การวางแผนทรัพยากรมนุษย์



รายงาน

เรื่อง การวางแผนทรัพยากรมนุษย์

นำเสนอ

อาจารย์*****************

จัดทำโดย

*******************    รหัส ***************

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์แนวพุทธ

รหัสวิชา (๔๐๖ ๓๑๔) ๓ นก.

สาขาการจัดการเชิงพุทธ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์

ชั้นปีที่ ********* ภาคเรียนที่ *********** ปีการศึกษา ๒๕***********

คำนำ

การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธนั้นเป็นกระบวนการที่พระพุทธศาสนามองว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้น กระบวนการต่าง ๆ ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์จึงเริ่มต้นที่ตัวบุคคล กล่าวคือ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่าง ๆ นั้นได้กำหนดเอาบุคคลเป็นจุดศูนย์กลางแล้วได้บูรณาการหลักธรรมต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้เป็นส่วนประกอบในการจัดการซึ่งส่วนมากจะเน้นเรื่องของ กาย วาจา ใจ และหลักธรรมหลักที่นำมาใช้ในการจักการดังกล่าวคือหลัก ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา ซึ่งทั้งสามนี้จะเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และในรายงานเล่มนี้ได้รวบรวมเนื้อหาดังกล่าวทั้งหมดอย่างละเอียดไว้แล้ว ท่านผู้สนใจในหัวข้อดังกล่าว สามารถค้นคว้าสิ่งต่างในรายงานเล่มนี้ได้เลย

หากท่านต้องการเนื้อที่มีความละเอียดมากกว่านี้ ผู้จัดทำ แนะนำให้ท่านเปิดไปที่หน้าบรรณานุกรม เพื่อดูแหล่งที่มาของข้อมูลในรายงานเล่มนี้ และสุดท้ายผู้จัดทำขอให้ผู้ที่ได้อ่านรายงานที่เต็มไปด้วยเกร็ดความรู้มากมายในเล่มนี้ ให้มีความสุขสวัสดิ์ตลอดไป เทอญ

******************

สารบัญ

เรื่อง หน้า

บทนำ ๑

การจัดการทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพุทธธรรม ๑

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ ๕

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ ๑๖

หลักธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ๑๘

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๒๒

ความหมายของกลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๒๒

เหตุผลของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๒๓

ลักษณะที่สำคัญในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๒๕

ปัจจัยที่ควรคำนึงในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๒๖

กระบวนการในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๒๗

เทคนิค/วิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการพยากรณ์ทรัพยากรมนุษย์ ๓๐

กลยุทธ์ในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ๓๑

บทสรุป ๓๒

บรรณานุกรม ๓๓





บทนำ

การจัดการทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพุทธธรรม



๑. จุดมุ่งหมายของกระบวนการพัฒนามนุษย์เชิงพุทธ

ความคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนามี ๔ อย่างคือ

๑. พระพุทธศาสนามองว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นไปตามธรรมชาติในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยและมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้น เมื่อธรรมชาติเป็นระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย มนุษย์ซึ่งเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งด้วย ก็จึงเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่เป็นองค์รวมอันนี้ การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ เราเรียกว่าความเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาล เป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อมนุษย์มาเป็นพวกหนึ่งหรือประเภทหนึ่งอยู่ในระบบนี้ มันก็อยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนี้ด้วย จะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติหรือไม่เป็น ก็เป็นไปโดยอัตโนมัติเท่านี้

๒. ในเมื่อมนุษย์อยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ชีวิตและการกระทำของมนุษย์ ก็ย่อมเป็นไปตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ทำอะไรขึ้นมา ก็มีผลในระบบเหตุปัจจัยนี้ กระทบต่อสิ่งภายนอกบ้าง กระทบตัวเองบ้าง และในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก ก็มีผลกระทบต่อตัวมนุษย์ด้วย คือทั้งในมุมกิริยาและปฏิกิริยา ตัวเองทำไปก็กระทบสิ่งอื่น สิ่งอื่นเป็นอย่างไรก็มากระทบตัวเอง ข้อสำคัญคือมองไปให้ครบตลอดทั่วระบบความสัมพันธ์นี้ ว่าชีวิตและกิจกรรมการกระทำของตนเอง ทั้งเป็นไปตามระบบเหตุปัจจัยแล้วก็ทำให้เกิดผลตามระบบเหตุปัจจัยนั้นด้วย

๓. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก ทางพระเรียกว่าเป็นทัมมะ คือเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ข้อนี้ถือว่าเป็นความคิดรากฐานที่สำคัญที่สุด การเกิดระบบจริยธรรมในพระพุทธศาสนาขึ้นมาก็เพราะถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก หลักนี้เป็นแกนสำคัญของจริยธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้จริยธรรมมีความหมายเท่ากับการศึกษา และเพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ จริยธรรมจึงเป็นระบบที่มีความประสานกลมกลืน เช่นทำให้จริยธรรมกับความสุข เป็นสภาพที่พัฒนาไปด้วยกันได้หรือเป็นจริยธรรมแห่งความสุข หลักการนี้ถือว่า ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนา ถ้าไม่พัฒนาแล้วมนุษย์ไม่ประเสริฐ และมนุษย์นั้นเมื่อพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงอิสรภาพและความสุขได้จริง อันนี้เป็นข้อยืนยันของพระพุทธศาสนาว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้จนประเสริฐสุดเข้าถึงอิสรภาพและความสุขได้จริง

๔. ความสามารถของมนุษย์ที่พัฒนาแล้วอย่างหนึ่ง คือการทำให้ความแตกต่าง กลายเป็นความประสานเสริมเติมเต็มกลมกลืนซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสมบูรณ์และดุลยภาพ เมื่อมนุษย์ยังไม่พัฒนา ทำให้เกิดความแตกต่างเป็นขัดแย้ง หรือเกิดความสับสนแล้วความแตกต่างก็กลายเป็นความขัดแย้ง ศักยภาพของการพัฒนาคือการทำให้คนสามารถทำให้ความขัดแย้งมีความหมายเป็นความประสานเสริม การพัฒนามนุษย์อย่างนี้จะต้องมาประยุกต์เข้ากับการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมทั้งหมด

เครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์ที่แท้จริง คือการที่ความสามารถยิ่งขึ้น ๆ ในการทำให้ความเป็นอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายเกื้อกูลเอื้อประโยชน์แก่กันมากขึ้นเบียดเบียนกันน้อยลง และทำให้โลกอุดมสมบูรณ์งดงามเหมาะแก่การอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๕๐ : ๑๕๑)

พระพุทธศาสนาได้แบ่งจุดหมายของชีวิตออกเป็น ๒ ระดับ คือ จุดหมายระดับโลกียะและระดับโลกุตตระ การจะเข้าถึงแต่ละจุดหมายนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกันและคุณสมบัติของผู้สำเร็จในแต่ละเป้าหมายก็แตกต่างกันเช่นกัน ดังมีรายละเอียด ดังนี้

๑. จุดหมายระดับโลกียะ

ในการจะเข้าถึงจุดหมายระดับโลกียะนั้น สามารถทำได้โดยการดำเนินชีวิตให้บรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของการมีชีวิตในปัจจุบันและในเบื้องหน้าซึ่งในทางพระพุทธศาสนาใช้หลักทิฏฐธัมมิกัตถะ หมายถึง จุดหมายขั้นตาเห็นหรือประโยชน์ปัจจุบัน ที่สำคัญประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้คือ มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค งามสง่า อายุยืนยาว มีเงิน มีงาน มีทรัพย์จากอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ มีสถานภาพดี ทรงยศ เกียรติ ไมตรี เป็นที่ยอมรับในสังคม และมีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ นอกจากนั้นยังใช้หลักสัมปรายิกัตถะ หมายถึงจุดหมายขั้นเลยตาเห็นหรือประโยชน์เบื้องหน้า ที่เป็นคุณค่าของชีวิตซึ่งให้เกิดความสุขล้ำลึกภายใน โดยเฉพาะ กล่าวคือ ความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ด้วยศรัทธา มีหลักใจ ความภูมิใจในชีวิตที่สะอาด ที่ได้ประพฤติแต่ความดีงามสุจริต ความแกล้วกล้ามั่นใจ ด้วยมีปัญญาที่จะแก้ปัญหานำพาชีวิตไป และความโปร่งโล่งมั่นใจ ว่าได้ทำกรรมดี มีหลักประกันวิถีสู่ภพใหม่ (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๔๙ : ๑๕)

๒. จุดหมายระดับโลกุตตระ

จุดหมายระดับโลกุตตระนั้น จัดเป็นจุดหมายสูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา คือ การมีปัญญารู้เท่าทันความจริง เข้าถึงธรรมชาติของโลกและชีวิต อันทำให้จิตใจเป็นอิสระ โดยไม่หวั่นไหว หรือถูกครอบงำด้วยความผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ ไม่ผิดหวังโศกเศร้าบีบคั้นจิตเพราะความยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ๆ ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส สดชื่น เบิกบานใจตลอดเวลา และเป็นอยู่และกระทำการด้วยปัญญาซึ่งมองที่เหตุปัจจัย

จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาตั้งจุดหมายสูงสุดไว้ที่การบรรลุนิพพาน ซึ่งจัดว่าเป็นจุดหมายที่มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุถึงได้ด้วย "การพัฒนา" ซึ่งในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "ภาวนา" แปลว่า การทำให้มี ทำให้เป็น และการบรรลุนิพพาน มีความสัมพันธ์กับบุคคลและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการบรรลุนิพพาน ซึ่งจะนำเสนอเป็น ๓ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรกนิพพานเป็นภาวะที่ทุกคนอาจบรรลุได้ในชาตินี้ คุณลักษณะอย่างหนึ่งของนิพพานที่ว่า "สนฺทิฏฐิก" หมายถึง เห็นชัดได้เอง, ประจักษ์ได้ในชีวิตนี้ และ "อกาลิก" หมายถึง ไม่จำกัดกาล, ไม่ขึ้นต่อเวลา เหล่านี้เป็นการแสดงถึงการบรรลุนิพพาน เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้ในชาตินี้ ดังมีพุทธพจน์ตรัสไว้ดังนี้

บุรุษเป็นวิญญู ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำสั่งสอนก็จักประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งขึ้นเองซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือน บวชเป็นอนาคาริกโดยชอบ อันเป็นจุดหมายของพราหมณ์ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้ทีเดียว (ที. ปา. (ไทย) ๑๑/๓๑/๕๘)

ประเด็นต่อมาคือนิพพานเป็นจุดหมายที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่จำกัดชาติ ชั้น หญิง ชาย เมื่อบุคคลใด มีฉันทะ เพียรพยายาม มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุได้ ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นคนชาติชั้นวรรณะใด มีฐานะอย่างไร ยากจน มั่งมี เป็นหญิงหรือชาย เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ดังมีพุทธพจน์ตรัสได้ดังนี้

ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้นชื่อว่าทิศไม่มีภัยรถ ชื่อว่าไร้เสียง ประกอบด้วยล้อคือธรรม มีหิริเป็นฝา มีสติเป็นเกราะกั้น ธรรมรถนั้น เราบอกให้มีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารภี บุคคลใดมียานเช่นนี้จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เขาย่อมใช้ยานนั้นถึงในสำนักแห่งนิพพาน (ม.ม. (ไทย) ๑๓/๑๐/๖๕๐)

ประเด็นสุดท้ายคือการบรรลุนิพพาน แม้จะอาศัยความสำเร็จทางจิต (เจโตวิมุตติ) คือ ฌานสมาบัติ เป็นพื้นฐานไม่มากก็น้อย และผู้บรรลุนิพพานก็มีความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จทางจิตนั้นอยู่เรื่อย ๆ ในการดำเนินชีวิต แต่นิพพานก็เป็นภาวะต่างจากความสำเร็จทางจิตเหล่านั้น

ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้สรุปเกี่ยวกับผลพิเศษของการบรรลุนิพพานไว้ ๕ ประการ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง ทำให้เกิดความหลุดพ้นขั้นสุดท้ายโดยสิ้นเชิง เช่นในทางจริยธรรม มีความไม่เห็นแก่ตัวที่แท้จริง กล่าวคือเป็นอาการของการที่ได้ทำลายความยึดมั่นในตัวตนลงได้ ด้วยปัญญาที่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งหลาย จึงทำให้ความไม่เห็นแก่ตัวนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องอาศัยกำลังจิต

ประการที่สอง ในการที่จะประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะได้บรรลุความสำเร็จทางจิตไว้แล้วสูงเพียงใดก็ตาม เขาจะต้องหลุดพ้นจากความติดใจพอใจในผลสำเร็จทางจิตนั้น กล่าวคือการข้ามพ้นซึ่งความผูกพันในผลสำเร็จเหล่านั้นไปได้ก่อนจึงจะบรรลุนิพพานได้ ซึ่งถือเป็นส่วนเติมเต็มของความสำเร็จทางจิต โดยผลสำเร็จทางจิตเท่าใดก็ตามที่ตนเคยได้ไว้แล้ว ผู้บรรลุนิพพานสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น ใช้เป็นที่พักผ่อนหาความสุขยามว่างอย่างที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหารคือเป็นการนำเอาฌานสมาบัติมารับใช้การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น และผลสำเร็จทางจิตที่เคยได้ไว้แล้ว ซึ่งตามปกติยังอาจเสื่อมถอยได้ กลายเป็นภาวะไม่เสื่อมถอย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความสามารถและขยายวิสัยแห่งการเสวยผลสำเร็จทางจิตให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ประการที่สาม การบรรลุนิพพานทำให้กิเลสและความทุกข์นั้นสูญเสียไปได้ด้วยปัญญา โดยการดับเฉพาะสิ่งที่ชั่วร้ายซึ่งได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปทาน ดับภพชาติ เป็นต้น และเมื่อดับสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็กลับมีคุณลักษณะที่ดีเด่นขึ้นมาแทน กล่าวคือ เป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและการบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำพังความสำเร็จทางจิตไม่อาจให้เกิดขึ้นได้

ประการที่สี่ การบรรลุนิพพาน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวมนุษย์ เป็นการเปลี่ยนจิตใจ เปลี่ยนลักษณะความคิด เปลี่ยนบุคลิกภาพ มีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ มีระบบพฤติกรรมมั่นคง ด้วยเหตุที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจที่สำคัญ ๒ ด้าน คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็น และความเชื่อถือ อันเป็นเรื่องทางด้านอวิชชาและปัญญาอย่างหนึ่งและความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าหรือการสนองความต้องการ อันเป็นเรื่องทางด้านตัณหาและฉันทะอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้บรรลุนิพพานจะสามารถมองเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะของธรรมดาแห่งธรรมชาติ มองเห็นสิ่งทั้งหลายพ้นจากการติดยึดในเวทนาที่จะเสพเสวย มองเห็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไปตามความสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง เป็นบุคลิกภาพและระบบพฤติกรรมอย่างใหม่ที่ลอดพ้นจากโลกธรรม หรือแม้จะอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก

และประการที่ห้า การสนองความต้องการของมนุษย์ต้องเป็นไปทั้งด้านทิฏฐธัมมิกัตตะ สัมปรายิกกัตถะ และปรมัตถะด้วย กล่าวคือ ความต้องการของมนุษย์มิใช่ต้องการเพียงในเรื่องของวัตถุที่เป็นเรื่องของประโยชน์ปัจจุบันเท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องการในเรื่องของจิตใจด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์เบื้องหน้า และความต้องการในประโยชน์ขั้นสูงสุด ซึ่งในความสำเร็จทางจิตยังจัดอยู่ในระดับสัมปรายิกัตตะ คือประโยชน์หรือจุดหมายที่ล้ำลึกเลยหน้าออกไปจากทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นระดับถัดออกไป หรือขั้นรอง ยังจะต้องก้าวออกไปอีกสู่ขั้นสุดท้าย คือ นิพพาน ซึ่งเป็นปรมัตถะหรือจุดหมายสูงสุด อันเป็นความสุขสมบูรณ์ที่แท้จริง (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๔๙ : ๔๔)

ลักษณะสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตของผู้บรรลุนิพพาน คือกรุณา พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรมหรือสิ้นกรรม การกระทำของท่านจึงไม่เป็นกรรม แต่เป็นกริยา(มีปัญญา) เป็นแรงจูงใจ และมีกรุณาเป็นคุณธรรม เกิดแทรกโดยเป็นผลสืบเนื่องจากปัญญาและความมีจิตใจเป็นอิสระ ดังนั้นกิจหรืองานหลักของผู้บรรลุนิพพาน จึงได้แก่ การแนะนำสั่งสอน ให้ความรู้ ส่งเสริมสติปัญญา และคุณธรรมต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิต และทำตัวเป็นแบบอย่างในทางที่มีความสุข มีคุณธรรมและเป็นชีวิตที่ดีงามทั้งภาวะทางปัญญา ภาวะทางจิต และภาวะทางความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตของผู้บรรลุนิพพาน ทั้งหมดรวมอยู่ที่หลัก ๓ ประการ คือ วิชา วิมุตติ และกรุณา ซึ่งหมายถึง ความหลุดพ้น เป็นอิสระโดยอาศัย ความรู้ การมองเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง และส่งผลให้เป็นพลังแผ่ปรีชาญาณออกไปสู่ผู้อื่นโดยการอุทิศตนและบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๓๘ : ๓๗๔)

๒. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ

พระพุทธศาสนาให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา กล่าวคือ มนุษย์ต้องเป็นผู้กระทำด้วยการฝึกฝนอบรมให้เกิดคุณสมบัติภายในตน ซึ่งได้แก่คุณสมบัติทางกาย ทางศีล ทางจิต และทางปัญญาที่ส่งผลไปสู่ภายนอกตน เป็นความสัมพันธ์กับมนุษย์และวัตถุ ซึ่งแสดงออกผ่านพฤติกรรมทางกายและวาจา

ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นผู้กระทำ หรือผู้สร้างให้เกิดมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ให้เกิดการพัฒนาในแง่ความเป็นมนุษย์ และมนุษย์ก็ยังเป็นผู้ที่ถ่ายถอดคุณสมบัติที่ตนทำให้มีขึ้นไปสู่ภายนอก ซึ่งเป็นการพัฒนาในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญของมนุษย์ด้วยการพัฒนา ดังนั้น หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่มีต่อมนุษย์ในแง่บทบาทที่ควรพิจารณาต่อไป

หลักพุทธธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้การดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เมาในชีวิต เมาในความมั่งมี เมาในสิ่งนั้นในสิ่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถาวรแต่ประการใดเลย นอกจากธรรมะที่เป็นยารักษาในให้พ้นจากความทุกข์ แม้เราจะมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นกฎธรรมดาของโลก แต่ถ้ารู้จักพัฒนาตนให้ปฏิบัติต่อการดำเนินชีวิตที่ดีแล้ว ย่อมดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพไปในตัวเอง

หลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ไตรสิกขา ๓ ศีล ๕ สัปปุริสธรรม ๗ พรหมวิหารธรรม ๔ สังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่มีจุดมุ่งหมายให้มนุษย์มีชีวิตที่ประเสริฐ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และไม่เบียดเบียนกัน

การพัฒนาตนของบุคคลตามแนวพุทธต้องตั้งอยู่บนหลักภาวนา ๓ คือ กายภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา (ที. ปา. (ไทย) ๑๑/๒๒๘/๑๗๒.) ซึ่งบุคคลสามารถปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ เพื่อจะก่อให้เกิดประโยชน์ ๓ ประการ คือ

๑. ทำให้บุคคลเป็นคนดีของสังคม เป็นผู้มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย แต่อยู่ในกรอบวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของสังคม พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลงดเว้นกายทุจริต วจีทุจริต และประพฤติแต่กายสุจริต วจีสริต อันเป็นไปตามหลักของศีลเรียกว่า กายภาวนา กายภาวนานี้เป็นวิธีการพัฒนาบุคคลด้านพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจา เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม ให้บุคคลแสดงออกเฉพาะพฤติกรรมในด้านดีเท่านั้น

๒. ทำให้บุคคลมีจิตใจและอารมณ์มั่นคง เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลงดเว้นความโลภ ความพยาบาท แล้วให้ประพฤติแต่มโนสุจริต ไม่มีความโลภ ไม่มีความพยาบาทหรือมีจิตใจเสียสละและยินดีให้อภัย ตามมโนสุจริต เป็นการพัฒนาจิตใจตามหลักของสมาธิที่เรียกว่า จิตภาวนา

๓. ทำให้บุคคลได้รู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ ละมโนทุจริต ปฏิบัติตามมโนสุจริตเป็นการพัฒนาบุคคล ตามหลักของปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา การปฏิบัติข้อนี้เป็นการพัฒนาบุคคลให้เข้าใจชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง จนถึงสัมมาญาณและบรรลุสัมมาวิมุติ (ความหลุดพ้นจากกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง) ซึ่งถือเป็นปัญญาภาวนา เช่นกัน (โกศล เพ็ชรวงศ์, ๒๕๓๓ : ๓๓)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นต้องพัฒนาตนให้เป็นคนดีก่อนแล้ว สังคมก็จะดีไปด้วย ซึ่งตรงกับข้อความที่ว่า "หลักแห่งความประพฤติ" หรือ แนวทางของการประพฤติดี ปฏิบัติชอบของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะหลักศีลธรรมเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตนที่สร้างสรรค์ชีวิตคนให้เป็นคนดี ทั้งเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต (พระธรรมโกศาจารย์, ๒๕๓๓ : ๓๑) หลักพื้นฐานของมนุษย์มีจุดหมายที่เหมือนกันคือ การมีชีวิตที่ไม่มีโทษภัยอยู่ในสังคมที่ปกติสุขจึงสร้างกฎระเบียบขึ้นในสังคมมนุษย์ คือ ศีล ๕ เป็นเสมือนระเบียบปฏิบัติของสังคม ได้แก่ การเว้นจากการปลงชีวิตสัตว์ที่มีชีวิต ชีวิตทั้งหลายมีค่าเท่าเทียมกันทั้งหมด ซึ่งการที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นที่รองรับของธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล จากการเว้นถือเอาของที่เขามิได้ให้ การไม่เบียดเบียนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที. ปา. (ไทย) ๒๐/๓๑๕/๒๘๐. ) การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากความประพฤติในการที่จะล่วงละเมิดคู่ครองหรือการที่ไม่ล่วงเกินในขอบเขตแห่งความเป็นสามีภรรยากันซึ่งดำเนินไปทางกาย ในการประพฤติเมถุนด้วยประสงค์ในการเสพอสัทธรรม โดยมีเจตนาล่วงเกินอคมนียฐาน (ฐานะมิควรถึง หมายถึง สตรีหรือบุรุษที่มีเจ้าของคุ้มครอง) (ที. ปา. (ไทย) ๒๐/๓๑๕/๒๘๐) การเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากความประพฤติในการที่จะกล่าวด้วยคำพูดที่บิดเบียนจากความเป็นจริง โดยมีความจงใจเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคิดว่า คำที่กล่าวเท็จนั้นเป็นความจริง โดยการแสดงออกทางกาย วาจา การแสดงออกทางกายนั้นหมายถึงกิริยาอาการที่แสดงให้คนอื่นเข้าใจผิด ส่วนด้านวาจา หมายถึงการพูดให้ผู้อื่นเชื่อด้วยถ้อยคำเท็จโดยเจตนาการพูดคำหยาบคายด้วยถ้อยคำที่คนทั่วไปไม่นิยมพูด การพูดส่อเสียดเพื่อให้ผู้อื่นแตกแยกกัน การเว้นจากของเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นสิ่งเสพติดที่ทำให้เสียสติสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่ควรงดเว้น เพราะสุราและเมรัยเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ดื่มมึนเมา ขาดความยั้งคิด หลงลืมเลือนดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า ด้วยโทษของการดื่มสุราเมรัย ๖ ประการ ดังปรากฏในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตรว่า

ดูก่อนคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนือง ๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการ คือความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑ ก่อการวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑ เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑ เป็นเหตุไม่รู้จักอาย ๑ เป็นเหตุบั่นทอนกำลังปัญญา ๑ (ที.ปา. (ไทย) ๑๔/๒๔๘/๑๙๘.)

การละเมิดศีล ๕ ย่อมก่อให้เกิดความไม่ดีงามสำหรับตนเองและสังคม ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ความประพฤติผิดในระดับพื้นฐานเป็นเหตุของความทุกข์ความเดือดร้อน จึงเกิดความขัดแย้งเอารัดเอาเปรียบ จะทำอะไรก็แสดงออกไปตามความวู่วาม ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสเหล่านั้น คือไม่มีความเข้มแข็งในการควบคุมตน เมื่อมีการละเมิดศีล ๕ สภาพของจิตใจและร่างกาย ก็จะกลายเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิตที่ร้ายหรือสนับสนุนการสร้างปัญหาของมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ยึดหลักสำหรับใช้ในชีวิต คือ หนทางการดำเนินชีวิตมนุษย์ มีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การปฏิบัติตามศีลธรรมซึ่งเป็นเป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องความทุกข์ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสุขและหลุดพ้นจากความทุกข์ ดับกิเลสได้สิ้นเชิง การประพฤติปฏิบัติจะต้องสอดคล้องกับจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต คือการบรรลุถึงนิพพาน อันเป็นความสุขอย่างยิ่งที่ชีวิตมนุษย์ทุก ๆ ชีวิตต้องการ หลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นอีกหลักธรรมหนึ่งที่มนุษย์ปฏิบัติตามแล้วสามารถทำให้บรรลุนิพพานได้หรืออาจกล่าวได้ว่าหลักธรรมที่เป็นหลักธรรมที่สามารถพัฒนามนุษย์ให้อย่างยิ่งประการหนึ่งซึ่งประกอบด้วย

๑. ธัมมัญญุตา รู้จักหลักการ รู้จักเหตุผล รู้กฎเกณฑ์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเข้าใจสิ่งที่ตนจะต้องประพฤติปฏิบัติ คือ รู้ว่าตำแหน่ง หน้าที่การงาน ฐานะ อาชีพ รู้จักรับผิดชอบตลอดถึงผลสำเร็จขั้นสูงสุด คือ ตามธรรมชาติของความเป็นจริง ไม่ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลส ตัณหา อุปาทาน

๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล คือ รู้ความหมายที่ตนปฏิบัติ เข้าใจวัตถุประสงค์ที่ตนกระทำ รู้ว่าหลักการนั้นมุ่งหมายอะไร การดำเนินชีวิตอย่างนั้น ๆ เพื่อประโยชน์อะไรเป็นผลดีหรือผลเสีย ตลอดถึงขึ้นสูงสุดที่เป็นประโยชน์ที่เป็นสาระแก่นสารของชีวิต

๓. อัตตัญญุตา รู้จักตนตามความเป็นจริง โดยฐานะภาวะ เพศ ความรู้ กำลังความสามารถ คุณธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติชอบได้อย่างเหมาะสมและรู้จักแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องถูกต้องตามจุดมุ่งหมายปลายทางสูงสุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

๔. มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภค การใช้จ่ายทรัพย์สิน คือ รู้จักพอดีพอเหมาะรู้จักคิด พูด กระทำกิจต่าง ๆ แต่พอดี แม้การพักผ่อนสนุกสนาน ก็เช่นกัน

๕. กาลัญญุตา รู้กาลเวลาอันควร รู้เวลาไหน ควรทำอะไร ที่ไหน ใช้เวลาแต่พอดีในการดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือประกอบกิจการหน้าที่การงานต่าง ๆ

๖. ปริสัญญุตา การรู้จักชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในถิ่น ควรมีกริยาวาจาอย่างไร มีระเบียบวัฒนธรรมประเพณีอย่างไร ควรประพฤติตนให้เหมาะสมกับสังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ

๗. ปุคคลัญญุตา การรู้บุคคล และเข้าใจความแตกต่างของบุคคลที่จะต้องเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

