาสนา เชื่อในความสามารถของจิตมนุษย์ว่าสามารถสัมผัสความแท้จริงได้ ยกเว้นอภิปรัชญาฝ่ายสสารนิยม

อภิปรัชญาและศาสนา (เทวนิยม) มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้

อภิปรัชญาใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตระ ส่วนด้านศาสนาใช้วิธีมอบกายถวายชีวิตต่อสภาพธรรมนั้น

อภิปรัชญาใช้เหตุผลในการเข้าถึงความแท้จริง ส่วนศาสนาใช้ความภักดีและศรัทธาในพระเจ้าในการเข้าถึงสัจธรรม

อภิปรัชญา ไม่เริ่มต้นศรัทธาในสิ่งที่จะศึกษาค้นคว้า แต่เริ่มต้นด้วยความสงสัย ส่วนศาสนาเริ่มต้นด้วยศรัทธา

อภิปรัชญามีขอบเขตที่จะต้องศึกษากว้างกว่าศาสนา คือว่าด้วยความแท้จริงเกี่ยวกับโลกทั้งมวล ส่วนศาสนาว่าด้วยเรื่องพระเจ้าในส่วนที่สัมพันธ์กับมนุษย์เท่านั้น

อภิปรัชญา ศึกษาเพื่อความรู้จริงเท่านั้น ส่วนศาสนามุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงความจริง

๒. อภิปรัชญากับวิทยาศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างอภิปรัชญากับวิทยาศาสตร์ที่จะพึงศึกษา คือ

อภิปรัชญา คือการคาดคะเนความจริงก่อนวิทยาศาสตร์ แนวความคิดทางอภิปรัชญาเช่น ธาเลส (Thales) บอกว่า “น้ำ เป็นปฐมธาตุของโลก หรือสรรพสิ่งมาจากน้ำ” หรือ เฮราคลิตุส (Heraclitus) บอกว่า “ไฟ เป็นปฐมธาตุของโลก หรือสรรพสิ่งมาจากไฟ” เหล่านี้เป็นต้น ถือว่าเป็นการคาดคะเน การคาดคะเนเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องของอภิปรัชญา ต่อมา เรื่องโครงสร้างของเอกภพกายภาพก็ดี เรื่องของส่วนประกอบของสิ่งทั้งหลายก็ดี เป็นหน้าที่ของศาสตร์เช่น ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ เป็นต้นที่จะต้องให้คำตอบโดยใช้วิธีการทดสอบ ทดลอง ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

๓. อภิปรัชญากับญาณวิทยา

โดยทั่วไปแล้วถือว่า อภิปรัชญากับญาณวิทยาเป็น ๒ สาขาของปรัชญา โดยอภิปรัชญานั้น เป็นการค้นคว้าถึงธรรมชาติของความแท้จริงสุดท้าย ส่วนญาณวิทยา เป็นการค้นคว้าถึงธรรมชาติของความรู้

กับปัญหาที่ว่า ระหว่างอภิปรัชญากับญาณวิทยา อะไรสำคัญกว่ากัน ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ นักปรัชญาบางกลุ่มเห็นว่าญาณวิทยามาก่อน เพราะการตรวจสอบถึงความเป็นไปได้และขอบเขตของความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญอันเป็นพื้นฐานในการแสวงหาและคันคว้าถึงธรรมชาติของความแท้จริงสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องของอภิปรัชญา แต่นักปรัชญาบางกลุ่มก็ได้เริ่มต้นปรัชญาของเขาด้วยอภิปรัชญา และถือว่าญาณวิทยาต้องสอดคล้องหรือคล้อยตามอภิปรัชญา โดยทัศนะดังกล่าวแล้ว ทั้งญาณวิทยาและอภิปรัชญา ต่างก็เป็นสาขาของตัวเองต่างหากไม่เกี่ยวเนื่องกัน

อภิปรัชญา (Metaphysics) จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมีอยู่ ความเป็นอยู่ของสรรพสิ่ง ความมีอยู่ของสรรพสิ่งก็คือความแท้จริงของสรรพสิ่ง ความแท้จริงของสรรพสิ่งย่อมเป็นความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ดังนั้น ทั้ง ๒ คำจึงเป็นอันเดียวกัน ต่างแต่ว่า Ontology ใช้มาก่อน Metaphysics ใช้ทีหลัง กล่าวคืออภิปรัชญาศึกษาเรื่องธรรมชาติที่แท้จริงเกี่ยวกับโลก วิญญาณหรือจิต และพระผู้เป็นเจ้า การที่เราจะเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของโลก วิญญาณหรือจิต และพระผู้เป็นเจ้านั้น ต้องอาศัยญาณวิทยาเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

ญาณวิทยา (Epistemology) คือทฤษฎีความรู้ เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ธรรมชาติและเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรายละเอียดของความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นความเป็นไป และตัดสินได้ว่าอะไรเป็นความจริงแท้ ซึ่งเกิดจากความรู้ที่แท้จริง เป็นการศึกษาสภาพทั่ว ๆ ไปของความรู้อย่างกว้าง ๆ

ดังนั้น อภิปรัชญาจะต้องใช้ญาณวิทยาเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งที่มีอยู่ กล่าวคือญาณวิทยา เป็นพื้นฐานหรือมูลฐานที่ทำให้เกิดปรัชญานั้น ความจริงญาณวิทยาและอภิปรัชญามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งหนึ่งจะปราศจากอีกสิ่งหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ ทฤษฎีว่าด้วยความรู้นำไปสู่ความรู้สิ่งต่าง ๆ

จะอย่างไรก็ตาม ทั้งอภิปรัชญาและญาณวิทยาต่างก็มีวิธีการอธิบายสิ่งเดียวกัน นั่นคือธรรมชาติที่แท้จริง และทั้งสองอย่างต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อค้นหาความจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง

บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา

นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความคิดทางอภิปรัชญาไว้ต่าง ๆ กัน แต่เมื่อสรุปแล้ว มีอยู่ ๕ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. ความอยากรู้อยากเห็นในความเป็นไปของธรรมชาติ

สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งลี้ลับ เข้าใจยาก เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ย่อมจะต้องการอยากรู้อยากเห็นในสิ่งนั้น ๆ เมื่อมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้น จึงพยายามค้นคว้าเพื่อให้รู้ เข้าใจในปรากฏการณ์เหล่านั้น

๒. ความบกพร่องของสัตว์โลก

เมื่อสัตว์โลกมีความบกพร่องในการดำเนินชีวิต จึงเกิดความไม่พอใจ เกิดความสงสัยว่าทำไมคนเราจึงไม่เหมือนกัน เกิดมาแล้วทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ แล้วพยายามคิดหาทางแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

๓. ความต้องการความเป็นระเบียบของสังคม

สังคมหรือชุมชน จะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ดี ในการจัดระเบียบคนในสังคมนั้น ๆ ให้มีการเป็นอยู่ด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าหากขาดระเบียบแบบแผนที่ดี ระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ไม่เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว สังคมก็จะสับสนวุ่นวาย จำเป็นจะต้องคิดค้นหาปทัฏฐานของสังคมส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่ชุมชน

๔. ความต้องการกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในการปกครอง

การเมือง หรือการปกครองจะต้องมีกฎเกณฑ์ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยทางบ้านเมือง ประชาชนจะรู้สึกผิดหวัง ถ้าบ้านเมืองขาดหลักการปกครองที่ดี มีคุณธรรม จึงต้องมีการคิดค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคม

๕. อำนาจของพระเจ้ามีมากเกินไป

ศาสนาโดยเฉพาะศาสนาเทวนิยม สอนให้เชื่อในเรื่อง พระเจ้า ซึ่งมีอำนาจมากมาย ไม่มีขอบเขตจำกัด จึงท้ายทายผู้มีสติปัญญาให้มีการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าว่า มีจริงหรือไม่ หรือมีอำนาจอย่างไร มีอำนาจจริงหรือไม่ เป็นต้น





หน้าที่ของอภิปรัชญา

นักปรัชญาเริ่มต้นแนวความคิดของตนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ อันเกิดจากความสงสัย หรือความประหลาดใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และพยายามตอบข้อสงสัยในสิ่งเหล่านั้นด้วยเหตุผล เช่น ธาเลส (Thales) มีความสงสัยเกี่ยวกับปฐมธาตุของโลก หรือบ่อเกิดของโลกว่า โลกเกิดขึ้นมาจากอะไร มีอะไรเป็นบ่อเกิด เขาพยายามหาคำตอบ จนในที่สุดเขาก็ได้คำตอบว่า “น้ำ” เป็นบ่อเกิดของโลก หรือเป็นปฐมธาตุของโลก โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่มีชีวิตที่อยู่ในโลกล้วนต้องการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์หากขาดน้ำแล้วไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ สรรพสิ่งเกิดมาจากน้ำ และจะกลับเข้าไปสู่น้ำอีก เป็นต้น

แนวความคิดของนักปรัชญาลักษณะเช่นนี้ นั่นคือแนวความคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นนี้ เป็นแนวความคิดทางอภิปรัชญา เพราะอภิปรัชญาเป็นวิชาที่เกี่ยวกับเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเอกภพ รวมไปถึงจักรวาลด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ หน้าที่ของอภิปรัชญา จึงได้แก่การสืบค้นหาอันติมสัจ (Ultimate Truth) คือความจริงที่สิ้นสุด ซึ่งอยู่เหนือความจริงที่ปรากฏแก่ประสาทสัมผัส เป็นความจริงที่ครอบคลุมสิ่งทั้งปวงได้ เป็นความพยายามของนักปรัชญาที่จะตอบข้อสงสัยของตนว่า ความเป็นจริงคืออะไร หรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลายคืออะไรกันแน่

แต่การสืบค้นหรือการแสวงหาความจริงดังกล่าวนั้น จะต้องประกอบด้วยเหตุผล เพราะจุดมุ่งหมายของการศึกษาอภิปรัชญาที่สำคัญ ก็คือเพื่อให้มนุษย์เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดเป็นอิสระ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาปรัชญาตามหลักของเหตุผล



ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา

ดังที่เราได้ศึกษามาแล้ว หน้าที่ของปรัชญาก็คือการศึกษาค้นคว้าหาความจริง หรือการพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น เนื้อหาที่สำคัญของปรัชญาก็คือ ความแท้จริงนั่นเอง เกี่ยวกับเรื่องความแท้จริงนี้ นักปรัชญาพยายามที่จะให้คำตอบตั้งต้นแต่นักปรัชญาสมัยกรีกโบราณ จนกระทั่งถึงนักปรัชญาสมัยปัจจุบัน ทั้งที่เป็นนักปรัชญาตะวันตก และนักปรัชญาตะวันออก เรื่องที่ถกเถียงกันหาคำตอบนั้น มีประเด็นใหญ่ ๆ อยู่ ๓ อย่างคือ

๑. What is Reality ความแท้จริงคืออะไร สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ อภิปรัชญา (Metaphysics)

๒. How to know Reality เรารู้ความแท้จริงได้อย่างไร สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ญาณวิทยา (Epistemology)

๓. How to act according to Reality เราควรจะทำตัวอย่างไร ให้เหมาะสมกับความแท้จริง สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ จริยศาสตร์ (Ethics)

จะเห็นได้ว่า อภิปรัชญา เป็นสาขาปรัชญาเริ่มแรกที่พยายามให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องทั้งปวง จึงเป็นสาขาที่สำคัญมาก อนึ่ง เป็นเพราะอภิปรัชญาเป็นสาขาแรกที่นักปรัชญาได้คิด และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดนักปรัชญาหรือนักคิดขึ้นในโลก เป็นสาขาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่แท้จริงอันติมะ (Ultimate Reality)ว่าอะไรเป็นอะไร หรือศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ และความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น อภิปรัชญา จึงมีหน้าที่ในการตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของเอกภพ จักรวาลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการแสวงหาความจริงขั้นพื้นฐาน

ตามที่อริสโตเติ้ล เรียกอภิปรัชญาว่า First Philosophy เพราะเป็นปรัชญาสาขาที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก และท่านยังได้กล่าวไว้อีกว่า

“มีศาสตร์อยู่ศาสตร์หนึ่ง ทำหน้าที่ค้นคว้า สืบสาวเรื่องภาวะทั่วไป หรือสัต (Being as Being) และคุณลักษณะต่าง ๆ อันเป็นสภาพของสภาวะนี้ ในปัจจุบันศาสตร์นี้หาได้เป็นอย่างเดียวกับศาสตร์ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งไม่ เพราะในจำนวนวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มักตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของภาวะ (Being) มาศึกษาสืบค้นคุณลักษณะของภาวะนั้น ๆ เท่านั้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอบเขตหรือขอบข่ายของอภิปรัชญา ได้แก่การพยายามตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของสรรพสิ่ง รวมทั้งกระบวนการของความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วย นั่นหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับเอกภพ (Cosmogony) จักรวาล (Universe) โลก (World) มนุษย์ (Man) จิต (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) ชีวิต (Life) สสาร (Matter) ธรรมชาติ (Nature) พระเจ้า (God) หรือสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) ตลอดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เพราะอภิปรัชญามุ่งให้ศึกษาค้นคว้าถึงสัจธรรมหรือความเป็นจริงของเอกภพ หรือความเป็นจริงของสรรพสิ่งเท่าที่มีอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอยู่ในลักษณะใดก็ตาม ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งที่สัมผัสได้ ทั้งที่สัมผัสไม่ได้

ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขอบเขตหรือขอบข่ายของอภิปรัชญา จึงมีอยู่ ๓ ประเด็นคือ

๑. ปัญหาเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติ (Cosmogony and Nature)

เป็นการตอบปัญหาหรือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเอกภพหรือธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของอวกาศ กาล สสาร ความเป็นเหตุและผล ชีวิต วิวัฒนาการ ความเป็นไปแบบเครื่องจักรกลของเอกภพ และความเป็นไปแบบมีวัตถุประสงค์

เพื่อจะหาคำตอบว่า สรรพสิ่งหรือสิ่งเหล่านี้ มีความเป็นมาอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น ศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับกาล (เวลา) ว่ามีกำเนิดหรือบ่อเกิดอย่างไร เป็นไปโดยมีเป้าหมายหรือไม่ หรือมีเป้าหมายอย่างไร หรือใครเป็นผู้กำหนดเวลา ใครเป็นผู้สร้างเวลาเหล่านี้เป็นต้น

๒. ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (Mind , Soul or Spirit)

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของวิญญาณ กำเนิดของวิญญาณ จุดหมายปลายทางของวิญญาณ และความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย

เกี่ยวกับปัญหานี้ นักปรัชญาพยายามศึกษาเพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า จิตของมนุษย์เรานั้นคืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร มนุษย์มีอิสระในการคิดในการหาคำตอบหรือไม่ หรือมนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจ และการเลือกกระทำหรือไม่ มากน้อยเพียงใด จะเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาดูเกี่ยวกับวิญญาณ อัตตา และจิต ว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นคนละอย่างกัน เพราะนักปรัชญาแต่ละสำนัก หรือแต่ละคนจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตหรือวิญญาณนี้แตกต่างกัน

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องจิต หรือวิญญาณ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน ตั้งแต่นักปรัชญาสมัยโบราณ จนกระทั่งนักปรัชญาปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อยุติที่แน่นอน เพราะเหตุว่า จิตหรือวิญญาณ ตามแนวความคิดของนักปรัชญาหรือนักปราชญ์แต่ละท่านนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ จึงเป็นขอบข่ายหรือเรื่องที่ต้องพยายามหาคำตอบในทางอภิปรัชญา

๓. ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องของภววิทยาด้วย (God or Absolute and Ontology)

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของพระเจ้า คุณลักษณะของพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับเอกภพ และกับวิญญาณ

ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้านั้น นักปรัชญาพยายามตอบคำถามที่ว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่ พระเจ้าสร้างโลกได้อย่างไร สร้างโลกจริงหรือไม่ เมื่อสร้างแล้วทำไมจะต้องทำลายโลก หรือสร้างโลกทำไมไม่สร้างให้สมบูรณ์แบบ พระเจ้ามีอำนาจจริงไหม มีอำนาจมากน้อยเพียงใด หรือพระเจ้ามีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อแท้ของทุกสิ่งในเอกภพ ความจริงขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า ความจริงอันติมะ (Ultimate Reality) คืออะไร สิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ เป็นสสารหรืออสสารกันแน่ ?

ดังนั้น อภิปรัชญา (Metaphysics) จึงเป็นการศึกษาถึงความแท้จริงของสรรพสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของจิตหรือวิญญาณ เรื่องของพระเจ้าหรือสิ่งสัมบูรณ์ โดยศึกษาว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร มีการดำรงอยู่อย่างไร เราสามารถที่จะรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นต่างกันหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

นักปรัชญาฝ่ายอภิปรัชญา ได้พยายามให้คำตอบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ โดยพยายามศึกษาปรัชญาสาขาต่าง ๆ ที่ให้ทัศนะเกี่ยวกับโลกแห่งผัสสะ และโลกเหนือผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีบ่อเกิดอย่างไร ทำไมต้องเกิดมีปัญหาอย่างนั้นขึ้น



ทฤษฎีทางอภิปรัชญา

นับตั้งแต่มนุษย์เกิดมา เกิดมาพร้อมกับความคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ หรือเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เพราะมนุษย์เริ่มสนใจสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากการเสื่อมศรัทธาในเรื่องพระเจ้า ดังนั้น พวกเขาจึงเกิดความสงสัยขึ้นว่า ในเมื่อพระเจ้าไม่ได้เป็นปฐมธาตุของสรรพสิ่ง หรือไม่ได้เป็นบ่อเกิดของโลกแล้ว อะไรเป็นปฐมธาตุของโลก หรืออะไรเป็นบ่อเกิดอันที่แท้จริงของโลก ลักษณะแนวคิดเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แนวความคิดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับอภิปรัชญาทั้งนั้น

แนวความเกี่ยวกับอภิปรัชญาจึงมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน และนักปรัชญาจำนวนมากพยายามคิดหาคำตอบให้แก่ตนเอง ซึ่งต่างคนก็ต่างมีแนวความคิดไปคนละอย่าง บางทัศนะก็มีนักปรัชญาเห็นพ้องต้องกันหลายคน จึงได้รวมกลุ่มกันเกิดเป็นลัทธิหรือทฤษฎีทางอภิปรัชญาขึ้น ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีพยายามที่จะค้นหาความจริงทางอภิปรัชญาหรือเกี่ยวกัลเอกภพ เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับจิตวิญญาณ หรือแม้แต่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า

ในปัจจุบันนี้ ทฤษฎีทางอภิปรัชญา มี ๕ ทฤษฎีคือ

๑. ทฤษฎีสสารนิยม (Materialism)

๒. ทฤษฎีจิตนิยม (Idealism)

๓. ทฤษฎีเอกนิยม (Monism)

๔. ทฤษฎีทวินิยม (Dualism)

๕. ทฤษฎีพหุนิยม (Pluralism)

ในบรรดาทฤษฎีเหล่านี้ จะกล่าวไว้ในบทนี้พอเป็นสังเขป ส่วนรายละเอียดจะกล่าวในบทต่อไป



จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก

นักปรัชญาตะวันตกที่มีแนวคิดเกี่ยวกับจิตนิยมนั้นมีมากมาย จะกล่าวไว้ในที่นี้เฉพาะนักปรัชญาที่เด่น ๆ ดังต่อไปนี้

๑. เพลโต้ (Plato : ๔๒๗ -๓๔๗ ก่อนค.ศ.)



ด้านอภิปรัชญา เพลโต้ ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาจิตนิยม ท่านได้แบ่งโลกออกเป็น ๒ อย่างคือ

โลกที่ปรากฏ หรือโลกทางประสาทสัมผัส (The world of sense - perception) หมายถึงโลกที่ปรากฏทางประสาทสัมผัส หรือโลกที่เราสามารถมองเห็นได้ เป็นเพียงลักษณะที่ปรากฏต่อเราคล้ายกับว่าเป็นลักษณะที่แท้จริง และที่ปรากฏอย่างไรนั้น แล้วแต่เราจะมองจากแง่ไหน เป็นโลกที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นการลอกเลียนแบบมาจากโลกแห่งแบบที่ไม่สมบูรณ์ และมีการเปลี่ยนแปลง

โลกแห่งความคิด หรือแบบ (The transcendent world of Ideas or Form) เพลโต้ ถือว่า โลกที่อยู่เหนือประสาทสัมผัส เป็นโลกที่จริงกว่าโลกที่เราประจักษ์อยู่ในชีวิตประจำวัน โลกที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสนั้น เป็นโลกที่แท้จริงทางภววิทยา

เพลโต้อธิบายว่า โลกแห่งแบบเท่านั้นที่เป็นจริง เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ และเป็นต้นแบบของโลกแห่งประสาทสัมผัส นั่นก็คือโลกแห่งผัสสะนั้น เป็นเพียงเงาหรือลอกแบบมาจากของโลกแห่งแบบ

ในเรื่องนี้ เพลโต้ได้ตั้งทฤษฎีแห่งแบบขึ้น เรียกว่า Theory of Form หรือ Theory of Ideas ทฤษฎีมโนคติ โดยท่านได้ใช้อธิบายสรรพสิ่งในโลกว่า สรรพสิ่งที่ปรากฏต่อเรา หรือที่เราสัมผัสได้นั้น เกิดมาจากโลกแห่งมโนคติ ซึ่งเป็นแบบที่ตายตัวของแต่ละอย่าง เช่น คน มีจำนวนมากมาย ก็มีแบบที่สากลของคน เป็นคนสากล (Universe Man) ไม่มีลักษณะเป็นชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ แต่เป็นคนรวม ๆ หรือต้นไม้ก็มีแบบสากลของต้นไม้ ไม่ใช้ต้นสัก ต้นยาง ต้นจามจุรี เป็นต้น

สิ่งที่แยกออกมาจากโลกแห่งแบบนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยงแท้ถาวร เช่น นายดำ ตอนเกิดใหม่ ๆ ก็เป็นเด็ก แล้วโตขึ้นเป็นเด็กรุ่น คนหนุ่ม คนวัยกลางคน คนแก่ และตายไปในที่สุด ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ความเป็นคนของนายดำยังเหลืออยู่ ความเป็นคนนี่แหละคือ โลกแห่งมโนคติ หรือโลกแห่งแบบ ดังนั้น ความหมายของมโนคติก็คือ ความคิดรวบยอดที่มีต่อรูปธรรม และนามธรรมทั้งหลาย



คุณลักษณะของแบบหรือมโนภาพ

แบบเป็นสารัตถะ หมายถึงสภาวะที่สมบูรณ์โดยตัวเองอยู่เหนือปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่ถูกสิ่งใดทำให้เกิด แต่เป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งอื่น ๆ

แบบเป็นสากล กล่าวคือไม่เจาะจง เฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นแบบของม้าก็ไม่ใช่ของม้าตัวใดตัวหนึ่ง แต่หมายถึงม้าทั่วไป นั่นเองแบบของม้า

แบบเป็นความคิดไม่ใช่สิ่งของหรือวัตถุ เพราะหากเป็นวัตถุหรือสิ่งของก็ต้องพบในที่ใดที่หนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นความคิดก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความคิดที่คนคิดขึ้นมาเอง แต่เป็นความคิดที่เป็นแบบจะต้องเป็นจริงโดยตัวของมันเองและมาจากโลกแห่งแบบ

แบบแต่ละอย่างเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือมีเพียงหนึ่งในท่ามกลางสิ่งที่มาร่วมแบบมากหลาย เช่น แบบของคนมีเพียงหนึ่งเดียว ทั้ง ๆ ที่มีคนเป็นจำนวนมาก และไม่มีแบบมากกว่าหนึ่ง สำหรับเรื่องแต่ละอย่าง

แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆ ในโลกเกิดขึ้นแล้วล้วนแตกสลายไป แต่แบบไม่มีการแตกสลาย คงนิรันดร ไม่ผันแปร เช่น แบบของคน แม้คนจะตายไป แต่แบบไม่ตายไปกับคนด้วย

แบบอยู่เหนือ กาละ และเทศะ กล่าวคือ หากแบบอยู่ในกาล จะต้องเปลี่ยนแปลง หากอยู่ในเทศะก็จะพบได้ในที่ใดที่หนึ่ง

แบบเป็นเหตุผล นั่นเองจะรู้ได้ด้วยเหตุผล หรือทางปัญญาเท่านั้น

สำหรับทรรศนะเกี่ยวกับมนุษย์ของเพลโต้นั้น เขาเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์มี ๒ อย่างคือ กายกับจิต ร่างกายอยู่ภายใต้การบังคับของจิต การแสดงออก พฤติกรรม และนิสัยใจคอของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่ที่จิตเป็นผู้สั่งให้เป็นไป

จิตทำหน้าที่ ๓ อย่างหรือจิตมี ๓ ภาค ดังนี้

ภาคตัณหา (Appetitive Soul) ได้แก่ส่วนที่มีความต้องการ หรือความอยาก เป็นความต้องการทางร่างกาย

ภาคน้ำใจ (Spirited Soul) ได้แก่ส่วนที่มีอารมณ์ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมร่างกาย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาคอารมณ์ เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยวัตถุ เช่น เรื่องของความมีระเบียบ ความกล้าหาญ ความมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น

ภาคเหตุผล (Rational Soul) ได้แก่ส่วนที่มีเหตุผล ซึ่งมีสติปัญญามาแต่กำเนิด เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์รู้จักความจริง

๒. อริสโตเติ้ล (Aristotle : ๓๘๔ - ๓๒๒ ก่อนค.ศ.)



อริสโตเติ้ล ถือว่า วิญญาณเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นเนื้อสารทางจิต แต่เป็นเพียงรูปแบบที่จัดระบบร่างกาย วิญญาณทำหน้าที่ ๒ อย่างคือ

หน้าที่ระดับต่ำ ได้แก่การรับรู้ การจำ การจินตนาการ และการจงใจ ซึ่งมีการสูญสลายไปเมื่อร่างกายแตกดับ

หน้าที่ระดับสูง ได้แก่การการคิดหาเหตุผล เป็นอมตะ ไม่สูญสลาย

นอกจากนั้น อริสโตเติ้ล ยังได้แบ่งวิญญาณของสิ่งมีชีวิตออกเป็น ๓ ชนิดคือ

วิญญาณของพืช ซึ่งมีชีววิญญาณ หรือกายวิญญาณ (Vegetative or Appetitive Soul) มีความต้องการพลัง ต้องการอาหาร การเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์ เป็นวิญญาณระดับต่ำสุด

วิญญาณของสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมีผัสสวิญญาณ หรือจิตวิญญาณ หรือวิญญาณสัตว์ (Sensitive or Spirited Soul) มีความต้องการพลัง ต้องการอาหาร การเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์ เช่นเดียวกับพืช

วิญญาณของมนุษย์ ซึ่งมีมนัสวิญญาณ หรือพุทธิวิญญาณ หรือวิญญาณมนุษย์ (Intellective Soul) มนุษย์ประกอบด้วยวิญญาณที่พิเศษ นอกจากจะประกอบด้วยวิญญาณแบบพืชและสัตว์แล้ว ยังมีปัญญาคิดหาเหตุผลอีกด้วย มนุษย์จึงแตกต่างจากสัตว์ตรงที่มีเหตุผลและรู้จักคิด (Man is thinking animal)

๓. เดส์การ์ตส์ (Rene Descarstes : ๑๕๙๖ - ๑๖๕๐)



ในเรื่องเกี่ยวกับจิต เดส์การ์ตส์เป็นทวินิยม ให้ทัศนะว่า กาย กับจิต เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และเป็นคนละอย่างกัน กาย เป็นสสาร หรือรูปธรรม ส่วนจิต เป็นอสสาร หรือเป็นนามธรรม แต่ทั้งสองอย่างมีปฏิกริยาต่อกัน กล่าวคือ กิจกรรมของกายก่อให้เกิดกิจกรรมของจิต และกิจกรรมของจิตก็ก่อให้เกิดกิจกรรมทางกาย เพราะทั้งกายและจิตมีความจริงเท่ากัน และมีอิทธิพลต่อกัน ที่เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “อันตรกิริยานิยม” (Interactionism) เช่น เมื่อเรารู้สึกกลัว หัวใจก็จะเต้นแรง แสดงว่าจิตมีอิทธิพลต่อกาย หรือเมื่ออยู่ในห้องที่ร้อนอบอ้าว จะรู้สึกหงุดหงิด แสดงว่ากายมีอิทธิพลต่อจิต อีกอย่างหนึ่งความรู้สึกเสียใจ ทำให้น้ำตาไหล แสดงว่าจิตมีอิทธิพลต่อกาย หรือมีดบาดมือ ทำให้เกิดความเจ็บปวด แสดงว่ากายมีอิทธิพลต่อจิต เหล่านี้เป็นต้น

เดส์การ์ตส์ได้พิสูจน์ความมีอยู่ของจิต ด้วยทฤษฎีความสงสัย ตามมูลบทกล่าวคือ

๑. ข้าพเจ้ามีความสงสัย (I doubt)

๒. เมื่อข้าพเจ้าสงสัย ก็ต้องมีผู้สงสัย (I doubt, therefore, doubter exists)

๓. เมื่อมีผู้สงสัย ก็จะต้องมีผู้คิด (Doubter exists, therefore, thinker exists)

๔. เพราะฉะนั้น ผู้คิดก็ต้องมีอยู่ (Therefore thinker exists)

คำว่า “ผู้คิด” ในที่นี้หมายถึง “จิต” จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ ดังที่เดส์การ์ตส์ได้สรุปไว้ว่า “ข้าพเจ้าคิด ข้าพเจ้าจึงมีอยู่” ( I think, therefore, I am)

๔. ยอร์จ เบิร์คเล่ย์ (George Berkeley : ๑๖๘๕ - ๑๗๕๓)



เบิร์คเล่ย์ (George Berkeley) เป็นนักปรัชญาประสบการณ์นิยมชาวไอแลนด์ เขายอมรับว่า คุณสมบัติของวัตถุภายนอกโลก หรือประสบการณ์ต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับจิตของผู้รับรู้ สิ่งที่เรารู้ในขณะนี้และทุกอย่างที่จะรู้ต่อไปภายหน้าก็คือสภาวะจิตของเรานั่นเอง ซึ่งใช้คำว่า “ความคิด” หรือ “จินตภาพ” (Ideas)

เบิร์คเล่ย์ เป็นนักปรัชญาประสบการณ์นิยม แต่เขาก็ยอมรับว่า ความคิดหรือจินตภาพ ซึ่งเกิดจากจิตก็เป็นความจริงด้วยเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เขาถูกเรียกว่า “นักปรัชญาจิตนิยม” ด้วยเช่นกัน เขาเชื่อว่า วัตถุทั้งหลายพร้อมทั้งคุณสมบัติทุกอย่างของมัน ไม่ว่าจะเป็นปฐมภูมิและทุติยภูมิ ล้วนขึ้นอยู่กับการรับรู้ของจิตพร้อมกับวัตถุ จึงไม่ได้มีความเป็นจริงในตัวเอง เป็นแต่เพียงความคิดของจิตมนุษย์เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า แก่นแท้ของวัตถุคือการถูกรู้ด้วยจิต บางครั้งแนวความคิดของเบิร์คเล่ย์ อาจถูกเรียกว่า “อสสารนิยม” (Immaterialism) นั่นคือ ทุกสิ่งที่เรารับรู้ ได้เป็นเพียงความคิดอันหนึ่ง เพราะความคิดต่างๆ เป็นเรื่องของจิตทั้งนั้น