ธรรมที่พัฒนามนุษย์และทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่า และเป็นคุณสมบัติของคนดี ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องและยั่งยืน นอกจากหลักสัปปุริสธรรมดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีหลักธรรมซึ่งเป็นหลักธรรมประจำใจที่ประเสริฐ ที่จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนามนุษย์ทางด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี หลักธรรมที่กล่าวถึงคือ พรหมวิหารธรรม ซึ่งประกอบด้วย

๑. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี การแสดงออกซึ่งมิตรภาพไมตรีของสังคมมนุษย์ โดยปรารถนาแผ่เมตตาจิตให้ทุกคนมีความสุขกาย สบายใจ

๒. กรุณา ความสงสาร อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ปัญหาหรืออุปสรรคทั้งหลาย บำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของทรัพยากรมนุษย์ให้ประสบผลสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง สิ่งสำคัญอย่ากรุณาจนเกินประมาณ ต้องรู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมในการทำการสงเคราะห์ควรประกอบด้วยอุเบกขากำกับ

๓. มุทิตา ความรู้สึกยินดีด้วยเมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดีมีความสุข ตัวเองก็มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน พลอยยินดีปลาบปลื้มใจไปด้วย เมื่อเห็นเขาเหล่านั้นประสบผลสำเร็จ มีความเจริญงอกงามในตำแหน่งหน้าที่การงานยิ่งขึ้นไป

๔. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง ต้องรักษาความยุติธรรมถูกต้อง สมควรแก่เหตุที่ตนได้กระทำไว้ และปฏิบัติตามความเที่ยงธรรม โดยไม่เห็นแก่หมู่พวกพี่น้อง

หลักพรหมวิหารธรรมนี้ จะต้องใช้ให้ถูกต้องตามความหมายขององค์ธรรมแต่ละข้อ จึงจะไม่เกิดความเสียหาย เป็นอคติ อันจะมีผลร้ายต่อสังคมและทรัพยากรมนุษย์ได้ (องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๑๙๒/๒๕๒) และหลักธรรมที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในความสามัคคี หลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้มนุษย์มีการช่วยเหลือกัน คือ สังคหวัตถุ ๔

๑. ทาน การให้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงความรู้และแนะนำสั่งสอน (ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๔๐/๑๖๗.) ทานในสังคหวัตถุนี้ มุ่งเพื่อให้สงเคราะห์ผู้รับ มีความมุ่งหมายอยู่ที่ผู้รับเป็นสำคัญ เช่น ช่วยเหลือสงเคราะห์กันด้วยปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ฉะนั้น การให้ทานจึงควรให้ด้วยความเมตตาเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงน้ำใจไมตรี สร้างเสริมมิตรภาพ ให้ด้วยกรุณา ต้องการช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่กัน ให้ด้วยมุทิตา ส่งเสริมสนับสนุนให้แก่ผู้ทำความดี มีความเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้น การให้ด้วยวัตถุสิ่งของจึงมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับ (สุชิน (พระมหา) สุชีโว : ๗๗)

๒. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ วาจาเป็นที่รัก กล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานฉันท์ สามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใครนับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยินดี (ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๔๐/๑๖๗.) การพูดดีมีคุณค่า เป็นสื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจอันดี คนที่พูดดี จะช่วยให้การทำงานสำเร็จ การสื่อสัมพันธ์อันดีต่อกันของมนุษย์ เมื่อมีการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรก็เกิดสัมพันธไมตรีอย่างดีของมนุษย์

ปิยวาจา คือ คำพูดที่กล่าวออกมาจากใจ จริงใจ จับใจ และจูงใจ การพูดควรประกอบด้วยหลักการ ๔ ประการ คือ

๑. แจ่มแจ้ง คือ ข้อความที่กล่าวมีความชัดเจน

๒. จูงใจ คือ พูดแล้ว จูงใจให้คนทำดี มีกำลังใจ

๓. แกล้วกล้า คือ ทำให้มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง

๔. ร่าเริง คือ ทำให้ผู้ฟังมีความสนุก ร่าเริง บันเทิงใจ

๓. อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณะ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือด้วยแรงกาย และขวนขวายช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ บำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งช่วยเหลือแก้ไข สามารถรักษาความสามัคคีในหมู่คณะ ชุมชน สังคม และประเทศชาติไว้ได้ ความเป็นผู้มีในเอื้อเฟื้อเอาธุระของคนอื่น หรือสังคมด้วยแรงกาย ด้วยปัญญาหรือด้วยทรัพย์ จนเต็มความสามารถที่จะช่วยได้ เป็นเหตุให้รัก นับถือกันอย่างมั่นคง ช่วยให้การพัฒนาที่มั่นคงและเข้มแข็งต่อไป

๔.สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะบุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอต่อมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน ด้วยการร่วมสุขร่วมทุกข์ไม่ถือตัวมีความเสมอภาค วางตนเหมาะสม สามารถผูกพันรักษาความสามัคคีในสังคมมนุษย์ไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะมนุษย์ทั้งหลาย รักนับถือความวางตนสม่ำเสมอไม่ถือตัว เป็นธรรมดาประจำโลกที่มนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่เสมอกัน ด้วยทรัพย์ ยศศักดิ์ บริวาร ศิลปวิทยา และปัญญา ที่ยิ่งหย่อนกันกว่ากัน หากเราเคารพในความเป็นมนุษย์ ในคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างมีศักดิ์ศรี เสมอกันในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา (สุชิน (พระมหา) สุชีโว : ๓๕) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนาให้เกิดประสิทธิภาพและรู้ทันต่อสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตมนุษย์ คือ หลักธรรมที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งเป็นหลักธรรมที่กล่าวถึงความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยะ ประกอบด้วยองค์ธรรม ๔ ประการ หรือ อริยสัจจ์ ๔ มีดังนี้

๑. ทุกข์ ความทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น สภาวะที่ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริงหรือเรียกกันในสำนวนชาวบ้านว่า ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาที่ไม่ได้ดังหวัง

๒. สมุทัย เหตุเกิดแห่งทุกข์สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ความทะยานอยาก ความดิ้นรน ความเสน่หาในอารมณ์ จำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ

๒.๑ กามตัณหา คือ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ หมายถึงความอยากในอารมณ์มีรูป เป็นต้น ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจความอยากได้กามคุณคือสิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) หรือความทะยานอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เช่น รูปที่สวย เสียงที่เพราะ กลิ่นที่หอม รสที่อร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม ในกรณีที่คนเราเกิดความอยากกินข้าวอยากดื่มน้ำ อันเป็นความต้องการทางร่างกาย เช่นนี้ไม่จัดเป็นตัณหา ส่วนความต้องการอย่าร้างกับภรรยา ซึ่งเป็นเรื่องของกามคุณ จัดเป็นกามตัณหาโดยแท้

๒.๒ ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็นโน่นเป็นนี่ หมายถึงความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป ความติดใจอยู่ในรูปภพ อรูปภพหรือติดใจในฌานสมาบัติ ซึ่งประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง อยากอยู่ในกามสุขนาน ๆ อยากอยู่ในวัยหนุ่มสาวตลอดไป

๒.๓. วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากไม่เป็นโน่นไม่เป็นนี่ หมายถึงความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่น่าปรารถนา โดยอยากทำลาย อยากให้ดับสูญซึ่งประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าตายแล้วสูญ เช่น อยากฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นจากความคับแค้นในชีวิตปัจจุบัน

ตัณหานั้นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นเหตุให้สัตว์เวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ คือ กามภูมิ ๑๑ (อบายภูมิ ๔ โลกภูมิ ๑ สวรรค์หรือเทวโลก ๖) รูปภพ (พรหมโลกที่มีรูปขันธ์) อรูปภพ (พรหมโลกที่ปราศจากรูปขันธ์) อย่างไม่รู้จักจบสิ้นและการเกิดบ่อย ๆ ก็เป็นทุกข์ร่ำไป

๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ความดับตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงได้เมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ภาวะที่หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ หรือเรียกว่า ภาวะนิพพาน การบรรลุนิพพาน คือ ความดับเพลิงทุกข์เพลิงกิเลสได้โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือเรียกว่า อริยมรรค หมาถึงปัญญาอันเห็นชอบว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้คือความดับทุกข์ สิ่งนี้คือทางให้ถึงความดับทุกข์ (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๙๙/๓๔๘, ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๔๙/๑๒๓.)

อริยสัจทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งดำเนินการแก้ปัญหาตามเหตุผล ตามปัจจัย เป็นการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของบุคคลด้วยปัญญาของตัวบุคคลเอง ไม่ต้องอาศัยการดลบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เป็นความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด อยู่ในเพศภาวะใด จะต้องประสบด้วยกันทั้งสิ้น เป็นหลักความจริงที่เป็นกลางที่ติดเนื่องสัมพันธ์กับชีวิตของบุคคลตลอดเวลา ไม่ว่าบุคคลจะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาชีวิตขึ้นมาใหม่แล้วสูญสลายไปอย่างไร หลักนี้ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น อริยสัจ ๔ จึงเป็นหลักความจริงอันประเสริฐ หลักความจริงอันมั่นคง โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาชีวิตมนุษย์ในสังคม เราสามารถนำหลักอริยสัจ ๔ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตและทรัพยากรมนุษย์ได้ตามลำดับขั้นตอน ดังนี้

๑. ขั้นที่ ๑ ทุกข์ เรียกว่าขั้นตัวปัญหา หมายถึงสภาพปัญหาหรือความไม่พอใจ ความติดขัด บกพร่องที่บุคคลได้ประสบหรือเกิดขึ้นในชีวิตของตน ในขั้นนี้ พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลกำหนดรู้ ยอมรับ ทำความเข้าใจ และกำหนดขอบเขตของมันให้แจ่มชัดว่าเป็นปัญหาหรือไม่ เป็นปัญหาใหญ่หรือปัญหารอง จัดเป็นขั้นแถลงปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ขอบเขต เรียกว่า ปริญญากิจ

๒. ขั้นที่ ๒ สมุทัย เรียกว่าขั้นสาเหตุปัญหา หมายถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหา เกิดความติดขัดบกพร่องในชีวิตบุคคล ในขั้นนี้พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลเฟ้นหาสาเหตุแห่งปัญหาหรือความทุกข์ต่าง ๆ ให้ถูกต้องชัดเจน และต้องเป็นสาเหตุต้นตอจริง ๆ ที่เกิดจากตัวเองเป็นส่วนใหญ่มิใช่ไปโทษดินฟ้าอากาศหรือโชคชะตาซึ่งเป็นเรื่องนอกตัวออกไปท่าเดียว จัดเป็นขั้นวิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหาซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไป เรียกว่า ปหานกิจ

๓. ขั้นที่ ๓ นิโรธ เรียกว่าขั้นดับทุกข์ หมายถึงความหลุดพ้นจากปัญหา เป็นขั้นที่ต้องทำให้ประจักษ์แจ้งแก่ใจ หรือทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เป็นขั้นกำหนดจุดหมายปลายทางที่แน่นอน พร้อมทั้งกำหนดจุดหมายและเป้าหมายรองไว้ด้วยว่าแต่ละขั้นต้อนนั้นมีจุดหมายและเป้าหมายเพียงใด แค่ไหน จัดเป็นขั้นชี้บอกภาวะปราศจากปัญหาซึ่งเป็นจุดหมายที่ต้องการให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นไปได้และจุดหมายนั้นควรเข้าถึงซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ เรียกว่า สัจฉิกิริยากิจ

๔. ขั้นที่ ๔ มรรค เรียกว่าขั้นลงมือแก้ปัญหา หมายถึงข้อปฏิบัติหรือวิธีการเพื่อแก้ปัญหา เป็นขั้นลงมือทำการแก้ปัญหาไปตามขั้นตอน เป็นวิธีการอย่างละเอียดเพื่อแก้ปัญหา เช่น กำหนดวางวิธีการ วางแผนงาน และรายการที่จะต้องทำให้ละเอียด จัดเป็นขั้นกำหนดวิธีการและรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติในการลงมือแก้ปัญหา เรียกว่า ภาวนากิจน

และแนวทางหรือข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์อันเป็นจริยธรรมสายกลางที่สร้างปุถุชนให้เป็นอริยชนเป็นคุณธรรมส่งเสริมการศึกษา ประกอบด้วยองค์ธรรม ๘ ประการ หรือมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ การมีความเห็นถูกต้องตามหลักธรรม แยกอธิบายเป็น ๒ ระดับ

๑. ระดับโลกิยะ ได้แก่ การมีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม คือเห็นว่าบุญบาปมีจริง ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีจริง มารดาบิดามีบุญคุณจริง หรือการมีความเชื่อว่าทำดีแล้วได้ดี ทำชั่วแล้วได้ชั่ว เป็นต้น ความเห็นชอบในระดับนี้เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะทำให้บุคคลประพฤติปฏิบัติดีพัฒนาตนเข้าสู่การฝึกอบรมช่วงแรกตามหลักศีลธรรม และ

๒. ระดับโลกุตตระ ได้แก่การมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง คือมีความเห็นตรงตามสภาวะหรือตามเหตุปัจจัย หรือปัญญาอันเห็นชอบในอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ของสังขารที่ปรุงแต่งคุ้มกันเข้าเป็นรูปร่างจากส่วนย่อยต่าง ๆ ความเป็นอนัตตาของสภาวธรรม รู้ว่าอะไรเป็นอกุศลและอกุศลมูล อะไรเป็นกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นว่าสภาวธรรมทั้งปวงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น สรรพสิ่งเป็นเหตุเป็นผลกันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อมีสิ่งนี้เป็นเหตุ จึงมีสิ่งนี้เป็นผลตามมา เป็นต้น

๒.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ หมายถึงความคิดถึงนึกตรึกตรองที่ถูกต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยมโนสุจริต เป็นไปใน ๓ เรื่อง คือ

๑. ความคิดนึกตรึกตรองที่ปลอดจากกาม หรือความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดใจเพลินใจในการปรนเปรอสนองความอยากของตน

๒. ความคิดนึกตรึกตรองที่ปลอดจากพยาบาทหรือความคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองผู้อื่น สัตว์อื่นในแง่ร้าย

๓. ความคิดนึกตรึกตรองที่ปลอดจากการเบียดเบียนหรือความคิดที่ประกอบด้วยกรุณา ไม่คิดมุ่งร้ายทำลายผู้อื่น

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ หมายถึงการใช้วาจาหรือคำพูดติดต่อสื่อสารเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างถูกต้องตามหลักวจีสุจริต ๔ คือ

๑. ละเว้นขาดจากการกล่าวเท็จ คือไม่ยอมพูดปดเพราะเหตุตนเอง ผู้อื่นหรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ใด ๆ เป็นคนพูดคำสัตย์ ยึดมั่นในคำสัตย์ เป็นที่ไว้ใจได้ ควรแก่การเชื่อถือ ไม่เป็นคนลวงโลก

๒. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ เป็นคนช่วยสมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่สมัครสมานกัน ชอบกล่าวถ้อยคำที่สร้างสามัคคี

๓. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือพูดแต่คำนิ่มนวล สุภาพ อ่อนหวาน ไพเราะเสนาะหู มีไมตรี และเป็นคำอันเป็นที่พอใจของคนส่วนมาก

๔. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือพูดถูกกาล พูดตามความเป็นจริง พูดคำที่มีประโยชน์ พูดถูกธรรม ถูกวินัย ถูกกฎกติกามารยาทของสังคม พรั่งพร้อมไปด้วยเหตุผล พอเหมาะพอควรและมีความหมาย เรียกว่ามีคำพูดประดุจขุมทรัพย์

๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ หมายถึงการมีพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายอย่างถูกต้องตามหลักกายสุจริต ๓ คือ

๑. ละเว้นขาดจากการฆ่า การเบียดเบียนทำลายล้างผู้อื่น สัตว์อื่น คือเป็นคนที่ปราศจากการมีอาวุธไว้ครอบครอง มีความรู้สึกผิดชอบ เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยมีความปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์

๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือเป็นคนที่เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้โดยอาการแห่งขโมย ไม่ถือเอาทรัพย์สินที่อยู่ในบ้านหรือในป่า (สิ่งของสาธารณะ) มาเป็นสมบัติของตน

๓. ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่เป็นคนประพฤติล่วงละเมิดประเวณีทางเพศ ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่เป็นชู้กับสามีภรรยาผู้อื่น เป็นต้น

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการเว้นขาดจากมิจฉาชีพคือวิธีเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น การทำการหลอกลวง การใช้เล่ห์เหลี่ยม การมีกลโกง การขูดรีด การฉ้อฉล การค้ากำไรเกินควร หรือเว้นขาดจากมิจฉาวณิชชา การค้าขายที่ไม่ชอบธรรมก่อให้เกิดโทษ ๕อย่าง คือ การค้าขายอาวุธเครื่องประหาร การค้าขายมนุษย์ การค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร การค้าขายสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ และการค้าขายยาพิษหรือเว้นขาดการมีอาชีพที่เบียดเบียนทำลายชีวิตผู้อื่น โดยประกอบแต่สัมมาชีพที่ตรงกันข้ามกับมิจฉาชีพ

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ หรือเพียรชอบ หมายถึงการมีความเพียรพยายามที่ถูกต้องโดยเร่งระดมเพียรละความชั่ว สร้างและรักษาแต่ความดีตามหลักการสร้างความเพียรชอบ ๔ คือ

๑. เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในจิตใจตน

๒. เพียรละกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

๓. เพียรทำกุศลธรรมหรือบำเพ็ญคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น

๔. เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไป

๗. สัมมาสติชอบ ระลึกชอบ หมายถึงการมีสติระลึกรู้ก่อนทำ พูด คิดหรือขณะทำ พูด คิดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลั้งเผลอประมาทจนเป็นเหตุให้ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วอันเป็นอกุศลกรรม กล่าวในชั้นสูง ได้แก่การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงคือตามที่สิ่งนั้น ๆ มันเป็นของมันเอง ซึ่งเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือตั้งสติกำหนดพิจารณาหรือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานให้รู้เห็นตามเป็นจริงในเรื่องใกล้ตัวหรือภายในตัวของคนเราที่สำคัญ ๔ เรื่อง คือกาย เวทนา จิต และสภาวธรรม ว่าเป็นแต่เพียงกาย เวทนา จิต และสภาวธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาที่จะเข้าไปกำหนดยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีวิธีปฏิบัติหลายอย่างหลายขั้นตอน เช่น การกำหนดลมหายใจเข้า – ออก การกำหนดรู้ทันอิริยาบถ การมีสติรู้ชัดจิตของตน เป็นต้น

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ หมายถึงการมุ่งมั่นบำเพ็ญทำจิตให้มีภาวะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ที่แสดงออกมาในทางกุศลโดยส่วนเดียวและสามารถข่มระงับนิวรณ์กิเลสไว้ได้ พร้อมทั้งจิตมั่นคงแน่วแน่ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยหลักการฝึกจิตให้เป็นสมาธิที่จัดลำดับเป็น