อาจกล่าวได้ว่า เบิร์คเล่ย์ เป็นนักปรัชญาจิตนิยม (Spiritualism) เพราะเน้นหลักของจิต หรือการรับรู้ในวัตถุภายนอก สิ่งที่ทำให้คนเรารับรู้วัตถุภายนอกได้ก็คือจิต ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่จิตหรือแนวความคิดเกี่ยวกับวัตถุนั้น ๆ

เบิร์คเล่ย์ ได้สรุปไว้ว่า เขาปฏิเสธความมีอยู่ของสสาร เน้นเฉพาะจิต หรือความคิดเกี่ยวกับวัตถุนั้น ๆ เท่านั้น เขาเรียกปรัชญาของตนเองว่า “จิตนิยมแบบอัตนัย” (Subjective Idealism) เบิร์คเล่ย์เน้นหลักของความคิดที่เป็นนามธรรม ความคิดนี่แหละที่เขาเรียกว่าประสบการณ์ อย่างประสบการณ์การเห็น เขาก็ใช้คำว่า ความคิดที่เป็นความเห็น

๕. ยอร์จ วิลเฮลม ฟรีดรีช เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel : ๑๑๗๐ – ๑๘๓๑)



เฮเกล (Hegel) เป็นนักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมัน เขาเชื่อว่า เอกภพทุกอย่างที่ ปรากฏอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์นั้น เป็นเพียงมายา แต่มายาไม่ถือว่าไร้ประโยชน์ เพราะมายานั้นจะต้องมีการสัมพันธ์กันไปในเอกภพสัมพัทธ์ สิ่งที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ เพราะเฮเกลเชื่อว่า ทุกอย่างที่เป็นจริงนั้น จะต้องมีการเคลื่อนไหวและรู้จักพัฒนา และทุกส่วนนั้นจะต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด การเข้าถึงความจริงจะต้องอาศัยหลักทางตรรกวิทยา

เฮเกล ถือว่า ความแท้จริงมีเพียงจิตดวงเดียว เรียกว่า สิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute) เพราะเป็นต้นตอหรือต้นกำเนิดแห่งจิตทั้งปวง ลักษณะของจิตคือหยุดนิ่งไม่ได้ จะต้องมีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เช่นนั้น จิตจะไม่มีตัวตน ไม่เรียกว่า จิต การเคลื่อนที่ของจิตนั้นเป็นการพัฒนาแบบปฏิพัฒนาการ (Dialectic) แบ่งออกเป็น ๓ ระยะคือ

๑. จิตดั้งเดิม เป็นจิตที่บริสุทธิ์ (Thesis)

๒. จิตขัดแย้ง ซึ่งแสดงตัวออกมาเป็นสสาร (Anti – Thesis)

๓. จิตสังเคราะห์ เป็นสสารสำนึกตัวเองว่าเป็นจิต (Synthesis)

ในทัศนะของเฮเกล สิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute) มีภาวะอย่างปรมาตมันหรือวิญญาณสากลของพราหมณ์ เพราะเขาถือว่า สิ่งสัมบูรณ์นั้น เป็นภาวะที่อยู่อย่างบริสุทธิ์ ในอาณาจักรแห่งความคิดบริสุทธิ์ โดยที่เขาถือว่าสรรพสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่เกิดจากจิต จิตทำหน้าที่รวบรวมเอาสรรพสิ่งและสรรพปรากฎการณ์ เหมือนดั่งฟิล์มภาพยนตร์ที่เก็บภาพต่าง ๆ เอาไว้ จิตก็ทำหน้าที่อย่างนี้เรียกว่า “จิตสัมบูรณ์” ดังนั้น สิ่งสัมบูรณ์ในแนวความคิดของเฮเกลก็คือจิตนั่นเอง

เฮเกล กล่าวว่า วิญญาณเป็นอนันตะ คือไม่จำกัด แต่ที่มีอยู่ในโลกไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอาศัยอยู่ในร่างกายที่ถูกจำกัด วิญญาณจะทำหน้าที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว

เราสามารถสรุปแนวคิดของเฮเกลได้ดังนี้

๑. ความคิด เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดมาจากจิตดวงเดียว

๒. ปรากฏการณ์ทั้งหลายอาศัยจิต หรือเหตุผลขั้นสูง จิตเป็นตัวเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ

๓. การทำงานของจิต อาศัยความคิด

๖. อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant : ๑๗๒๔ - ๑๘๐๔)



ค้านท์ เป็นตัวแทนของทฤษฎีจิตนิยมอปรากฏการณ์ เขาได้แบ่งสิ่งทั้งปวงออกเป็น ๒ อย่างคือ

สิ่งที่ปรากฏหรือปรากฏการณ์ เราสามารถรู้ได้ด้วยเหตุผลทางทฤษฎี เหตุอ้างอิง

สิ่งที่ไม่ปรากฏหรืออปรากฎการณ์ หรือสิ่งในตัวเอง เราไม่สามารถรู้ธรรมชาติของมันได้ เรารู้เพียงว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่ สิ่งในตัวเองสร้างเพทนาการขึ้นในจิต จิตจัดเพทนาการให้เป็นระบบด้วยการคิดหาเหตุผล ดังนั้น ความรู้ก็คือการที่จิตจัดเพทนาการให้เป็นระบบนั่นเอง

ทฤษฎีของค้านท์ที่จัดเป็นจิตนิยม เพราะเชื่อว่า โลก วิญญาณและพระผู้เป็นเจ้าเป็นเพียงมโนภาพหรือความคิด เพทนาการซึ่งเป็นเนื้อหาของความรู้ก็เป็นความคิด และการคิดหาเหตุผลก็เกิดจากจิตและทำหน้าที่ภายในจิต ทฤษฎีของค้านท์ที่จัดเป็นปรากฏการณ์นิยม เพราะเชื่อว่าเรารู้ได้เพราะปรากฏการณ์ ส่วนอปรากฎการณ์เราไม่สามารถรู้ได้



จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก

เมื่อพูดถึงปรัชญาตะวันออก โดยมากเราจะเน้นไปที่แหล่งอารยธรรมของโลก ซึ่งเป็นที่เกิดของศาสนาและปรัชญา นั่นคือปรัชญาอินเดีย จะอย่างไรก็ตาม แหล่งที่เกิดของปรัชญาตะวันออกก็ยังมีแหล่งอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือญี่ปุ่น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ดังนั้น ในส่วนนี้จะพูดถึงแนวความคิดเกี่ยวกับจิตนิยมของทางตะวันออก โดยเน้นเฉพาะปรัชญาอินเดีย เพราะปรัชญาจีน และปรัชญาญี่ปุ่น จะเป็นลักษณะปรัชญาชีวิต และปรัชญาสังคม ซึ่งเป็นปรัชญาประยุกต์มากกว่าเป็นปรัชญาบริสุทธิ์



อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ

เรื่องจิต หรือวิญญาณ เป็นการค้นคว้าถึงธรรมชาติของวิญญาณ ความมีอยู่ของวิญญาณ จุดหมายปลายทางของวิญญาณ ลักษณะ โครงสร้าง กำเนิด หน้าที่ของจิตหรือวิญญาณ ความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย หรือความสัมพันธ์ระหว่างจิตและสสาร และศึกษาเกี่ยวกับตัวของจิตหรือวิญญาณว่าคืออะไรกันแน่

โดยทั่วไปแล้วนักปรัชญาจะถือว่า จิตเป็นความแท้จริงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น สสารหรือวัตถุเป็นเพียงปรากฏการณ์ของจิตเท่านั้น เช่น ร่างกายของมนุษย์ เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวของจิต เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของจิต เมื่อร่างกายสูญสลายไป จิตก็ยังคงอยู่ไม่สูญสลายไปกับร่างกาย แม้แต่ในคำพังเพยของไทยที่ยึดหลักคำสอนพระพุทธศาสนา ก็กล่าวอ้างอิงเอาไว้ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นั่นแสดงให้เห็นว่า จิตเท่านั้นเป็นความแท้จริง ไม่ใช่สสารหรือร่างกายแต่อย่างใด

ในปรัชญาสมัยโบราณได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ โดยนักปรัชญาสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลโต้ (Plato) หรืออริสโตเติ้ล (Aristotle) พยายามศึกษาว่าวิญญาณคืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีความสัมพันธ์กับร่างกายอย่างไร จุดหมายปลายทางของวิญญาณคืออะไร มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้บรรลุจุดหมายนั้น วิญญาณเป็นอมตะหรือว่าสูญสลายไปพร้อมกับร่างกาย วิญญาณสัมพัทธ์กับวิญญาณสัมบูรณ์มีความสัมพันธ์อย่างไร หรือวิญญาณมนุษย์กับพระเจ้ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

เมื่อพิจารณาดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวความคิดของนักปรัชญากลุ่มจิตนิยม (Idealism) โดยเฉพาะ กล่าวคือลัทธินี้ถือว่า จิตเป็นตัวการสำคัญ สสารหรือวัตถุเป็นรอง เป็นการให้คำตอบว่าความเป็นจริงของสรรพสิ่งหรือแก่นแท้ของสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลคือ “จิต” หรือสรรพสิ่งขึ้นอยู่กับจิตเท่านั้น

ลัทธิจิตนิยม มีแนวความคิดที่สัมพันธ์กับศาสนาเกือบทุกศาสนา เพราะศาสนาโดยส่วนมากถือว่า “จิตสำคัญกว่าร่างกาย” แต่ลัทธินี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธความมีอยู่ของสสารหรือวัตถุ เพียงแต่ว่าความมีอยู่ของสสารหรือวัตถุต้องขึ้นอยู่กับจิต นั่นคือจิตมีความสำคัญสูงกว่าหรือเหนือกว่าสสารหรือวัตถุ สสารมีความสำคัญรองลงมา ซึ่งมีความคิดที่ตรงกันข้ามกับลัทธิสสารนิยม (Materialism) ที่ถือว่าสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่แท้จริง จิตเป็นเพียงผลพลอยได้ของสสาร กล่าวคือเป็นการทำหน้าที่ของสมองเท่านั้น แต่ลัทธิจิตนิยมถือว่าจิตเท่านั้นเป็นความแท้จริง สสารมีอยู่ได้ก็เพราะอาศัยจิต หรือเป็นปรากฏการณ์หรือการแสดงออกของจิต ระบบหรือกลไกต่าง ๆ ของสสารหากไม่มีจิต ก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย เพราะจิตเป็นสิ่งที่ให้ความหมายและให้คุณค่าของระบบสสารหรือกลไกเหล่านั้น

ปรัชญาเมธีอริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” และ“มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักคิด” ซึ่งทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์โดยทั่วไป มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด มีอารมณ์เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก ส่วนสัตว์ไม่รู้จักคิด เมื่อกล่าวเช่นนี้ มนุษย์เราจะต้องประกอบด้วย ๒ อย่างคือ สรีระร่างกายและจิตหรือวิญญาณ เช่น เมื่อเท้ามีบาดแผลเกิดเลือดไหล การไหลของเลือดเป็นเรื่องของสรีระร่างกาย ส่วนการรู้สึกเจ็บปวด เป็นเรื่องของจิตหรือวิญญาณ ถ้ามนุษย์เรามีเพียงสรีระร่างกาย มนุษย์ก็อาจจะเป็นเหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ในโลก เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ของสรีระร่างกายมนุษย์นั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากวัตถุอื่น ๆ เลย

จะอย่างไรก็ตาม แนวความคิดของนักปรัชญากลุ่มจิตนิยม ถือว่า “จิตหรือวิญญาณ ไม่ใช่สสารหรือวัตถุ ไม่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และในขณะเดียวกันจิตหรือวิญญาณยังมีสมรรถนะที่สามารถบังคับให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปมาได้ตามความต้องการ วิถีชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้น ย่อมเป็นไปตามการบังคับบัญชาของจิตแต่ละคน ร่างกายเป็นเพียงการสนองตอบเจตจำนงของจิตเท่านั้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ยอมรับว่า มนุษย์มีองค์ประกอบ ๒ อย่างนั่นคือ จิต และร่างกาย โดยเชื่อว่า จิตมีความสำคัญกว่าร่างกาย เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริงของคนเรา โดยที่จิตหรือวิญญาณมีสภาวะเป็นอมตะ ส่วนร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นแล้วดับไป หรือมีการสูญสลายไปนั่นเอง เพราะร่างกายมีสัมผัสกับโลกภายนอก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ นานาไม่แน่นอน จึงก่อให้เกิดสิ่งต่าง ๆ มากมายเช่น ความทุกข์ ความสุข เป็นต้นอันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ในเมื่อจิตมีสภาวะเป็นอมตะ จึงรับรู้สิ่งที่เป็นอมตะด้วยกัน เช่น คุณธรรม ความดี เป็นต้น

เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือว่า ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือปรัชญาจิตนี้ เป็นการศึกษาเรื่องสำคัญ ๔ ประเด็นคือ

๑. ปัญหาเกี่ยวธรรมชาติของจิต หรืออะไรคือจิต (Nature of Mind)

๒. ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย (Relation between Mind and Body)

๓. ปัญหาเกี่ยวกับเจตจำนงเสรี (Free Will)

๔. ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอมตะของจิต (Immortality)



๒. ญาณวิทยา (Epistemology)



คือทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ธรรมชาติและเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรายละเอียดของความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นความเป็นไป และตัดสินได้ว่าอะไรเป็นความจริงแท้ ซึ่งเกิดจากความรู้ที่แท้จริง เป็นการศึกษาสภาพทั่ว ๆ ไปของความรู้อย่างกว้าง ๆ หากพูดถึงญาณวิทยาแล้ว ต่างก็พยายามที่จะอธิบายหรือตอบปัญหาเกี่ยวกับ

ความรู้คืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร

ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร

จะสร้างความรู้ได้อย่างไร

อะไรคือสิ่งที่เราสามารถรู้ได้ และรู้ได้มากน้อยเพียงไร

อะไรคือเงื่อนไข เหตุปัจจัย หรือแหล่งให้เกิดความรู้ได้

ความรู้ที่ได้มานั้นเป็นจริงหรือไม่ หากความรู้นั้นเป็นจริง ถูกต้อง เราสามารถทดสอบความรู้นั้นได้อย่างไร หรือมีมาตรการในการทดสอบได้อย่างไร



ญาณวิทยา (Epiststemology)

ญาณวิทยา เป็นคำแปลของคำว่า Epistemology ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยรูปแบบของความรู้ พัฒนาการ และขอบเขตของความรู้ ญาณวิทยาตามศัพท์หมายความว่า ศาสตร์แห่งความรู้ (Science of knowledge) เป็นคำที่ประกอบขึ้นด้วย คำ ๒ คำ คือ Episteme ซึ่งหมายความว่า ความรู้กับคำว่า Logos ซึ่งมีความหมายว่าศาสตร์ ญาณวิทยามีลักษณะเหมือนกับจิตวิทยา (ว่าด้วยการรับรู้) ประการหนึ่งคือ เป็นศาสตร์ที่ไม่พูดถึงหน้าที่ของความรู้ ฉะนั้นจึงทำหน้าที่ไม่เหมือนกับตรรกศาสตร์ (ว่าด้วยความจริงของความรู้)

สาระสำคัญของญาณวิทยาก็คือ ศึกษาเรื่องกำเนินความรู้ เนื้อหาของญาณวิทยาก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการ วิธีการ วัตถุประสงค์ ลักษณะ เงื่อนไข ความมีเหตุผล และความคลาดเคลื่อนของความรู้ ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าความจริงแล้วญาณวิทยาเป็นการ “อภิปรายปัญหาเกี่ยวกับความรู้ในแง่ปรัชญา” โดยเอาวิธีการของปรัชญาคือ วิธีนิรมัย วิธีอุปนัย วิธีวิเคราะห์ และวิธีสังเคราะห์ มาใช้ในการอภิปราย ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง และมีทัศนะแบบปรัชญา คือ เป็นอิสระ ใจกว้าง ใคร่ครวญอย่างไม่ลดละโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคือ ประสบการณ์และการคิดหาเหตุผล ทฤษฎีบ่อเกิดความรู้ทางญาณวิทยา คือ เหตุผลนิยม (Rationalism) ประจักษ์นิยม (Empiricism) เพทนาการนิยม (Sensationism) อนุมาณนิยม (Adriorism) อัชฌัติกญาณนิยม (Inguitionism) และทฤษฎีธรรมชาติของความรู้ คือ จิตนิยม (Idealism) สัจนิยม (Realism) ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)



ประจักษ์นิยม (Empiricism)

นักปรัชญากลุ่มนี้มีความเชื่อว่า ประสบการณ์ประจักษ์เท่านั้นที่เป็นบ่อเกิดของความรู้ บุคคลสามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น วิธีการคิดดังกล่าวนี้เรียกว่าประจักษ์นิยม

กลุ่มประจักษ์นิยม มีหลักการขั้นพื้นฐาน

กลุ่มประจักษ์นิยมถือว่า ความรู้เกิดจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

กลุ่มประจักษ์นิยมปฎิเสธความคิดติดตัวมาแต่กำเนิดว่าเป็นสิ่งไม่จริง

กลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อว่า เหตุผลมิใช่แหล่งเกิดแห่งความรู้ เพราะถ้าไม่มีหลักการขั้นต้นของประสบการณ์แล้วเหตุผลก็คือแนวคิดเท่านั้น

กลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อว่าผัสสะเป็นบ่อเกิดของความรู้ กลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อว่า ความรู้ต้องสามารถพิสูจน์และต้องเป็นความรู้เกี่ยวกับวัตถุภายนอก

นักปรัชญาที่สำคัญของกลุ่มประจักษ์นิยมมีหลายท่านด้วยกัน เช่น ล็อค เบริคเลย์ ฮิวม์ เป็นต้น

จอห์น ล็อค (John Locke) เป็นนักปรัชญาสมัยใหม่ชาวอังกฤษ เชื่อความรู้เกิดจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส แต่ก็ไม่ปฏิเสธการคิด หาเหตุผลเสียเลยทีเดียวเพียงแต่ถือว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสจะต้องมีความสำคัญกว่า เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อน ล็อคอธิบายกระบวนการเกิดความรู้ว่า ขณะที่เราประสบสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น สิ่งที่เรารับรู้โดยตรงคือ จิตภาพ (Idea) ของเราเอง ส่วนวัตถุภายนอกนั้นเรารับรู้มาโดยอ้อม กล่าวคือ เมื่อเราเห็นดอกไม้ หมายความว่า แสงจากดอกไม้มันวิ่งเร้าประสาทตาของเราให้ตื่นตัวแล้วความตื่นตัวนี้วิ่งไปตามประสาทสู่สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเห็นซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นในสมองเป็นเรื่องของสสารทั้งสิ้น การประจักษ์คือ การเห็นยังไม่เกิดเพราะการเห็นเป็นปรากฎการณ์ทางจิต ซึ่งเกิดในห้วงแห่งความรู้สึก ล็อคอธิบายว่า สมองเปรียบเสมือนห้องมืดมีฉากรับภาพอยู่ภายใน ซึ่งเปรียบเสมือนห้วงแห่งสัญญาณเมื่อเกิดปฎิกิริยา สัญญาณก็ปรากฏภาพดอกไม้ขั้น ซึ่งเป็นตัวแทนของดอกไม้ที่มากระทบประสาทตา ภาพตัวแทนที่แหละที่จิตรับรู้จึงเรียกว่า การรับรู้ตัวแทน (Representationalism) ซึ่งถือว่าสิ่งที่จิตรับรู้โดยตรงนั้นไม่ใช่ดอกไม้จริง ๆ เป็นแต่เพียงภาพหรือตัวแทนของดอกไม้เรียกว่าจิตภาพ (Idea) ฉะนั้นตามทัศนะของล็อคนี้จะเห็นได้ชัดว่าในการรับรู้ครั้งหนึ่งเราต้องยอมรับว่าปัจจัยอยู่ ๓ ประการคือ มีสิ่งภายนอกตัวเรา มีจิตภาพ และมีจิตของเราเอง แต่เบริคเลย์ศิษย์ของล็อคได้ท้วงติงว่ามีเพียง ๒ ประการ คือ จิตกับ จิตภาพเท่านั้น ส่วนสิ่งภายนอกนั้นไม่มี เพราะจิตของเราไม่ได้รับรู้มันเลย สิ่งที่เรารับรู้เพียงภาพตัวแทน ซึ่งไม่มีมาตรการที่จะตัดสินว่าเป็นอันเดียวกับสิ่งภายนอกนั้นหรือไม่

ล็อคให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์ว่าเป็นที่มาของความรู้ และเขาได้แบ่งความรู้ออกเป็น ๕ ประการคือ

Intuitive Knowledge รู้ทันทีเมื่อเข้าใจคำพูด ไม่ต้องการความจริงอื่นมาสนับสนุน เช่น ขาวไม่คำ กลมไม่เหลี่ยม ๓ มากกว่า ๒ ใช้เป็น postulates สำหรับพิสูจน์ข้อความอื่นได้

Demonstrative knowledge รู้ด้วยอาศัยการพิสูจน์ด้วยความจริงที่ง่ายกว่าและที่ยอมรับแล้ว เช่น การพิสูจน์เรขาคณิต

Sensitive knowledge รู้ของเฉพาะหน่วยด้วยประสบการณ์ทางประสาท เช่น เห็นดอกไม้ดอกนี้ คลำพบโต๊ะตัวนี้ เป็นต้น

Probable knowledge ความรู้ที่มีประโยชน์แต่ยังพิสูจน์ให้แน่นอนไม่ได้ และยังไม่มีประสบการณ์โดยตรง ยอมรับไว้เป็นสมมติฐาน เช่น การดึงดูดของโลก เป็นต้น

Revelation ความรู้ทางศาสนาโดยเฉพาะเป็นเรื่องความเชื่อ (Faith) อันมีพยานหลักฐานว่ามาจากพระเป็นเจ้า เผยแสพงให้ทราบ

จอร์จ เบริคเลย์ (George Berkeley) เป็นนักประจักษ์นิยมที่มีความเห็นเช่นเดียวกับล็อคเป็นส่วนใหญ่ แต่มีความเห็นไม่เหมือนกับล็อคในเรื่องของคุณสมบัติของวัตถุ คือล็อคกล่าวว่า คุณสมบัติปฐมภูมิของวัตถุไม่เปลี่ยนแปลง แต่คุณสมบัติทุติยภูมิเปลี่ยนแปลง ส่วนเบริคเลย์กล่าวว่า คุณสมบัติของวัตถุทั้งที่เป็นปฐมภูมิและทุติยภูมิเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ วัตถุชิ้นเดียวกัน ถ้ามองในที่ไกลจะเห็นว่าเล็ก มองในที่ใกล้จะเห็นว่าใหญ่ หรือคนหนึ่งยกรู้สึกหนักมากแต่อีกคนหนึ่งยกรู้สึกไม่หนัก แสดงให้เห็นว่า คุณสมบัติปฐมภูมิของวัตถุเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานที่ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับคุณสมบัติทุติยภูมิที่คนเรามองเห็นแตกต่างกันเบริคเลย์ กล่าวว่า พระเจ้าเป็นผู้ใส่แนวความคิดเข้าไปสู่จิตใจของเรา และพระองค์ก่อให้เกิดการรับรู้หมายความว่า มนุษย์รับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้โดยพระเจ้า

เดวิด ฮิวม์ (David Hume) เป็นนักประจักษ์นิยมคนสุดท้าย ฮิวม์เชื่อว่าความรุ้ทุกอย่างที่ไม่ผ่านประสาทสัมผัสล้วนแต่เป็นโมฆะทั้งสิ้น และจิตที่สภาวะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจากการรวมตัวของความคิด ความเจ็บปวด ความยาก เหล่านี้เป็นต้น ที่กล่าวมานี้จำเป็นการปฏิเสธว่าจิตไม่มีอยู่ ต่อมาทัศนะของฮิวม์ได้กลายมาเป็นเพทนาการนิยม



เทพนาการนิยม (Sensationism)

ได้รับการปรับปรุงมาจากประจักษ์นิยมของล็อคมาเป็นเพทนาการโดยนักปรัชญาชื่อ เดวิด ฮิวม์ ฮิวม์กล่าวว่าความรู้ทุกอย่างเกิดจากความตรึงตรา และความคิด ความคิดคือการถ่ายแบบที่เลือนลางของความตรึงตรา หรือจินตภาพความตรึงตรา และความคิด ความคิดคือการถ่ายแบบที่เลือนลางของความตรึงตรา หรือจินตภาพความตรึงตราคือสัญชานที่ตื่นตัว ความตรึงตามแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ความตรึงตราที่เกิดจากการรับรู้ภายนอกกับความตรึงตราที่เกิดจากมโนภาพ หรือการรับรู้ภายในจิต ฮิวม์กล่าวว่า “การรับรู้ทั้งปวงของจิตมนุษย์แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดที่ต่างกันคือ ความตรึงตราและความคิด ความแตกต่างอยู่ที่ระดับของความแรงและความตื่นตัว การรับรู้ที่เข้าไปกระทบจิตอย่างแรงมาก เรียกว่า “ความตรึงตรา” ซึ่งหมายถึง เพทนาการ กิเลส และอาเวคของเรา คำว่า “ความคิด หมายถึงจิตตภาพหรือการถ่ายแบบสิ่งเหล่านั้นเป็นปรากฎอย่างเลือนลางในการคิดและการหาเหตุผลเพทนาการไม่ได้เกิดขึ้นจากสสาร พลังหรืออำนาจที่เป็นเหตุสร้างผล เพราะพลังหรืออำนาจนั้นเรารับรู้ไม่ได้ ในที่สุดไฟลุกไหม้ทำให้รู้สึกร้อนด้วยเพทนาการทางกาย เมื่อเห็นไฟลุกไหม้เราจะรู้สึกว่าไฟร้อนอยู่เสมอโดยไม่ผันแปร เหตุคือสิ่งที่มีมาก่อนอย่างไม่ผันแปร และผลคือสิ่งที่ติดตามมาอย่างไม่ผันแปร ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างเหตุและผล เราจึงไม่สามารถหาเหตุผลว่าสสารเป็นเหตุแห่งเพทนาการ เราไม่มีความตรึงตราเกี่ยวกับสสาร สสารจึงไม่มีอยู่ สิ่งที่เรียกว่าสสารคือเพทนาการ ชุดหนึ่ง สสารที่ต่างกันคือ เพทนาการที่ต่างกันนี้ แสดงว่าฮิวม์ปฏิเสธความมีอยู่ของสสาร ไม่มีจิตวิญญาณ หรืออัตตา สิ่งที่เรียกว่าจิตคือ ความคิด ความรู้สึก และเจตนาเพราะเราไม่มีความตรึงตรากับสิ่งเหล่านี้ ในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี่เช่นกัน เพราะพิสูจน์ไม่ได้ความคิดเรื่องพระผู้เป็นเจ้าคนสร้างขึ้น ฉะนั้นฮิวม์จึงยอมรับเพียงความจริงบางอย่างเท่านั้น และไม่แน่นอน ซึ่งได้จากประสบการณ์และเราไม่สามารถก้าวเลยเพทนาการไปสู่ความแท้จริงภายนอกเพทนาการได้



อนุมาน (Apriorism)

เกิดจากความพยายามเอาพวกเหตุผลนิยม กับประจักษ์นิยมรวมเข้าด้วยกัน นักปรัชญาที่มีความพยายามในเรื่องดังกล่าวนี้คือ อิมมานูเอล คานท์ ซึ่งเป็นนักเหตุผลนิยม คานท์ได้พิจารณาเห็นว่า ลัทธิประจักษ์นิยมและเหตุผลนิยมต่างมีความบกพร่องด้วยกัน และแต่ละปรัชญาได้ทำลายสิ่งที่ค้านท์ รักและเชิดชูด้วยกัน กล่าวคือ พวกประจักษ์นิยมมอบหมายมาตรการความจิรงให้กับผัสสะจนเกินไป จนกระทั่งปฏิเสธ กฎเกณฑ์ของคณิตศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ ส่วนผลเหตุผลนิยมก็มอบความเชื่อให้ปัญญาจนเกินไปจนกระทั่งปฏิเสธพื้นฐานทางศาสนาและศีลธรรม ซึ่งอันที่จริงแล้วค้านท์เห็นว่าทฤษฎีของพวกประจักษ์นิยมไม่เพียงพอที่จะอธิบายความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้ และทฤษฎีของพวกเหตุผลนิยมก็ไม่เพียงพอที่จะอธิบายความจริงเช่นเดียวกัน ค้านท็คิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องสร้างทฤษฎีทางปรัชญาขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายความจริงและกู้ฐานะของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศาสนา และศีลธรรมให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังนั้นค้านท์จึงตั้งหน้าที่จะสร้างทฤษฎีขึ้นใหม่ โดยชี้ให้เห็นความบกพร่องของปรัชญาทั้งสองซึ่งเป็นการปฏิรูปเนื้อหาปรัชญาอย่างสำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในปรัชญาของศตวรรษที่ ๑๙ ปรัชญาของค้านท์มีลักษณะเป็นปรัชญาเชิงวิจารณ์ (The crritical Philosophy) โดยสร้างหลักการวิจารณ์ขึ้น ๓ อย่าง ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจของปรัชญาค้านท์คือ หลักการวิจารณ์ด้วยเหตุผลบริสุทธ์ (The critical of pure Reason) หลักการวิจารณ์ด้วยเหตุผลปฏิบัติ (The critical of pure Reason) และหลักการวิจารณ์ด้วยเหตุผลในทางสุนทรียภาพ (The Critical of judgment)

ค้านท์เชื่อว่าโลกของเราเป็นเพียงปรากฎการณ์อันหนึ่ง โลกของปรากฎการณ์นี้เป็นวัตถุแห่งความรู้ของเรา เราไม่รู้ความจริงใด ที่อยู่ภายนอกโลกแห่งปรากฎการณ์นี้ได้จุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์ก็เพื่อจะค้นหากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของโลกของปรากฎการณ์นี้ ในกาคค้นคว้าทางญาณวิทยาของค้านท์ ความรู้เช่นเดยวกับล็อค เบริคเลย์ และฮิวม์ ค้านท์ได้แยกลักษณะพื้นฐานสองประการของประสบการณ์คือ ผัสสะและมโนภาพหรือความเข้าใจโดยกล่าวผัสสะมีรากฐานมาจากประสบการณ์ ส่วนมโนภาพมีรากฐานมาจากเหตุผลหรือปัญหา (intellect) ค้านท์เห็นด้วยกับฝ่ายประจักษ์นิยมที่ว่า ไม่มีความรู้ใดที่จะอยู่นอกเหนือจากผัสสะ แต่ค้านท์ก็ขัดแย้งกับฝ่ายประจักษ์นิยม โดยกล่าวว่าเพียงผัสสะอย่างเดียวก็ไม่อาจสร้างประสบการณ์และความรู้ของเราขึ้นมาได้ เราเองต่างหากที่ให้ความหมายแก่ประสบการณ์ ค้านท์กล่าวว่ามโนภาพถ้าปราศจากการรับรู้ทางผัสสะแล้วก็ว่างเปล่า การรับรู้ทางผัสสะถ้าปราศจากมโนภาพก็กลายเป็นความบอด

ค้านท์ได้แบ่งความรู้ออกเป็น ๒ ประเภทคือ

ความรู้ที่มีบ่อเกิดจากประสบการณ์ (A priori knowledge)