ขั้น ๆ ตั้งแต่ขั้นหยาบไปจนถึงขั้นละเอียด ซึ่งมี ๔ ขั้น เรียกว่า รูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน เป็นต้น

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางเก่าที่เคยมีท่านผู้เดินทางถูกต้องเคยเดินกันมาในกาลก่อนแล้ว พระองค์เพียงแต่ทรงค้นพบแล้วทรงเปิดเผยแก่มวลมนุษย์ ทรงทำหน้าที่แนะนำบอกทางนี้แก่เวไนยชน ดังนั้น มรรคมีองค์ ๘ นี้จึงเป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดผลตามกระบวนการดับทุกข์ เป็นหลักประมวลความประพฤติดีปฏิบัติชอบหรือระบบจริยธรรมทั้งหมด

(ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๙๙/๓๔๘, ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๔๙/๑๒๓.) ยังมีหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตที่ดีของมนุษย์ คือ คนที่มีเหย้าเรือน มีครอบครัว หรือที่เรียกว่า คฤหัสถ์ ซึ่งจะเป็นคนที่มีฐานะมั่นคง มีครอบครัวเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีความสุขตามวิสัยของชาวบ้านทั่วไป จะต้องรู้จักปรับปรุงตนเองให้ก้าวหน้า รู้จักปลูกฝังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นในใจ ยึดถือปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับการอยู่ครองเรือน ๔ ประการ หรือ ฆราวาสธรรม ๔ คือ

๑. สัจจะ สัตย์ซื่อต่อกัน การดำรงมั่นในสัจจะ คือการมีความจริง ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง โดยจะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจกัน ความสัตย์ซื่อต่อกันนี้เป็นคุณธรรมที่สำคัญของคนผู้อยู่เรือนเดียวกัน เช่น สามีภรรยาต้องมีความซื่อตรงจริงใจต่อกัน โดยมีปัญหาอะไรก็ปรึกษากันด้วยความบริสุทธิ์ในไม่ปิดบังอำพรางกัน และข้อสำคัญคือไม่คิดนอกใจกัน เช่นนี้ก็จะทำให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การทำงานต้องมีความซื่อสัตย์ต่อเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชา และต่อหน้าที่ของตน

๒. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน การรู้จักฝึกฝนตนเอง บังคับควบคุมตนเองได้หรือข่มใจ รู้จักควบคุมจิตใจ แก้ไข้ข้อบกพร่อง ฝึกนิสัย ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญาโดยข่มอารมณ์ของตนเองได้ สามารถระงับยับยั้งใจตนเองได้ในทุกกรณี ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไร้เหตุผล ไม่โกรธง่ายในเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งทำหรือพูดไม่ถูกใจ ต้องให้อภัยกัน ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องหาวิธีปรับปรุงตนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในทุก ๆ ด้าน

๓. ขันติ ความอดทนมุ่งทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง มั่นในจุดหมาย ไม่หวั่นไหวระย่อต่ออุปสรรคแห่งชีวิต โดยคนเราต้องมีความอดทนได้เสมอเมื่อเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ต้องมีใจหนักแน่น ทนต่อความล่วงล้ำเกินกัน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่าย ๆ ไม่ใจเสาะเกินไป ไม่แสดงอาการอ่อนแอออกมา เป็นต้น ความอดทนได้นี้เป็นเหตุให้คนเรากล้าทำงาน ไม่หลบเลี่ยงงาน

๔. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน คือมีน้ำใจ มีความเสียสละ สามารถเสียสละความสุขสบายและประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือความมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลพร้อมทั้งจะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น ไม่คับแค้นเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัวเอง

ฆราวาสธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ สรุปเป็นคำคล้องจองเพื่อจำง่ายว่า "จริงใจ ฝึกฝน ทนได้ ให้ปัน" เป็นหลักธรรมโดยตรงของฆราวาส เป็นหลักธรรมช่วยควบคุมให้บุคคลมีความสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน (ส.ส.(ไทย) ๑๕/๘๔๕/๓๑๖; ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๓๑/๓๑๖.) และคุณธรรมที่เป็นต้นกำเนิดเป็นบ่อเกิดหรือมูลเหตุแห่งความดีหรือการสร้างสรรค์ความดีทุกอย่าง มี ๓ ราก หรือกุศลมูล ๓ อย่าง คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ดังนี้

๑. อโลภมูล รากเหง้าแห่งความไม่โลภ คือ ความไม่อยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตนด้วยอาการอันไม่ชอบธรรมหรือในทางทุจริต มีความยินดีพอใจสิ่งของอันเป็นของตนอย่างสงบเสงี่ยมมีศักดิ์ศรี อโลภะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้กุศลธรรมอื่น ๆ เช่น ความไม่เพ่งเล็ง ความมักน้อย ความเสียสละ ความสันโดษ ความซื่อสัตย์สุจริต ความโอบอ้อมอารี เป็นต้น ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญ เพิ่มพูนมากขึ้น

๒. อโทสมูล รากเหง้าแห่งความไม่คิดร้าย หมายถึงความไม่คิดทำร้ายผู้อื่นเพราะมีเมตตา กรุณาเป็นที่ตั้งหรือความไม่คิดอาฆาตผูกพยาบาท ไม่พยายามคิดสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อโทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้กุศลธรรมอื่น ๆ เช่น ความไม่จองล้างจองผลาญ มีความเมตตา กรุณา ความเป็นมิตร การรู้จักให้อภัย การมีวจีไพเราะ เป็นต้น ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญเพิ่มพูนมากขึ้น

๓. อโมหมูล รากเหง้าจากความไม่หลง หมายถึง ความรู้ตามสภาพเป็นจริงว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร โดยมีเหตุมีผลคิดรู้เท่าทันเหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความจริง มีความรอบคอบไตร่ตรองด้วยเหตุผลที่ชอบธรรม อโมหะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้กุศลธรรมอื่น ๆ เช่น ความไม่ลบหลู่คุณท่าน ความมีศรัทธาประกอบด้วยปัญญา ความรู้จักพลอยยินดี ความว่าง่ายสอนง่ายและความเห็นชอบ เป็นต้น ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญเพิ่มพูนมากขึ้น

กุศลมูลทั้ง ๓ จัดเป็นภาเวตัพพธรรม คือธรรมที่ควรเจริญฝึกฝนอบรมให้เกิดมีในจิตสันดานของตน เพราะเป็นเหตุให้กุศลธรรมอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น กุศลธรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น (ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๙๓/๒๙๑.)



๓. การวางแผนทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ

หลักพุทธธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้ดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาท และธรรมะก็จะเป็นยาใจที่รักษาให้พ้นจากความทุกข์ แม้เราจะมีการเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้เป็นกฎของธรรมของโลก เมื่อรู้จักกฎของโลกแล้ว ถ้ารู้จักพัฒนาตนให้ปฏิบัติต่อการดำเนินชีวิตที่ดีแล้ว ย่อมจะพัฒนาตนเองอย่างมีคุณภาพ

หลักธรรมที่นำมาวางแผนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในที่นี้ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์หลักธรรมซึ่งเกี่ยวกับการวางแผนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ

สุจริต การประพฤติชอบ การประพฤติดีหรือความประพฤติดี ใช้คำว่าการ เป็นเรื่องของกายและวาจา ส่วนที่ใช้คำว่า ความ เป็นเรื่องของจิตใจ มโนสุจริต การประพฤติที่เป็นเหตุให้บุคคลเป็นคนดี อันเป็นที่พึงประสงค์ เป็นที่ปรารถนาของอารยชน โดยเหตุที่คนเราจะมีคุณค่าหรือมีความดีพอที่คนอื่นจะเห็นความสำคัญและให้ความสำคัญแล้วยกย่องนับถือหรือไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมคบหาสมาคมด้วย ก็เพราะมีดีอยู่ในตัว เช่น การประพฤติดี หรือความประพฤติดี ดีประเภทนี้เป็นความดีขั้นพื้นฐานในตัวคนเพราะคนที่มีความประพฤติดีเป็นพื้นฐานแล้ว แม้ดีอย่างอื่นจะบกพร่องไปบ้าง ก็ยังจะเอาตัวรอดเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่นได้ หรือยังพอที่จะแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้ พระพุทธศาสนาได้วางหลักสุจริตธรรมเป็นเครื่องกำหนดวัดบุคคลว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี จำแนกตามทวารเป็น ๓ ทางหรือสุจริต ๓ อย่าง ดังนี้

๑. กายสุจริต การประพฤติดีทางกาย การงดเว้นคือไม่ใช้กายทำความชั่วเลวทรามต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น ๓ อย่างคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๒. วจีสุจริต การประพฤติดีทางวาจา การงดเว้นคือไม่ใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ เว้นการการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๓. มโนสุจริต ความประพฤติดีทางใจ ความรู้จักยั้งคิดไม่ปล่อยจิตให้คิดชั่วร้ายปองร้ายทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้อื่น แต่ให้คิดดีถูกต้องตามหลักกุศลธรรม จำแนกเป็น ๓ อย่าง คือ ความไม่โลภอยากได้ของเขา ความไม่พยาบาทปองร้ายเขา ความเห็นชอบตามคลองธรรม