ความรู้ที่บ่อเกิดมาจากปัญญาหรือความคิดของมนุษย์เอง (A priori knowledge) ค้านท์ได้แบ่งความรู้ประเภทที่ ๒ ออกเป็น

- Analytic knowledge คือความรู้ที่ได้มาจากความคิด แต่ไม่ได้ให้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น สี่เหลี่ยมจตุรัส ได้มาจากความคิด ความเข้าใจ ไม่ได้มาจากประสบการณ์

- Synthetic knowledge คือความรู้ได้มาจากความคิดแต่ให้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิม ความรู้ชนิดนี้หาได้จากคณิตศาสตร์ และวิทยาษสตร์

ค้านท์อธิบายความรู้ที่ได้มาโดยประสบการณ์ว่าเป็นความรู้เฉพาะหน่วย (particulars) ไม่กลายและจำเป็น ส่วนความรู้ที่ได้มาด้วยความคิด (innate ideas เป็น ความรู้ที่สากลและจำเป็น)



อัชฌัติกญาณนิยม (Intuitionism)

นักปรัชญากลุ่มนี้เป็นนักปรัชญาที่ปฏิเสธเหตุผลนิยมและประจักษ์นิยม และเชื่อว่าอัชฌัติกญาณเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นวิธีการได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้อง อัชฌัติกญาณ หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเอง กล่าวคือ เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหนึ่งโดยทันทีทันใด เป็นความรู้ที่สว่างแวบขึ้นในความคิด และทำให้เราเข้าใจเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น นิวตัน เห็นลูกแอ๊ปเปิ้ลหล่นลงมา ทำให้เขาเกิดความเข้าใจขึ้นมาทันทีว่าหตุมันจึงตกลงสู่พื้นโลกโดยไม่ล่องลอยขึ้นไปในอากาศ ความเข้าใจนี้ทำให้เขาค้นพบกฎความโน้มถ่วงสากล และใช้กฎนี้มาอธิบายการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุทั้งในโลกและนอกโลกได้ และกฎนี้ยังใช้มาจนทุกวันนี้ ความรู้ที่รู้โดยอัชฌัติกญาณจึงเป็นการหยั่งรู้ภายนอก แต่การรู้แบบอัชฌัติกญาณเป็นการหยั่งรู้เข้าไปภายในสิ่งนั้นทำให้เกิดการรู้สิ่งนั้นทั้งหมด การอ้างความรู้แบบที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ในศาสนา และศิลปะ อัชฌัติกญาณ นี้จะเกิดกับคนบางคนและในบางเวลาเท่านั้น ไม่เกิดกับทุกคนอย่างไรก็ตาม แม้ปรัชญาจะถือว่าต้นกำเนิดของความรู้ที่สำคัญมี ๒ ทาง คือ ประสบการณ์และเหตุผล ส่วนอัชฌัติกญาณ นั้นพิสูจน์ไม่ได้และไม่มีเกณฑ์ตัสินจึงไม่น่าเชื่อถือ แต่ปรัชญาสมัยใหม่ก็เกิดแนวความคิดขึ้นแนวความคิดหนึ่งคือ อัชฌัติกญาณ นิยมนักปรัชญาที่มีความเชื่อทาง อัชฌัติกญาณ นิยม คือ จอร์จ วิลเฮลม ไฟร์ดริช เฮเกล เป็นชาวเยอรมัน เฮเกลมีทัศนะว่าเป็นความจริงแท้คือ จิต ทุกอย่างวิวัฒนาการมาจากจิต เฮเกลเป็น อัชฌัติกญาณนิยมเพราะเชื่อว่า เมื่อฝึกสมาธิถึงขั้นแล้วจะเห็นว่าความจริงมีเพียงหนึ่ง คือ จิต



๓. คุณวิทยา (Axiology)



เป็นวิชาที่ว่าด้วยคุณค่าต่าง ๆ คุณค่าที่ว่านั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทคือ

จริยศาสตร์ (Ethics) เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความประพฤติ กล่าวถึงความดี ความชั่ว การตัดสินความดีความชั่ว เป็นการแสวงหาความดีอันสูงสุด

สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี หลักการตัดสินความงาม องค์ประกอบของความงาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ เป็นการแสวงหาความงามอันสูงสุด

ตรรกศาสตร์ (Logic) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการให้เหตุผล การนิยามความหมายอันแท้จริง เป็นการแสวงหาความจริงอันสูงสุด อันประกอบด้วยอุปนัย และนิรนัย

เทววิทยา (Theology) เป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ทางจิตใจ กล่าวคือหลักคำสอนทางด้านศาสนา







ปรัชญาสาขาคุณวิทยา

ปรัชญาสาขาคุณวิทยา (axiology) เป็นปัญหาของปรัชญาสาขาที่สาม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับค่านิยมหรือคุณค่า (value) เช่นคำถามที่เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า “อะไรเป็นค่านิยมที่สำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของการมีชีวิตอยู่” “ค่านิยมเหล่านั้นเป็นแก่นแท้ของความจริงหรือไม่” “เราจะรู้ได้ด้วยประสบการณ์ของเราอย่างไร”

คำว่า axiology มาจากคำในภาษากรีกว่า “axios” ซึ่งหมายถึง “เหมือนกับที่มีคุณค่า” (of like value) หรือ “ความมีค่ามากเท่าที่จะเป็ฯได้” (worth as much) ปรัชญาคุณวิทยา เป็นเรื่องราวของการสืบหาธรรมชาติและเกณฑ์มารตราฐานของคุณค่าหรือค่านิยม ซึ่งมีกำเนิดมาจากทฤษฎีแห่งแบบหรือทฤษฎีการจินตนาการของ Plato ในเรื่องความคิดเกี่ยวกับความดี และได้พัฒนาต่อมาโดยผลงานของ Aristotle ในเรื่อง Organon Ethics Poetics และ Metaphysics ต่อมาคุณวิทยา ปรากฏอยู่ในผลงานของ Kant โดยเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ คุณวิทยาสัมพันธ์กับความรู้ในเรื่องุณค่าศีลธรรม สุนทรียศาสตร์ และคุณค่าของศาสนา ในศตวรรษที่ ๑๙ คุณวิทยาได้มีบทบาทในการวิเคราะห์ค่าของประสบการณ์ในสาขาต่าง ๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา และเศรษฐ ศาสตร์ เป็นต้น ในศตวรรษที่ ๒๐ คำว่า “คุณวิทยา” เริ่มมีปรากฏในผลงานปรัชญาทั้งหลายเป็นภาษาอังกฤษ



ความหมายของค่านิยม (the meaning of value)

นักการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้กำหนดความหมายของคำว่า “ค่านิยม” (value) ไว้ต่าง ๆ กัน Rokeach ได้ให้ความหมายไว้ว่า ค่านิยมคือรูปแบบของความเชื่อ (belief) ที่แต่ละคนยึดถือว่าแต่ละคนควรจะปฏิบัติตนอย่างไรหรือสิ่งใดที่มีคุณค่า ไม่มีคุณค่า ค่านิยมจะสัมพันธ์กับทุกสิ่งโดยทั่วไปและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล ค่านิยมเป็นมาตรฐานในการตัดสินในว่าสิ่งใดเลวหรือดี และใช้ในการคัดสินพฤติกรรมของแต่ละบุคคลด้วย

ความหมายของค่านิยมในหนังสือเล่มนี้ ถ้าใช้เป็นคำนามให้ความหมายเป็น “ค่านิยม” และถ้าเป็นคำกริยาจะให้ความหมายเป็น “คุณค่า” ถ้าเป็นคำนาม บางครั้งก็เป็นนามธรรม (abstract) และบางครั้งก็เป็นนามธรรม (concrete) ถ้าเป็นนามธรรมจะเป็นลักษณะค่านิยมหรือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในความหมายลักษระนี้จะให้ความหมายที่หมายถึง มีราคา (worth) หรือความดี (goodness) และในกรณีที่เป็นความเลวก็จะหมายถึง ความไม่มีคุณค่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นค่านิยมทางลบ (negative value) แต่ถ้าเป็นค่านิยมในทางความดีก็เรียกได้ว่าเป็นค่านิยมทางบวก (positive value) ส่วนค่านิยมที่เป็นรูปธรรม เป็นได้ทั้งคุณค่าเดียวหรือหลายคุณค่า ซึ่งหมายถึงการที่จิตหรือเจตคติของมนุษย์ตีคุณค่าหรือให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น ค่านิยมเกี่ยวข้องกับทั้งคุณลักษณะของค่านิยมและกับกระบวนการของการตีคุณค่าหรือให้คุณค่า

Good ได้ให้ความหมายของค่านิยมตามแนวของสังคมว่า “ค่านิยมเป็นเรื่องของความสนใจ เช่น ค่านิยมในศิลปะก็เป็นความสนใจของผู้ซึ่งได้กลั่นกรองรสนิยมและพัฒนาอำนาจในตัวของเขาต่องานศิลปะต่าง ๆ ถ้าผู้ที่สนใจเกี่ยวกับช่างไม้ก็กำหนดคุณค่าในด้านการใช้ประโยชน์ในการให้ความหมายเกี่ยวกับการศึกษาจะหมายถึงบรรทัดฐาน (norm) หรือมาตรฐาน (standard) ของความปรารถนาภายในแต่ละวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคลที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม”



ความเกี่ยวข้องกันระหว่างคุณวิทยากับค่านิยมและลักษณะต่าง ๆ ของค่านิยม (the relevance of axiology and value and value characteristics)

Runes ได้กล่าวว่า ปัญหาของคุรวิทยาจะเกี่ยวข้องกับค่านิยม เป็น ๔ กลุ่มด้วยกันคือ

๑. ลักษณะของค่านิยม (nature of value)

ปัญหาเกี่ยวกับลักษณะค่านิยม เช่น ค่านิยมเกี่ยวข้องกับสิ่ง ต่อไปนี้หรือไม่ ได้แก่ ความปรารถนา (desire) ความสนุกสนาน (pleasure) ความสนใจ (interest) ความชอบ (preference) เจตจำนงที่มีเหตุผล (rational will) บุคลิกภาพ (personality) และการปฏิบัติ (pragmatic) เป็นต้น

๒. รูปแบบของค่านิยม (type of value)

ปรัชญาเมธีสาขาคุรวิทยานี้จะแยกค่านิยมออกเป็น ๒ แบบ คือ

ค่านิยมภายในตัวของมันเอง (intrinsic value) และค่านิยมที่เป็นเครื่องมือ (instrumental value) ค่านิยมภายในตัวของมันเอง โดยทั่วไปจะกำหนดคุณค่าตามแนวของศีลธรรม หรือตามความจริง ความสวยงามและความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนค่านิยมที่เป็นเครื่องมือจะสามารถวินิจฉัยคุณค่าโดยอาศัยองค์ประกอบหรือเครื่องมือในเรื่องของเศรษฐกิจ สินค้า และเหตุการณ์ต่างๆ ตามธรรมชาติ

ค่านิยมจะเกี่ยวข้องและรับรู้ได้โดยทางร่างกายของมนุษย์ และการที่มนุษย์รักในสัจจะ (truth) มนุษย์จึงมีค่านิยมด้านความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ เช่นในเรื่องศาสนา โดยหวังจะได้รับผลที่ติดตามมาจากความเชื่อเหล่านั้น

๓. เกณฑ์มาตรฐานของค่านิยม (criterion of value)

มาตรฐานสำหรับทดสอบค่านิยมนั้นจะอยู่ภายในหลักของจิตวิทยาและทฤษฎีทางตรรกวิทยา เช่นบางกลุ่มก็เชื่อว่า การมีความสนุกสนานมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอู่กับปัจเจกบุคคล (individual) หรือขึ้นอยู่กับวังคม บางกลุ่มก็ถือว่าการชอบในสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่งนั้นขึ้นอย฿กับการสำนึกเอง (intuitive) บางกลุ่มก็ถือเอาการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติเป็นมาตรฐานของค่านิยม เช่น กลุ่มธรรมชาตินิยม (naturalism) เป็นต้น

๔. สถานภาพทางกายภาพของค่านิยม (physical status of value)

อะไรคือความสัมพันธ์ของค่านิยมกับความจริงของประสบการณ์ของมนุษย์ในเรื่องค่านิยมที่แท้จริงของความเป็นอิสระของมนุษย์ ซึ่งสามารถสืบหาด้วยวิธีทางธรรมชาติวิทยา มีคำตอบที่เป็นไปได้ ๓ ประการ คือ

โดยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมกับประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อค่านิยมนั้น

โดยอาศัยคุณค่าทางตรรกวิทยา ซึ่งค่านิยมนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นหรือมีตัวตนอยู่สิ่งนั้นก็สามารถมีคุณค่าได้

โดยกำหนดคุณค่าของวัตถุโดยให้สัมพันธ์กับกรกระทำของมนุษย์ ในส่วนที่คุณวิทยาจะเกี่ยวข้องกับการศึกษานั้น Kneller ได้กล่าวไว้ว่า คุณวิทยาจะต้องเกี่ยวข้องกับคำถามหลักในการศึกษาอยู่ ๓ คำถามด้วยกัน คือ

๑. ค่านิยมต่าง ๆ เป็นอัตนัย (subjective) หรือปรนัย (objective) นั่นคือ ค่านิยมเกี่ยวข้องกับบุคคล (personal) หรือไม่ใช่บุคคล (impersonal)

๒. ค่านิยมมีการเปลี่ยนแปลงหรือคงที่

๓. ค่านิยมมีเป็นลำดับขั้นหรือไม่

ค่านิยมต่าง ๆ เป็นปรนัยหรืออัตนัย



ค่านิยมที่เป็นปรนัย (objective)

เป็นค่านิยมที่มีอยู่ในตัวของมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบของมนุษย์ เช่น ความดี สัจจะ และความสวยงาม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความแท้จริงอันยิ่งใหญ่และเป็นส่วนธรรมชาติของสรรพสิ่ง ค่านิยมของสรรพสิ่งมีคุณค่าเป็นจริงในตัวของมันเองการกระทำมีคุณภาพดีตามเนื้อหาหรือตามธรรมชาติของการกระทำนั้น สรรพสิ่งมีความสวยงามในตัวของมันเอง ดังนั้น ในเรื่องของการศึกษา การศึกษาจึงเป็นค่านิยมปรนัยโดยที่มันมีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ หรือคิดกับมันอย่างไรก็ตามที

ค่านิยมที่เป็นอัตนัย (subjective)

เป็นค่านิยมที่ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบของมนุษย์ โดยนัยนี้ค่านิยมอัตตนัย มนุษย์จะเป็นผู้กำหนดคุณค่าหรือให้คุณค่ากับมัน อะไรก็ตามที่มีคุณค่า ค่านิยมอัตนัยนี้จะถือว่า มันมิได้มีคุณค่าในตัวของมันเองแต่อย่างใด ดังเช่น “การศึกษา” มีคุรค่าก็เพราะมนุษย์แต่ละคนกำหนดคุณค่าให้กับมัน และการศึกษาจะไม่มีคุณค่าใด ๆ เลย ถ้าบุคคลไม่ได้ให้คุณค่ากับการศึกษา หรือไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นใด ๆ เช่นนี้เป็นต้น



ค่านิยมมีการเปลี่ยนแปลงหรือคงที่

ปัญหาที่ถกเถียงกันว่า ค่านิยมลักษณะแท้จริงตลอดไปหรือไม่ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเราได้พบว่า มีค่านิยมที่มีคุณค่าที่ยอมรับกันมาตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งในปัจจุบันคุณค่านั้นก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดผิวสีอะไร ก็ยอมรับในค่านิยมนั้น เช่น ความใจบุญสุนทาน (charity) ซึ่งเป็นค่านิยมที่มนุษย์ทั่วไปให้คุณค่าว่าดีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย และเราก็ยังได้พบว่าค่านิยมเป็นจำนวนมากเกี่ยวข้องหรือมีคุณค่าเพราะความปรารถนาของมนุษย์เอง แต่ความปรารถนาของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ค่านิยมที่เกิดขึ้นเพราะความปรารถนาของมนุษย์ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น เงื่อนไขต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ ลัทธิความเชื่อศาสนาใหม่ ๆ การค้นพบวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางการศึกษาและอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่ออย่างมั่นคงขึ้นได้

เราอาจตั้งคำถามว่า “การให้เกรดนักเรียนถือเป็นค่านิยมหรือไม่ และมีคุณค่าหรือไม่” และเราไม่อาจตอบได้โดยเด็ดขาดว่าเป็นหรือไม่เป็น หรือมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องความมุ่งประสงค์ต่าง ๆ ของการให้เกรด วิธีการให้เกรด และผลที่ได้จากการให้เกรด และเมื่อตัดสินใจว่าคำตอบควรจะเป็นอย่างไรจากคำถามข้างต้นนี้แล้ว ก็จะเกิดคำถามข้อต่อไปว่า “เรารู้ได้อย่างไรว่ามันมีคุณค่า” ซึ่งการตอบคำถามนี้อาจจะอาศัยเกณฑ์มาตรฐาน ที่ผู้ที่มีการศึกษายอมรับและเห็นพ้องต้องกันว่า และมีคำถามที่เกี่ยวข้องต่อไป ก็คือ “ค่านิยมในการให้เกรดนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือคงที่แน่นอนไปตลอด”



ค่านิยมมีเป็นลำดับขั้นหรือไม่

การตอบคำถามนี้ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยมที่แต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลยึดปรัชญาที่ต่างกัน เช่นฝ่ายที่ยึดปรัชญาลัทธิจิตนิยม (idealism) จะมีการลำดับค่านิยมโดยให้ค่านิยมทางวิญญาณสูงกว่าทางวัตถุ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเห็นคุณค่าทางศาสนาสูง เพราะถือว่าสานาจะช่วยให้บุคคลบรรลุถึงเป้าหมายปลายทางสุดท้าย นั่นคือวิญญาณจะประสบสุข ฝ่ายที่ยึดปรัชญาลัทธิ สัจนิยม ก็จะเชื่อในการการลำดับขั้นของค่านิยม โดยให้คุณค่าทางเหตุผลและประจักษ์สูงเพราะฝ่ายนี้ถือว่าเหตุผลหรือการประจักษ์จะช่วยมนุษย์ปรับตัวเข้ากับจุดมุ่งหมายที่แท้จริง กฎของธรรมชาติและกฎทางตรรกวิทยาได้ ฝ่ายนิยมปรัชญาลัทธปฏิรูปนิยม จะปฏิเสธว่าไม่มีการลำดับขั้นของค่านิยมที่ตายตัวแน่นอน ฝ่ายนี้เชื่อว่ากิจกรรมอย่างหนึ่งจะดีเท่า ๆ กับกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้ากิจกรรมนั้นเป็นที่พอใจและสนองความต้องการ และนั่นคือคุณค่าของสิ่งนั้นหรือกิจกรรมนั้น และยังเชื่อว่าค่านิยมที่มีคุณค่าพิเศษก็คือการให้คุณค่าที่มีอยู่ดียิ่งขึ้นไปอีก

Butler ได้สรุปลักษณะของค่านิยมไว้เป็น ๔ ประการด้วยกันคือ

ค่านิยมขึ้นอยู่กับความสนใจของบุคคลซึ่งพอใจในค่านิยมเหล่านั้น กล่าวคือ ค่านิยมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ให้การสนับสนุนด้วยความสนใจของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งนั้น (ค่านิยมเป็นอัตนัยและไม่คงที่)

ค่านิยมมีอยู่ในตัวของมันเอง คือ เป็นอิสระจากความสนใจและการให้คุณค่าของมนุษย์ (ค่านิยมจะเป็นปรนัยและคงที่)

ค่านิยมที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกที่มีความสุขในปัจจุบัน และเป็นทางไปสู่ความดีต่าง ๆ ในประสบการณ์ที่จะได้ในอนาคตด้วย

ค่านิยมที่มนุษย์พอใจ และมีความสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งหมดรวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย

ปรัชญาสาขาคุณวิทยา เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องค่านิยมหรือคุณค่า ซึ่งแยกออกได้เป็น ๒ สาขาด้วยกัน คือ

ค่านิยมตามแนวจริยศาสตร์

ค่านิยมตามแนวสุนทรียศาสตร์



ค่านิยมของลัทธิปรัชญากลุ่มลัทธิจิตนิยมกับการศึกษา

Butler ได้จัดแบ่งทฤษฎีค่านิยมของลัทธิจิต นิยมออกเป็น ๓ ลักษณะ คือ

ค่านิยมที่มนุษย์มีความปรารถนาและพึงพอใจจะเป็นค่านิยมที่ฝังราก นั่นคือถือว่าเป็นค่านิยมที่มี อยู่โดยแท้จริง

ค่านิยมเรื่องชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งกว้างใหญ่ เพราะปัจเจกบุคคลครอบครองค่านิยมและพึงใจในค่านิยมเหล่านั้นต่าง ๆ กัน

ทางสำคัญทางหนึ่งที่ทำให้บุคคลรู้ค่านิยมก็คือ การปฏิบัติของบุคคลนั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ และทั้งหมดของสิ่งแวดล้อม

ค่านิยมที่มนุษย์มีความปรารถนาและพึงพอใจ จะเป็นค่านิยมที่มีอยู่โดยแท้จริงซึ่งชี้ให้เห็นว่า การที่มนุษย์สามารถรู้ว่าวัตถุมีอยู่ในโลกนี้เป็นการมีอยู่ชั่วคราว และไม่มีคุฯค่าอะไรสำหรับมนุษย์ ตัวอย่างเช่น บ้าน เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำหรับมนุษย์ แต่ความคิดที่ว่า “ไม่มีที่ใดเหมือนเช่นบ้าน” ก็มิได้เป็นค่านิยมสำหรับทุกคนที่จะยึดถือ ดังนั้นบ้านอาจไม่ใช่ค่านิยมที่แท้จริงจากประสบการ์สำหรับทุกคนที่มีบ้านก็ได้ ปรัชญาฝ่ายนี้จึงมุ่งที่จะชี้หรือแนะว่า การมีอยู่เป็นอย่างหนึ่ง และค่านิยมเป็นอีกอย่างหนึ่งปรัขญาเมธีฝ่ายลัทธินิยมเห็นว่า ค่านิยมไม่ใช่เหมือนหมอกที่มีตอนเช้ามืด พอสายหน่อยหมอกนั้นก็หายไป หรือมี่ค่านิยมในวันนี้ พอวันรุ่งขึ้นก็หายไปหมดไป แต่ฝ่ายลัทธิจิตนิยมจะเชื่อมั่นว่า ค่านิยมจะฝังรากคงอยู่ถาวร เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความแท้จริง ถ้าเราพึงใจในค่านิยมนั้นไม่ใช่เพราะอารมณ์และความอ่อนไหวที่มากระตุ้นหรือเร้าความรู้สึกของเรา เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกและความปรารถนาขึ้น แต่เป็นเพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เราให้กับมันเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ของมันเองและฝังรากอยู่ในทุกโครงสร้างของสากลหรือจักรวาลทั้งหมด Wilbur Urban ได้กล่าวสนับสนุนเรื่องค่านิยมและการมีอยู่ของค่านิยมไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้ายึดถือว่า จะไม่มีอะไรมีอยู่ได้ถ้าปราศจกคุณค่า และจะไม่มีคุณค่าอะไรเลยถ้าไม่มีการมีอยู่ ความแท้จริงไม่ใช่ทั้งจิตใจและวัตถุ แต่จะเป็นของเขตของความคิดและสรรพสิ่งแยกจากกันได้กับข้อเท็จจริงและคุณค่า”

ค่านิยมเรื่องชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งกว้างใหญ่ เพราะปัจเจกบุคคลมีค่านิยมและความพึงพอใจในค่านิยมต่าง ๆกัน อันเนื่องมาจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ดังที่ Urban ได้กล่าวว่า ค่านิยมที่ฝังรากเป็นสิ่งที่มีอยู่ และในขณะเดียวกันท่านก็เชื่อว่าหลักการของค่านิยมกับปัจเจกบุคคลมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จากองค์ประกอบ ๒ ประการนี้ Berkeley ได้กล่าวไว้ในทฤษฎีความรู้ของท่านว่า วัตถุต่าง ๆ มิได้มีอยู่เพื่อคนใดคนหนึ่ง จนกว่าผู้นั้นจะได้รับรู้และเข้าใจหรือมีสัญชาน (perception) ต่อวัตถุทุกสิ่งที่มีอยู่ไม่ว่ามนุษย์จะมีความรู้และความเข้าใจต่อวัตถุเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม Berkeley ได้กล่าวไว้อีกว่า

“ค่านิยมมีอยู่เฉพาะเมื่อปัจเจกบุคคลปฏิบัติการปรับตัวต่อสิ่งซึ่งบุคคลคิดว่ามีคุณค่าต่อตนเองเท่านั้น และเฉพาะเมื่อบุคคลมีประสบการณ์ด้านอารมณ์ที่พึงพอใจในค่านิยมนั้น ๆ อย่างไรก็ตามพระเจ้ามีอยู่จริง ดังนั้นในนามของพระเจ้า ผู้มีความเพียบพร้อมและสมบูรณ์ ค่านิยมทางบวกจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ รับรู้ได้ และพึงใจได้”

อย่างไรก็ตามทฤษฎีค่านิยมของฝ่ายลัทธิจิตนิยม ลักษณะที่สองนี้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องของพระเจ้านั้น Leighton ได้เสนอแนวคิดที่หน้าสนใจดังนี้

“ค่านิยมต่าง ๆจะเป็นจริงเฉพาะต่อเมื่อหรือบุคคลที่รู้สึกต่อมัน ไม่มีสัจจะ (truth) ความงาม หรือความดีใด ๆ เป็นสิ่งที่คงอยู่หรือมีอยู่อย่างจริงจัง แต่จะมีสัจจะเป็นรูปธรรมเท่านั้นที่มีอยู่หรือคงอยู่ เช่นความรู้สึกที่มีต่อสรพสิ่งว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่งาม ก็เพราะบุคคลพึงพอใจต่อสิ่งดีต่าง ๆ ในสรรพสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นจึงถือว่าปัจเจกบุคคลเป็นทั้งสภาพหรือสถานะ และเป็นผู้วัดค่านิยมได้อีกด้วย”

และด้วยเหตุนี้ค่านิยมจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่มนุษย์พึงพอใจในสิ่งเดียวกันต่าง ๆ กัน มีประสบการณ์ในสิ่งเดียวกันต่างกัน และที่สุดจะมีค่านิยมในสิ่งเดียวกันต่างกันนั่นเอง

ทฤษฎีค่านิยมของกลุ่มลัทธิจิตนิยม ลักษณะสุดท้ายคือ การปฏิบัติของบุคคลเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับส่วนย่อยต่าง ๆ ทั้งหมดของสิ่งแวดล้อมซึ่งหมายถึงการใช้ความพยายามที่จะรู้ถึงคุรค่าอย่างสมบูรณ์ที่สุดเพื่อทำให้ชีวิตดีที่สุด โดยยึดว่าความสัมพันธ์เกี่ยวข้องที่เป็นความจริงสุดท้าย คือความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน ดังนั้น ปัจเจกบุคคลสามารถขยายประสบการณ์ของตนออกไป มีการแบ่งปันค่านิยมที่มีอยู่ โดยมองปัจเจกบุคคลอื่น ๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนกับส่วนทั้งหมดของโลกมนุษย์ ค่านิยมเช่นนี้จะเห็นได้ชัดเจนในลักษณะของค่านิยมของสังคมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคลมีค่านิยมรวมกันเป็นส่วนรวมของสังคมและมีผลที่จะชักจูงหรือแบ่งปันค่านิยมไปยังบุคคลอื่น ๆ ค่านิยมในทางศาสนาก็เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติของปัจเจกบุคคลต่อพระเจ้าและแบ่งปันหรือขยายค่านิยมออกไปในกลุ่มศาสนิกชนด้วยกัน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา ค่านิยมกลุ่มลัทธิจิตนิยมจะยึดถือเอาว่านักเรียนควรจะต้องไดรับการสอนให้มีค่านิยมในเรื่องของความอดทนและการดำรงชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง เน้นในเรื่องจิตและวิญญาณที่เชื่อว่ามีอยู่ในตัวบุคคล และเน้นให้นักเรียนระลึกว่าความชั่วมิได้มีผลต่อตนเองหรือสังคมหรือต่อมนุษย์ชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงวิญญาณทุกดวงในจักรวาลด้วย ค่านิยมของนักเรียนจะมีนัยสำคัญฯก็ต่อเมื่อได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์กับจิตและวิญญาณที่เป็นอมตะ ซึ่งหมายถึงว่า ค่านิยมในเรื่องความดีความงามจะมีผลถึงจิตและวิญญาณซึ่งไม่รู้จักตาย แม้ร่างกายจะดับสิ้นไปแล้วก็ตาม

ปรัชญาฝ่ายนี้ถือว่าความเลวเป็นเพียความดีที่ยังไม่สมบูรณ์ในตัวของนักเรียนที่ขาดการร่วมประสานงานของระบบต่าง ๆ สำหรับครู ฝ่ายลัทธิจิตนิยมนี้จะเชื่อว่าไม่มีนักเรียนที่เลวจริง ๆ หรือเลวไปทั้งหมด แต่เป็นเพราะนักเรียนที่เราเห็นว่าเลวเหล่านั้นยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นระเบียบและการประสานความสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆที่เป็นพื้นฐานของศีลธรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะทำให้นักเรียนได้เข้าใจระเบียบเบื้องต้นของศีลธรรม และให้นักเรียนได้เข้าอยู่ภายในระบบของศีลธรรม

Plato ได้กล่าวไว้ว่า “การจะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสังคมที่ดี” และ Hegel ก็ได้กล่าวคล้ายคลึงกันด้วยว่า “ปัจเจกบุคคลจะมีความเข้าใจแลปฏิบัติกรรมดีต่าง ๆ ที่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสภาพนั้น ๆ” ดังนั้นครูในแนวปรัชญาฝ่ายนี้จึงมีหน้าที่ที่จะจัดสภาพแวดล้อม ระบบ ระเบียบและสังคมที่อยู่ในขอบเขตของศีลธรรมให้กับนักเรียนของตน และครูยังต้องระลึกไว้ด้วยว่า ไม่มีใครอยากจะเห็นตัวเองทำผิด เมื่อนักเรียนกระทำผิดไป ครูพึงถามนักเรียนว่า “อะไรจะเกิดขึ้นถ้าทุกคนประพฤติผิดเช่นนั้น และการประพฤติผิดเช่นนี้ตนกำลังทำตัวอย่างที่ดีให้เพื่อนร่วมชั้นทำเป็นตัวอย่างหรือเปล่า” ขณะเดียวกันครูก็จะต้องตั้งคำถามตนเองด้วยว่า “ตัวครูเองได้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนักเรียนของตนเองได้ปฏิบัติตามด้วยหรือเปล่า”

สำหรับแนวคิดของฝ่ายลัทธิจิตนิยมนี้ส่วนใหญ่จะยึดหลักของศาสนาเป็นรากฐาน หรืออย่างน้อยก็มาจากรากฐานของความเชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งนิรันดร ซึ่งหมายถึงจิตและวิญญาณจะคงอยู่แม้ร่างกายจะดับสูญแล้วนั่นเองอย่างไรก็ตาม สำหรับครูที่นิยมฝ่ายปรัชญากลุ่มลัทธิจิตนิยมนี้น่าจะยึดแนวคำกล่าวของ Herman H. Hom ซึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังดังนี้