สุจริต ๓ อย่างนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำ ควรประพฤติให้เกิดขึ้นในตนเอง (ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๒๘/๒๒๗, อภิ.สํ. (ไทย) ๓๔/๘๔๐/๓๒๗.) เมื่อมนุษย์ปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าวแล้วจะทำให้มนุษย์อยู่อย่างมีความประเสริฐสุขและหลักธรรมที่มนุษย์ควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอหรือสุขอันชอบธรรมที่มนุษย์พึงมี ซึ่งมนุษย์จะสมบูรณ์ได้ก็เพราะสุข ๔ อย่างนี้ คือ

๑. อัตถิสุข สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนมีโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตนและโดยชอบธรรม บุคคลที่ขยันทำงานเก็บเงินทองไว้ได้เป็นจำนวนพอเพียง ย่อมมีความสบายใจภูมิใจในความพยายามของตน ถือว่าเป็นความสุขประการหนึ่ง

๒. โภคสุข สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้นเลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์

๓. อนณสุข สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร ความไม่เป็นหนี้เป็นสุขอย่างไรนั้น คนที่ไม่เป็นหนี้เท่านั้นรู้สึกได้และความเป็นหนี้เป็นทุกข์ คนจะมีความสุขแท้ต้องพึ่งการงานที่ไม่มีโทษ คือ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นที่ครหาของปวงชน สุขข้อที่ ๔นี้นับว่ามีค่ามากที่สุดกว่าสุข ๓ ข้อข้างต้น (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๓๒) เมื่อมนุษย์มีความสุขทางโภคทรัพย์แล้วมนุษย์ควรระลึกถึงคุณธรรมประจำตัวของอุบาสก อุบาสิกา หรือองค์คุณของอุบาสิกา อุบาสกอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งเรียกว่า อุปาสก อุปาสิกาธรรม คือ

๑. ประกอบด้วยศรัทธา ต้องมีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่แกว่งไกว ถือธรรมเป็นใหญ่และสูงสุด มีความเชื่อประกอบด้วยปัญญา คือเชื่อในบุคคลและสิ่งที่ควรเชื่อตามหลักศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่กำหนดไว้ ๔ ประการ คือ เชื่อว่าพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง เชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีอยู่จริง เชื่อว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่จริง และเชื่อว่าสรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๒. มีศีลบริสุทธิ์ ต้องมีศีล ๕ อันเป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา ที่ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ขาด ไม่ทะลุ รวมถึงมีความประพฤติและเลี้ยงชีพเป็นแบบอย่างได้ด้วย

๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ต้องเป็นผู้มุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ตื่นข่าวเล่าลือโชคลางเรื่องขลังมงคล ไม่หวังผลจากการขออำนาจดลบันดาล เพราะพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ถือเช่นนั้น แต่สอนให้เชื่อว่าเรามีกรรมเป็นของของตน เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

๔. ไม่แสวงเขตบุญนอกพุทธศาสนา ต้องไม่ยอมเชื่อถือ ไม่ยินดี ไม่ปฏิบัติกิจหรือพิธีต่าง ๆ อันมิใช่หลักทางพระพุทธศาสนา โดยแสวงหาแต่ทักขิไณยบุคคลคือพระภิกษุสุปฏิปันโนในพระพุทธศาสนาที่ควรแก่ทักษิณาและจัดเป็นบุญเขตชั้นยอดของชาวโลก

๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ต้องมีความริเริ่มกระทำการส่งเสริมสนับสนุนกุศลกิจในพระพุทธศาสนาเป็นเบื้องต้น โดยเป็นผู้ออกนำในการอุปถัมภ์บำรุงคุ้มครองพระพุทธศาสนา เมื่อจะทำบุญกุศลมีทานเป็นต้น ก็ทำในภิกษุสงฆ์ก่อน แล้วจึงควรทำบุญตามลัทธิศาสนาและประเพณีอื่น ๆ โดยไม่ผิดศีลธรรม (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๔๐)

หลักธรรมที่ได้นำมากล่าวถึงเป็นหลักธรรมที่มนุษย์ควรนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความมั่นคงและเจริญตลอดไป



๔. หลักธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

หลักธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์ แม้จะมีมากก็ตามหลักพระพุทธศาสนา แต่ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ยกธรรมที่เป็นอุปสรรคที่จำเป็น คือ อบายมุข ๖ อย่าง คือ ปากทางแห่งความเสื่อมโภคทรัพย์ ซึ่งอบายมุขหมวด ๖ ต่อไปนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงแก่สิงคาลกมาณพ ว่าเป็นทางแห่งความเสื่อมในแต่ละประเภท ดังต่อไปนี้

๑. ติดสุราหรือของมึนเมา มีโทษ ๖ อย่าง คือ ทรัพย์หมดไป ก่อการทะเลาะวิวาท เป็นบ่อเกิดของโรคต่าง ๆ เช่น พิษสุราเรื้อรัง เสียเกียรติเสียชื่อเสียง ทำให้ไม่รู้อาย ทอนกำลังปัญญา

๒. ชอบเที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ อย่าง คือ ชื่อว่าไม่รักษาตัว ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ เป็นที่ระแวงสงสัย เป็นเป้าให้เขาใส่ความหรือข่าวลือ เป็นทางมาของเรื่องเดือดร้อนเป็นอันมาก

๓. ชอบเที่ยวดูการละเล่น มีโทษ โดยการงานเสื่อมเสียเพราะใจกังวลคอยคิดจ้องกับเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้น ๆ ทั้ง ๖ กรณี คือ ๑. รำที่ไหนไปที่นั้น ๒ - ๖ ขับร้อง ดนตรี เสภา เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั้น

๔. ติดการพนัน มีโทษ ๖ อย่าง คือ เมื่อชนะย่อมก่อเวร เมื่อแพ้ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป ทรัพย์หมดไป เข้าที่ประชุมเขาไม่เชื่อถือคำพูด เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะหาคู่ครองให้ลูกของเขา เพราะเห็นว่าจะเลี้ยงลูกเมียไม่ไหว

๕. คบคนชั่ว มีโทษ โดยทำให้กลายเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบทั้ง ๖ ประเภท คือ ได้เพื่อนที่จะทำให้กลายเป็น นักการพนัน นักเลงหญิง นักเลงเหล้า นักลวงของปลอม นักหลอกลวง นักเลงหัวไม้

๖. เกียจคร้านการทำงาน มีโทษโดยทำให้ยกเหตุต่าง ๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน เงินทองใหม่ไม่เกิด เงินทองที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือ ให้อ้างไปทั้ง ๖ กรณี ว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นไปแล้ว ยังเช้านัก หิวนัก อิ่มนัก แล้วไม่ทำการงาน

ธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ คือ อบายมุขทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดปัญหาทั้งต่อตนเองและสังคม (ที. ปา. (ไทย) ๑๑/๒๔๗ – ๒๕๓/๒๐๒ – ๒๐๕.) และการประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ดี การประพฤติที่เสียหาย การประพฤติที่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่คนเราแสดงออกต่อผู้อื่นในทางที่ไม่พึงประสงค์ ไม่เป็นน่าปรารถนา ไม่เป็นไปอย่างอารยชน คือช่องทางในการประพฤติของคนเราเป็น ๓ ทาง คือ

๑. กายทุจริต ประพฤติชั่วด้วยกาย การประพฤติชั่วทางกาย ได้แก่การใช้กายทำความชั่วเลวทรามต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น ๓ อย่างคือ ๑.ปาณาติบาต การฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่น ๒. อทินนาทาน การลักทรัพย์ ๓.กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย หรือกำหนดง่าย ๆ คือ กายทุจริต ๓ อย่าง ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติในกาม ๑ (ที.ปา (ไทย) ๑๑/๒๒๘/๒๒๗, อภิ.สํ.๓๔/๘๔๐/๓๒๗.)

สังคมมนุษย์ที่ดีย่อมเคารพในกรรมสิทธิ์ที่เกี่ยวกับสิ่งหวงแหนหรือคู่ครองของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ปรารภนาให้มีการลุอำนาจแก่ความกำหนัดยินดีในเรื่องเพศ หากแต่ต้องการให้หมู่มนุษย์พิทักษ์รักษาประเวณีการสืบเชื้อสายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันไว้ มิให้สำส่อน โดยให้รู้จักควบคุมความกำหนัดปรารถนาจัดในเรื่องกามารมณ์ กุศลกายกรรมข้อนี้จึงมุ่งให้สังคมมนุษย์รู้จักเคารพกรรมสิทธิ์ในเรื่องคู่ครองและประเวณีสืบเชื้อสายของกันและกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความประพฤติผิดและอาชญากรรมทางเพศได้ (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๓๒)

๒. วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา การประพฤติชั่วทางวจี คือการใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑. มุสาวาท การพูดเท็จ ๒. ปิสุณาวาจา การพูดส่อเสียด ๓. ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ ๔. สัมผัปปลาปวาจา การพูดเพ้อเจ้อหรือกำหนดง่าย ๆ คือ วจีทุจริต ๔ อย่าง ได้แก่ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๘)

สังคมมนุษย์ที่ดีย่อมปรารถนาให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน ให้มีการปฏิบัติต่อกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปรารถนาความเป็นคนมีมารยาทหน้าไหว้หลังหลอกที่ทำลายประโยชน์ของกันด้วยวาจาเท็จ โกหก พูดปดให้คลาดเคลื่อนจากความจริง กุศลวจีกรรมข้อนี้จึงมุ่งให้มนุษย์รู้จักใช้วาจาจริงเป็นเครื่องสมานประโยชน์แก่กัน ไม่ให้หลอกลวงกล่าวเท็จต่อกัน มีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงในเมื่อรู้เห็นหรือทำถูกผิดอย่างไรมา (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๐๕)