“ไม่มีมนุษย์ผู้ใดเป็นได้มุกอย่าง……เป้าประสงค์ของมนุษย์มิได้สิ้นสุดลงที่การสิ้นชีพหรือการที่มนุษย์มีชีพเพียงแค่บนพื้นพิภพที่เขาอาศัยอยู่เท่านั้น…..ความรักของปรัชญาเมธีก็คือสัจจะความรักของศิลปินก็คือความสวยงาม ความรักของนักบุญก็คือธรรมะ……. มีสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้และศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดความรู้มากขึ้น ……. มนุษย์ไม่มีการจำกัดความตั้งใจที่เขาจะรู้มากขึ้นหรือพึงใจที่จะรู้ ไม่มีการจำกัดความก้าวหน้าของสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้…… มนุษย์มีแผนการสร้างสะพานข้ามความตายจากชีวิตในโลกนี้กับชีวิตหน้า ซึ่งถือว่ามนุษย์ไม่มีการสิ้นสุด”



ค่านิยมของปรัชญากลุ่มลัทธิสัจนิยม (realism) กับการศึกษา

ลักษณะของค่านิยมของปรัชญากลุ่มลัทธินิยมนี้มีลักษณะคล้ายกับค่านิยมของปรัชญากลุ่มลัทธิจิตนิยมที่ยึดถือว่า ลักษณะความจำเป็นเบื้องต้นของค่านิยมเป็นความถาวรเบื้องแรกแต่แตกต่างในตัวของมันเองตามเหตุผลของการคิด ฝ่ายลัทธิสัจนิยมจะเห็นด้วยกับ Aristotle ว่ามีกฏศีลธรรมของจักรวาลอยู่และใช้ประโยชน์ได้ด้วยการใช้เหตุผลซึ่งผูกมัดให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ฝ่ายลัทธิสัจนิยมของศาสนาคริสต์ยอมรับว่ามนุษย์สามารถเข้าใจกฏศีลธรรมนี้ได้มากโดยการใช้เหตุผลแต่เป็นการเชื่อว่า กฎต่าง ๆ เหล่านั้นสร้างขึ้นโดยพระเจ้ามอบให้มนุษย์ปฏิบัติและยึดถือ และโดยที่ความเชื่อทางศาสนาคริสต์เชื่อว่ามนุษย์มีบาปหรือมลทินติดมาแต่กำเนิดที่เรียกว่า “บาปกำเนิด” ดังนั้นมนุษย์จึงไม่อาจปฏิบัติเรื่องค่านิยมได้โดยปราศจากการช่วยเหลือของพระเจ้า

ปรัชญาเมธีฝ่ายลัทธิสัจนิยมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์จะปฏิเสธค่านิยมที่กล่าวถึงนี้ โดยไม่เชื่อความศักดิ์สิทธิที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติแต่จะเชื่อว่าทั้งธรรมชาติของมนุษย์กับธรรมชาติโดยทั่วไปของมนุษย์เป็นสิ่งคงที่ ค่านิยมของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งก็คงที่ด้วยมันเป็นจริงเช่นนี้แต่การปฏิบัติจะแตกต่างกันออกไปโดยการพิจารณาตามส่วนต่างๆ ของโลก แต่แต่ค่านิยมพื้นฐานจะคงอยู่เช่นเดิม ซึ่งทางฝ่ายลัทธิจิตนิยมจะถือว่ามนุษย์เป็นความสมบูรณ์ แต่ฝ่ายนักสัจนิยมวิทยาศาสตร์จะถือว่า มนุษย์เป็นอย่างที่เขาเป็นอยู่ และไม่สมบูรณ์

ฝ่ายลัทธิสัจนิยมยอมรับว่าครูควรต้องเป็นผู้ให้ หรือบอกค่านิยมต่าง ๆ ที่ได้กลั่นกรองดีแล้วให้กับนักเรียน ศีลธรรมเบื้องต้นและมาตราฐานของสุนทรียศาสตร์ซึ่งครูสอนนักเรียนไม่ควรมีผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น นักเรียนควรได้เข้าใจอย่างกระจ่างชัดถึงธรรมชาติของความถูกและความผิด โดยยึดจุดมุ่งหมายของความดีและความงามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในแบบนิยมของศีลธรรมและสุนทรียศาสตร์ การสอนของฝ่ายนี้จะมุ่งเน้นเนื้อหาชา โรงเรียนควรต้องสร้างปัจเจกบุคคลให้เป็นผู้รอบรู้ตามความเชื่อของ Aristotle ถือว่า นักเรียนควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีชีวิตอยู่โดยมาตราฐานทางศีลธรรมของจักวาล และเป็นมาตราฐานที่เป็นจริงที่สุด เพราะอะไรที่เป็นสิ่งที่ถูก จะถือเป็นสิ่งที่ถูกสำหรับมนุษย์โดยทั่วไป จะไม่ใช่ถูกเฉพาะในมวลสมาชิกของชนผิวหนึ่งหรือสังคมหนึ่งเท่านั้น เป็นความจำเป็นของนักเรียนที่จะแสวงหาคุณลักษณะนิสัยที่ดี เพราะคุณงามความดีจะไม่มาหามนุษย์เองแบบอัตโนมัติ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และใฝ่หา

ปราชญ์ฝ่ายลัทธิสัจนิยมของศาสนาคริสต์ประกาศว่า จริยศาสตร์ตามธรรมชาติไม่เป็นการเพียงพอเพราะมนุษย์ถูกสร้างขึ้นเกินกว่าที่ธรรมชาติจะเข้าใจได้เพื่อให้บรรลุถึงสภาพที่เหนือธรรมชาติ นั่นคือการนิพพานของวิญญาณ ดังนั้นเป้าประสงค์ของการศึกษาศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของการล่อให้เกิดความต้องการในเรื่องวิญญาณ

นักเรียนควรจะได้รับการสอนให้รักษาวิญญาณของเขาให้บริสุทธิ์และสูงส่งเพื่อให้เป็นอิสระพ้นจากมลทินและบาป นักเรียนจะต้องแสวงหาความดีและหลีกเลี่ยงความชั่วไม่ใช่เพราะเหตุผลที่เป็นเรื่องทางสังคมแต่เป็นความประสงค์ของพระเจ้าและโดยที่ธรรมชาติของมนุษย์มีบาปติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดดังได้กล่าวมาแล้ว การศึกษาจึงมรบทบาทในเรื่องการแก้ไข วินัยที่เข้มแข็งเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อขจัดนิสัยที่เลว และปลูกฝังนิสัยที่ดีแทนทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธาเพื่องานการศึกษาจะไดั้สมฤทธิ์ผล

ส่วนครูฝ่ายลัทธิสัจนิยมจะสอนนักเรียนว่าอะไรถูก อะไรผิดซึ่งมาจากความเข้าใจที่มีต่อธรรมชาติของมนุษย์แต่ไม่ใช่จากหลักของศาสนา หลักศีลธรรมจะวางอยู่บนรากฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์พิเศษชั้นสูงโดยจะยึดถือว่ามนุษย์จะต้องเอาชนะความเลวด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ ค่านิยมของปรัชญาฝ่ายลัทธิสัจนิยมนี้ มุ่งในเรื่องการปลูกฝังและพัมนาตนเองตามความสามารถของแต่ละบุคคลโดยเน้นในเรื่องปัญาความฉลาดและขอบเขตของศีลธรรมจากประสบการณ์ Broudy ได้กล่าวไว้ว่า

“สำหรับเรื่องการศึกษา ค่านิยมจะหมายถึงความเหมาะสมที่ดีที่สุด สูงส่งที่สุดของวัฒนธรรมของอายุขัยของปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายถึงการให้บุคคลได้กลายเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในทุกสาขาของชีวิตมนุษย์ เพื่อว่าบุคคลจะได้ไม่เพียงมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ให้มีชีวิตอยู่ดีด้วย…”



ค่านิยมของปรัชญากลุ่มลัทธิปฏิบัตินิยม (pragmatism) กับการศึกษา

Butler ได้แนะแนวทางให้เห็นว่าปรัชญาฝ่ายลัทธิปฏิบัตินิยมจะรรับเอาหลักการของค่านิยม ๒ ทางด้วยกันคือ

ทางที่แสดงสถานการณ์ ปัจจุบันของการเลือกค่านิยม

ทางที่แสดงการเลือกค่านิยมในสถานการณ์ปัจจุบันที่จะนำไปสู่สถานการณ์อนาคต

ทางที่แสดงสถานการณ์ของการเลือกค่านิยมเกี่ยวข้องกับชนิกของการทำให้สมประสงค์ในความปราถนาแต่ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีความเห็นแก่ตัว เป็นสถานการณ์ที่อยู่ในขอบข่ายของความชอบมากกว่าของความคิดและการกระทำของมนุษย์ โดยถือว่าชีวิตมนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่มีปัญหา ความต้องการของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับชนิดของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสถานการณ์เหล่านี้ให้หลุดพ้น หรือผ่านคลายลง ดังนั้น ค่านิยมของฝ่ายนี้จึงมุ่งเรื่องของความจำเป็นเพื่อความปรารถนาให้ชีวิตได้รับความจำเป็นเพื่อความปรารถนาให้ชีวิตได้รับความพอใจแต่ก็ถือว่า สถานการณ์ต่าง ๆ มิได้มีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองตามลำพัง แต่จะมุ่งที่ค่านิยมที่ก่อให้เกิดความพอใจในผลที่ติดตามมาซึ่งไม่ใช่พอใจที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นแก่ตัว ค่านิยมในแนวนี้จึงเป็นค่านิยมที่เป็นความพอใจ (Satisfactory) ต่อสถานการณ์มากกว่าความพอใจต่อบุคคล หรือบุคคลทั่วไป ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น ๆ

สำหรับทางที่สองคือทางที่แสดงการเลือกค่านิยมในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อนำไปสู่ค่านิยมในสถานการณ์อนาคตนั้น เนื่องจากการค้นหาการแก้ปัญหาของสถานการณ์ปัจจุบันที่จะทำให้พอใจต่อความต้องการทั้งหมดในสถานการณ์นี้ บุคคลจะต้องค้นหาวิธีการแก้ปัญหาของการกระทำ ซึ่งไม่ใช่เป็นหลักประกันของสถานการณ์ในอนาคต นั่นคือการแก้ปัญหาของสถานการณ์ปัจจุบันจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าการแก้ปัญหานั้นจะนำไปสู่การแก้สถานการณ์ต่าง ๆในอนาคต เพื่อให้มีการควบคุมความพอใจและควบคุมทิศทางของสถานการณ์นั้นด้วย

สำหรับทางที่สองคือทางที่แสดงการเลือกค่านิยมในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่ค่านิยมในสถานการณ์อนาคตนั้น เนื่องจากจากค้นหาการแก้ปัญหาของสถานการณ์ปัจจุบันที่จะทำให้พอใจต่อความต้องการทั้งหมดในสถานการณ์ในอนาคต นั่นคือการแก้ปัญหาของสถานการณ์ปัจจุบันจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าการแก้ปัญหานั้นจะนำไปสู่การแก้สถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อให้มีการควบคุมความพอใจและควบคุมทิศทางของสถานการณ์นั้นด้วย

ด้วยลักษณะของค่านิยมของปรัชญาฝ่ายนี้ดังได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่า ค่านิยมต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกัน จริยศาสตร์และศีลธรรมเป็นสิ่งไม่มั่นคง แต่จะเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและสังคม แต่มิได้หมายความว่า ค่านิยมทางศีลธรรมจะขึ้น ๆ ลง ๆ หรือแกว่งไกว จากเดือนหนึ่งเปลี่ยนไปอีกเดือนหนึ่งก็เปลี่ยนไปอีก ยกตัวอย่างเช่น การที่สังคมมีค่านิยมว่า “มนุษย์พึงต้องไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน” อันนี้ก็มิได้เป็นหลักที่ตายตัว ในบางโอกาสก็อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องฆ่ามนุษย์ด้วยกัน เช่น ในกรณีป้องกันตัว หรือในยามศึกสงคราม หรือในการป้องกันชีวิตให้ผู้อื่น เป็นต้น

การสอนของครูในเรื่องค่านิยมของปรัชญาฝ่ายนี้จึงมุ่งให้นักเรียนรู้วิธีการตัดสินใจต่อสภาพหรือสถานการณ์ของการกระทำ เพื่อจะทำให้เกิดผลดีที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ นักเรียนจะต้องรู้จักพิจารณาปัญหา การกระทำของมนุษย์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และรู้จักเลือกค่านิยมที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ เพราะยิ่งสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นเพียงใด การสอนนักเรียนในลักษณะนี้ก็ยิ่งมีความจำเป็นและสำคัญขึ้นเพียงนั้น แต่จะต้องไม่เป็นการสอนให้มีความลำเอียงหรือความเห็นแก่ตัว ซึ่งปรัชญาฝ่ายนี้คัดค้านการกระทำและความคิดเช่นนี้

William James ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณค่าของปรัชญาฝ่ายลัทธิปฏิบัตินิยมไว้ โดยเปรียบเทียบคุณค่าของปรัชญานี้ว่าเหมือนกับความอุ่นและความเป็นกันเองเยี่ยงมารดาที่มีต่อบุตร ซึ่งในงานเขียนของท่าน ท่านใช้สรรพนามแทน pragmatism ว่า “หล่อน” หรือ “เธอ” (she) แต่มียกมากล่าวนี้มุ่งในเนื้อหาเป็นสำคัญ จึงมิได้สรรพนามเช่นนั้น James ได้กล่าวว่า

“ลัทธิปฏิบัตินิยม จะไม่มีความลำเอียงไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ไม่มีข้อพิสูจน์หรือไม่มีเหตุผล ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่พิสูจน์ไม่ได้ ค่านิยมจะทำให้มีความพอใจ ร่าเริง และสบายใจ…มันจะช่วยทำให้ส่วนต่าง ๆ ของชีวิตสมบูรณ์และดีที่สุด เพราะส่วนต่าง ๆ ของชีวิตนั้นได้ผูกพันอยู่กับความต้องการของประสบการณ์ของการร่วมอยู่ด้วยกัน… เห็นไหมว่าลัทธิปฏิบัตินิยม เป็นประชาธิปไตยแค่ไหน…ท่าทีของลัทธิปฏิบัตินิยมก็มีหลายแบบและยืดหยุ่นได้ มีแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ที่มั่งคั่งและไม่สิ้นสุด และสรุปได้ว่าลัทธิปฏิบัตินิยม เป็นมิตรและเป็นกันเองเหมือนกับธรรมชาติของมารดาทีเดียว



จริยศาสตร์กับการศึกษา (ethics and education)

จริยศาสตร์เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของสังคมศาสตร์ ซึ่งมุ่งศึกษาในเรื่องของความดีความงาม หรือความเป็นจริยะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนามธรรมมากกว่ารูปธรรม คำว่า ethics มาจากคำว่า ethos ในภาษา กรีกซึ่งหมายความถึงปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) เป็นเรื่องการศึกษาหรือระเบียบแบบแผนซึ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ความถูกหรือความผิด ความดีหรือความเลว คุณงามความดี หรือความชั่ว ความปรารถนาหรือความฉลาดในการปฏิบัติ ความปรารถนาหรือความหรือความฉลาดในเรื่องผลขั้นสุดท้าย จุดมุ่งหมายต่าง และกิจการต่าง ๆ ซึ่งจริยศาสตร์จะเกี่ยวข้องด้วยมีลักษณะเป็น ๒ แบบด้วยกัน คือ แบบหนึ่ง คือ จริยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาและทางสังคม อีกแบบหนึ่งเป็นจริยศาสตร์ที่ให้การอธิบายการตัดสินต่าง ๆ ทางจริยธรรม เพื่อแสดงถึงการยอมรับและการไม่ยอมรับในสิ่งที่มีอยู่ และทำไมเราจึงยอมรับและปฏิเสธในสิ่งที่เราทำอยู่

จริยศาสตร์มุ่งเพื่อค้นหา หรือเพื่อกำหนดแนวคิดหรือมาตรฐานของคุณลักษณะของการมีชีวิตที่ดี ซึ่งต้องอาศัยเกณฑ์มาตรฐานทางจริยศาสตร์นี้เป็นหลักในการดำรงชีวิต Runes ได้จัดแบ่งแบบของการชี้หรือตัดสินทางจริยศาสตร์ไว้ ๒ แบบด้วยกัน เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าอะไรหรืออย่างไรจึงถือว่าเป็นจริยะได้ดังนี้

๑. การตัดสินค่านิยม (judgment of value) การตัดสินใจในแง่ของ

ความดีหรือความเลว ความปรารถนาหรือความไม่พึงปรารถนา ความต้องการของบุคคลต่าง ๆ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการตัดสินคุณค่าของความรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี (knowledge is good.) เป็นต้น

๒. การตัดสินข้อผูกมัด (judgment of obligation) เป็นการตัดสินใจ

ในแง่ของข้อผูกมัดต่าง ๆ ในเรื่องถูกหรือผิด ฉลาดหรือโง่ ในการกระทำต่าง ๆ และความประพฤติต่าง ๆ การตัดสินใจเรื่องของการบังคับบัญชา การรับรอง หรือการกล่าวหาในทางความประพฤติ

สำหรับความหมายของจริยศาสตร์ตามนัยของการศึกษานั้น Good ได้ให้ความหมายไว้ว่า จริยศาสตร์เป็นหลักและมาตรฐานของความประพฤติที่พึงประสงค์ให้มีขึ้น ซึ่งเป็นที่คาดหมายของมวลสมาชิกที่มีอาชีพเกี่ยวข้องในเรื่องของการศึกษาต่อบุคคลอื่น ๆ ในทุก ๆ สถานการณ์ที่มีผลมาจากการศึกษา

การศึกษามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องศีลธรรมอย่างกว้างขวาง ครูจะต้องให้ความสนใจในเรื่องที่นักเรียนของตนพึงจะต้องประพฤติอะไร และประพฤติอย่างไร โดยครูจะต้องเกี่ยวข้องในการช่วยให้ปัจเจกบุคคลเกิดค่านิยมต่าง ๆ ทางศีลธรรม และพฤติกรรมทางสังคมเป็นส่วนรวมด้วย

ปัญหามีอยู่ว่า พฤติกรรมทางศีลธรรมอะไรบ้างที่ครูจะต้องสนับสนุน หรือทำให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนในชั้นเรียนของตนครูควรจะส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมทางศีลธรรมตามค่านิยมที่ชุมชนของตนต้องการหรือไม่ ครูควรส่งเสริมลักษณะนิสัยเฉพาะที่ครูปรารถนาให้มีเท่านั้นหรือไม่ หรือครูควรจะปล่อยให้ลักษณะนิสัยของนักเรียนเป็นไปเองหรือมีขึ้นเองโดยอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน (pee group) คำตอบที่จะตอบคำถามเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับเจตคติที่มีต่อจริยธรรมของแต่ละบุคคล ครูคนใดที่เอาจริงเอาจังกับอาชีพของตนต้องแสวงหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าว และตัดสินเจตคติของตนที่มีต่อจริยธรรม การที่จะช่วยให้ครูปฏิบัติเช่นนี้ได้ดีนั้น ครูจะต้องศึกษาเกี่ยวกับ จริยศาสตร์นั่นเอง

จริยศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องค่านิยมในขอบเขตของความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัญหาว่า “ชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์คืออะไร เราควรจะประพฤติอย่างไร” ซึ่งจริยศาสตร์จะเป็นแนวชี้ได้ว่าค่านิยมที่ถูกต้องคืออะไร ที่จะเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติต่าง ๆ ได้ ในอดีตจริยศาสตร์เคยเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา จริยศาสตร์ของโลกตะวันตกเคยมีที่มาจากศาสนาและการสอนศาสนา แต่ในปัจจุบัน จริยศาสตร์ได้แยกออกจากศาสนา ดังตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แยกเรื่องของศาสนาออกจากรัฐ มีการห้ามสอนศาสนาในโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนที่ดำเนินการโดยศาสนาโดยตรงจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐแต่อย่างใด ผลจากการนี้ ได้กระตุ้นให้มีความต้องการสิ่งชดเชยในด้านการสอนศีลธรรม และนี่เองที่ทำให้จริยศาสตร์มีความสำคัญขึ้น ซึ่งจะเป็นการสอนแบบเดินสายกลางไม่โอนเอียงไปตามความเชื่อของศาสนา แต่จริยศาสตร์จะมุ่งในเรื่องค่านิยมทางศีลธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว

Kneller ได้แบ่งทฤษฎีทางจริยศาสตร์ออกเป็น ๒ แบบ คือ

๑. จริยศาสตร์แบบสำนึกได้เอง (intuitions)

คือนิยมต่าง ๆ ทางศีลธรรมที่ปัจเจกบุคคลเข้าใจได้โดยตรง โดยมนุษย์มีความรู้สึกทางศีลธรรมตั้งแต่กำเนิดว่าอะไรถูก อะไรผิด ค่านิยมทางศีลธรรมตามแนวนี้จะมีความถูกต้องในตัวของมันเอง ซึ่งความถูกต้องไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยหลักการของเหตุผล หรือโดยการเห็นประจักษ์ แต่รู้ได้ด้วยการสำนึกได้เอง

๒. จริยศาสตร์แบบธรรมชาตินิยม (naturalism)

จริยศาสตร์แบบนี้ถือว่าค่านิยมทางศีลธรรมควรจะได้วินิจฉัยและศึกษาอย่างระมัดระวังในผลที่จะตามมา ตัวอย่างเช่น สำหรับผู้ที่เชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องของความไม่ถูกต้อง คนที่ยึดถือความคิดเช่นนี้ไม่ใช่เพราะการ

พิจารณาทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสังเกต หรือการศึกษาตามแนววิทยาศาสตร์ที่ได้เห็นผลที่ติดตามมาจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศในลักษณะเช่นนั้น บุคคลที่ยอมรับและเข้าใจจริยศาสตร์ตามแนวตามแนวธรรมชาตินิยมนี้ จะเลือกหรือตัดสินค่านิยมทางศีลธรรมในแง่ของการสืบถามทางวิทยาศาสตร์ ที่จะเปิดเผยความถูกหรือความผิดของพฤติกรรมต่าง ๆ และการตรวจสอบประสบการณ์ของชีวิตที่จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดของมนุษย์ที่จะปฏิบัติ นั่นคือ จริยศาสตร์แบบธรรมชาตินิยมหมายถึงค่านิยมทางศีลธรรมที่จะสามารถพบได้ โดยการตรวจสอบด้วยการปฏิบัติ ซึ่งทำให้ได้ผลติดตามมาอันเนื่องจากความประพฤติของมนุษย์

ปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับครูก็คือ ค่านิยมทางศีลธรรมนี้จะสอนให้กับนักเรียนเหมือนวิชาทั่วไปเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงจะได้หรือไม่ Socrates ได้สืบค้นความรู้จากคำถามที่เกี่ยวข้องกับคำถามทำนองนี้และเชื่อว่า มนุษย์มีความดี มีธรรมะ และมีความฉลาดในตัวของแต่ละบุคคล ดังนั้น ครูสามารถนำเอาค่านิยมทางศีลธรรมทำให้เกิดขึ้นในมโนธรรมของนักเรียนได้ ท่านเห็นว่าคุณงามความดีเป็นเรื่องที่สอนกันได้ แต่หมายถึงการสอนโดยมุ่งวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนได้ทราบเกี่ยวกับคุณงามความดี มีธรรมะ และมีความฉลาดในตัวของแต่ละบุคคล ดังนั้น ครูสามารถนำเอาค่านิยมทางศีลมาทำให้เกิดขึ้นในมโนธรรมของนักเรียนได้ ท่านเห็นว่าคุณงามความดี เป็นเรื่องที่สอนกันได้ แต่หมายถึงการสอนโดยมุ่งวิะการที่จะช่วยให้นักเรียนได้ทราบเกี่ยวกับคุณงามความดีแต่ปัญหาอยู่ที่ว่า นักเรียนจะสามารถปฏิบัติตามที่เขาได้ร่ำเรียนไปหรือไม่ เราคงยอมรับกันว่าเป็นการยากที่จะกล่าวว่านักเรียนได้เรียนอะไรบ้าง

นอกจากเราจะได้เห็นว่านักเรียนสามารถปฏิบัติตามในสิ่งที่เขาได้เรียนไปหรือไม่ ถ้าเราให้ความหมายในเรื่องการสอนและการเรียนรู้ว่าเป็นเพียงการแสวงหาความรู้ว่าศีลธรรมหมายถึงอะไร ดังนั้น ค่านิยมก็จะเป็นสิ่งที่สอนกันได้ ครูมีหน้าที่ที่จะทดสอบนักเรียนเพื่อที่จะได้ทราบว่านักเรียนได้รู้ในเรื่องค่านิยมทางศีลธรรมดีเพียงใด และสามารถจะช่วยให้นักเรียนรู้จักเลือกการกระทำต่าง ๆ ได้ดีเพียงใด แต่ก็ไม่มีครูคนใดที่จะสามารถรับประกันได้ว่านักเรียนจะไม่ทุจริตในการสอบ แม้ครูจะได้พยายามสุดความสามารถที่จะให้นักเรียนได้รู้ว่าค่านิยมทางศีลธรรมคืออะไร และช่วยนักเรียนในการเลือกค่านิยมสำหรับชีวิตของเขาเองแล้วก็ตาม สิ่งที่ครูจะคาดหวังว่านักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องค่านิยมทางศีลธรรมที่ครูได้สอนไปก็คือ

นักเรียนได้รู้ว่าอะไรถูก และอะไรผิด

นักเรียนได้รู้ว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น

นักเรียนได้มีความคิดว่าอะไรที่ตนควรจะต้องทำหรือปฏิบัติในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ไป


บทสรุป

ปรัชญา เป็นวิชาที่มีเนื้อหากว้างขวาง เพราะเป็นต้นตอแห่งสรรพวิชา วิชาการหรือศาสตร์ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาเป็นหลักทั้งนั้น จึงมีนักปราชญ์จำนวนมากที่พยายามจะแบ่งแยกปรัชญาออกเป็นสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปศึกษาได้ง่ายขึ้น จะอย่างไรก็ตาม แม้นักปราชญ์จะพยายามแบ่งแยกอย่างไรก็คงอยู่ในขอบเขต ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกไว้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ คือ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา ดังนั้น สาขาของปรัชญาที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จึงมี ๓ สาขาใหญ่ ๆ คือ

๑. อภิปรัชญา

อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมีอยู่ ความเป็นอยู่ของสรรพสิ่ง โดยทั่วไปแล้วถือว่า สิ่งที่มีอยู่ย่อมเป็นสิ่งแท้จริง และสิ่งแท้จริงย่อมมีอยู่ ความมีอยู่กับความแท้จริงจึงเป็นอันเดียวกัน ดังนั้น ทั้ง ๒ คำจึงเป็นอันเดียวกัน ต่างแต่ว่า Ontology ใช้มาก่อน Metaphysics ใช้ทีหลัง

อภิปรัชญาหรือภววิทยา มีขอบข่ายในการศึกษา ๓ เรื่องคือ

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยธรรมชาติ ศึกษาเรื่องเอกภพหรือธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของอวกาศ กาล สสาร ความเป็นเหตุและผล ชีวิต วิวัฒนาการ ความเป็นไปแบบเครื่องจักรกลของเอกภพ และความเป็นไปแบบมีวัตถุประสงค์

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ ศึกษาเรื่องธรรมชาติของวิญญาณ กำเนิดของวิญญาณ จุดหมายปลายทางของวิญญาณ และความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ ศึกษาเรื่องธรรมชาติของพระเจ้า คุณลักษณะของพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับเอกภพ และกับวิญญาณ

๒. ญาณวิทยา (Epistemology)

คือทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ธรรมชาติและเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรายละเอียดของความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นความเป็นไป และตัดสินได้ว่าอะไรเป็นความจริงแท้ ซึ่งเกิดจากความรู้ที่แท้จริง เป็นการศึกษาสภาพทั่ว ๆ ไปของความรู้อย่างกว้าง ๆ หากพูดถึงญาณวิทยาแล้ว ต่างก็พยายามที่จะอธิบายหรือตอบปัญหาเกี่ยวกับ

ความรู้คืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร

ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร

จะสร้างความรู้ได้อย่างไร

อะไรคือสิ่งที่เราสามารถรู้ได้ และรู้ได้มากน้อยเพียงไร

อะไรคือเงื่อนไข เหตุปัจจัย หรือแหล่งให้เกิดความรู้ได้

ความรู้ที่ได้มานั้นเป็นจริงหรือไม่ หากความรู้นั้นเป็นจริง ถูกต้อง เราสามารถทดสอบความรู้นั้นได้อย่างไร หรือมีมาตรการในการทดสอบได้อย่างไร

๓. คุณวิทยา (Axiology)

เป็นวิชาที่ว่าด้วยคุณค่าต่าง ๆ คุณค่าที่ว่านั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทคือ

จริยศาสตร์ (Ethics) เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความประพฤติ กล่าวถึงความดี ความชั่ว การตัดสินความดีความชั่ว เป็นการแสวงหาความดีอันสูงสุด

สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี หลักการตัดสินความงาม องค์ประกอบของความงาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ เป็นการแสวงหาความงามอันสูงสุด

ตรรกศาสตร์ (Logic) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการให้เหตุผล การนิยามความหมายอันแท้จริง เป็นการแสวงหาความจริงอันสูงสุด อันประกอบด้วยอุปนัย และนิรนัย

เทววิทยา (Theology) เป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ทางจิตใจ กล่าวคือหลักคำสอนทางด้านศาสนา


เอกสารอ้างอิง

กีรติ บุญเจือ. แก่นปรัชญากรีก. กรุงเทพ ฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๘.

แก่นปรัชญายุคกลาง. กรุงเทพ ฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๗.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.

ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. ปรัชญาตะวันตกร่วมสมัย ๑. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๒๒.

เดือน คำดี. ปัญหาปรัชญา. กรุงเทพ ฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๐.

พุทธปรัชญา. กรุงเทพ ฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๔.

ธีรยุทธ สุนทรา, ผศ.. ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

บุญมี แท่นแก้ว, ผศ.. ปรัชญา, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๖.

บุณย์ นิลเกษ, ดร.. เมตาฟิสิกซ์เบื้องต้น. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, ๒๕๒๖.

บรรจบ บรรณรุจิ. จิต มโน วิญญาณ. กรุงเทพฯ : ไร่เรือนสมาธิ, ๒๕๓๓.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ – ไทย. กรุงเทพ ฯ: ราชบัณฑิตสถาน, ๒๕๓๒.

วิธาน สุชีวคุปต์ และคณะ, ผศ.. ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๒.

วิธาน สุชีวคุปต์, ผศ.. อภิปรัชญา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๒๕.

สถิต วงศ์สวรรค์, รศ.. ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : อักษรพิทยา, ๒๕๔๐.

สุจิตรา (อ่อนค้อม) รณรื่น, รศ.. ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๔๐.

สนิท สีสำเดง. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา. กรุงเทพ ฯ: นีลนาราการพิมพ์, ๒๕๓๘.

สุเมธ เมธาวิทยกุล, รศ.. ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๐.

อดิศักดิ์ ทองบุญ. คู่มืออภิปรัชญา. กรุงเทพ ฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๓.

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย. กรุงเทพ ฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๖.

ปรัชญาอินเดีย. กรุงเทพ ฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๒.

อมร โสภณวิเชษฐวงศ์, ผศ.. ปรัชญาเบื้องต้น, กรุงเทพฯ : ประสานมิตร, ๒๕๒๐.


รวบรวมข้อมูลโดย : นายสถิต สมเสงี่ยม


ดาวน์โหลดไฟล์ : สาขาปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา คุณวิทยา


ตัวอย่างไฟล์ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น