๓. มโนทุจริต ประพฤติชั่วด้วยใจ หมายถึงความประพฤติชั่วทางมโน คือการปล่อยจิตให้คิดชั่วร้าย จำแนกเป็น ๓ อย่าง คือ ๑. อภิชฌา ความโลภอยากได้ของของผู้อื่น ๒. พยาบาท ความคิดปองร้ายผู้อื่น ๓. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรมหรือกำหนดง่าย ๆ คือ มโนทุจริต ๓ อย่างได้แก่ โลภอยากได้ของเขา ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นผิดจากคลองธรรม ๑

สังคมมนุษย์ที่ดีย่อมต้องการให้มนุษย์เป็นคนยินดีพอใจเฉพาะในทรัพย์สมบัติที่เป็นของตนโดยถูกต้อง ไม่ให้เป็นคนดิ้นรนทะเยอทะยานเพื่อให้ได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง กุศลมโนกรรมข้อนี้จะส่งเสริมความต้องการในสังคมมนุษย์เช่นนั้นได้สำเร็จสมความต้องการ โดยช่วยส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักแสวงหาความสุขทางความคิดจิตใจของตัวเองด้วยหลักสันโดษ คือความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนมีหรือแสวงหามาได้โดยชอบธรรม

สังคมมนุษย์ที่ดีย่อมต้องการให้มนุษย์เป็นคนหนักแน่น รู้จักระงับใจ ระงับอารมณ์ได้ ให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ให้รู้จักปล่อยวางความคิดอาฆาตจองเวรกันและกัน กุศลในกรรมข้อนี้จะส่งเสริมความต้องการให้สังคมมนุษย์เช่นนั้นได้สำเร็จสมความต้องการ โดยช่วยส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักหาความสุขทางความคิดจิตใจของตัวเองด้วยหลักการแผ่เมตตาและการรู้จักให้อภัยต่อกัน ไม่ต้องเดือดร้อนดิ้นรนใจและความอาฆาตมาดร้ายกันและกัน เป็นการผ่อนคลายความเครียดทางอารมณ์ไปในตัว (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๐๖)

ทุจริต ๓ อย่างนี้เป็นธรรมที่ควรละ(ปหาตัพพธรรม) คือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติ แต่ควรละเสีย ในทุจริตทั้ง ๓ นั้น มโนทุจริตนับว่าสำคัญที่สุด เพราะสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่ที่ใจ เมื่อใจคิดชั่วแล้ว พฤติกรรมทางกายและวาจาก็เป็นไปในทางชั่วตามที่ใจบงการ (แก้ว ชิดตะขบ, ๒๕๔๙ : ๑๘) และหลักธรรมที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนามนุษย์ ความไม่เที่ยงธรรม คือ อคติ ความประพฤติที่คลาดเคลื่อนจากธรรม การดำเนินไปผิดทาง หรือการประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติด้วยความลำเอียงซึ่งเป็นตัวการทำลายทำลายความเที่ยงธรรม ทำลายความยุติธรรมในสังคมอย่างสิ้นเชิง เพราะความเที่ยงธรรมและความยุติธรรมจัดว่าเป็นหัวใจของสังคมที่จะอยู่กันเป็นปึกแผ่น เป็นสิ่งที่ต้องการด้วยกันทุกแห่งทุกหมู่เหล่า ในครอบครัวหรือสังคมใด แม้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร ทรัพย์สินเงินทองและปัจจัยอำนวยความสุขอื่น ๆ จำนวนมากเพียงใด แต่ถ้าขาดความเที่ยงธรรมและความยุติธรรมเสียแล้ว ครอบครัวหรือสังคมนั้นก็สับสนวุ่นวาย ไม่สงบสุข และจะแตกแยกกันในที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการรักษาความเที่ยงธรรม ความยุติธรรมในสังคมไว้ ก็จำต้องเว้นจาก

๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน การประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติด้วยอำนาจความรักใคร่ชอบพอกันเป็นส่วนตัว ก่อให้เกิดการแยกพรรคแบ่งพวก ขาดความยุติธรรมในตัวเองและสังคม เช่น ผู้ใหญ่บางท่านหรือเจ้านายบางคนโอบอุ้มลูกน้องหรือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดในทางที่ผิด ทั้งที่บุคคลนั้นทำความผิดจริง สมควรถูกลงโทษหรือบุคคลนั้นไม่สมควรยกย่องสรรเสริญ ไม่สมควรพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนชั้น เลื่อนยศ หรือเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ก็ยังลุแก่อำนาจฉันทาคติฝืนทำลงไปเพราะความรักความชอบเป็นที่ตั้ง ดังนี้เป็นต้น

๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน การประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติด้วยอำนาจความเกลียดชังกันเป็นส่วนตัว ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ถูกเกลียดชัง การลุแก่อำนาจโทสาคติ ทำให้เสียความยุติธรรม โดยกีดกันคนที่ตนไม่ชอบหน้าไว้ไม่ให้เจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น

๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา การประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติด้วยอำนาจความโง่เขลาคือความมืดมนเพราะกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ทำจิตใจให้มืดบอดมองไม่เห็น เช่น ผู้ใหญ่ที่โง่เขลาด่วนตัดสินลงโทษผู้น้อยก่อนพิจารณาให้ถี่ถ้วนหรือผู้พิพากษาตัดสินคดีความอย่างปราศจากความยุติธรรมเพราะไม่ไต่สวนสืบสวนหาเหตุผลและพยานให้ถ่องแท้ ตัดสินไปโดยความโง่เขลา ไม่ใช้สติปัญญา เช่นนี้ชื่อว่าลุแก่อำนาจโมหาคติ แต่ถ้าตัดสินโดยใช้สติปัญญามีเจตนามุ่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ แม้จะผิดพลั้งไปเช่นนั้น ก็ไม่จัดเป็นโมหาคติ เพราะมิได้ทำไปด้วยความโง่เขลา

๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว การประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติด้วยอำนาจความกลัวคือมโนกรรมที่เกิดขึ้นทางจิตใจและแสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา เป็นความลำเอียงออกนอกทางหรือผิดทำนองคลองธรรมของบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ยุติธรรมโดยกลัวจะมีภัยมาถึงตัว เช่นนี้ เป็นเหตุให้เสียความยุติธรรมเพราะความโลเลไม่มั่นคง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น (ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๗๖/๑๙๖, องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๑๗/๒๓.)





การวางแผนทรัพยากรมนุษย์



กลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (SHRP : Strategic Human Resource Planning) แต่เดิมใช้คำว่า “การวางแผนกำลังคน (Manpower Planning)” จากนั้นเปลี่ยนมาเป็น “การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Planning)” ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ “กลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (SHRP : Strategic Human Resource Planning)” เนื่องจากในการวางแผนจะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับงานด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร เช่น การวางแผนด้านอัตรากำลังคน การวิเคราะห์ปริมาณงาน (Work Load Analysis) การวิเคราะห์กำลังคน (Work Force Analysis) การวิเคราะห์งาน (Job Analysis) รายละเอียดลักษณะงาน (Job Description) คุณสมบัติของผู้ที่จะทำงาน (Job Specification) เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นแม่แบบ (Master Plan) สำหรับงานด้านอื่นๆ ทั้งหมดในองค์กร



๑) ความหมายของกลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์



“การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Planning)” เป็นการวางแผนการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรที่เกี่ยวกับการเตรียมบุคลากรให้เหมาะสมกับงานและเวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร”

ส่วนคำว่า “กลยุทธ์” หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายขององค์การ

ดังนั้น จึงสรุปเป็นความหมายของคำว่า “กลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (SHRP : Strategic Human Resource Planning)” ได้ว่า “เป็นการกำหนดวิธีการในการวางแผนการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กร เกี่ยวกับการเตรียมบุคลากรให้มีคุณภาพเหมาะสมกับงานและเวลาอย่างเพียงพอ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร”



๒) เหตุผลของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์



การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการดำเนินงานของธุรกิจ มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านกลยุทธ์การจัดการ กลยุทธ์การแข่งขัน การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดการเตรียมบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันขององค์การนับว่ามีความสำคัญ ที่จะต้องมีการวางแผนในการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ มีการวิเคราะห์งาน (JA : Job Analysis) รวมถึงรายละเอียดของงาน (JD : Job Description) และทักษะของบุคลากรที่มีความสามารถตรงตามความต้องการ (JS : Job Specification) เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนกำลังคน ว่าในแต่ละงานจะต้องเพิ่มหรือลดจำนวนลงเท่าไร งานใดต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ มีทักษะอย่างไร มีอายุและมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างไร จึงจะทำให้องค์การสามารถใช้ประโยชน์สูงสุด จากทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่และบุคลากรที่ต้องจัดหาเพิ่มเติม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

๑. การขยายตัว/ลดขนาดขององค์กร เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายตัว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนในเรื่องจำนวนบุคลากร แต่ถ้าธุรกิจล้มเหลว ก็จำเป็นต้องลดขนาดขององค์การ (Downsizing) ก็จะต้องมีการวางแผนเรื่องจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับสภาพของธุรกิจนั้นๆ

๒. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น อาจจะต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี หรืออาจจะต้องมีการปรับจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เป็นต้น

๓. ความก้าวหน้าทางวิชาการ เมื่อมีความก้าวหน้าทางวิชาการขึ้น ก็ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกิดขึ้นกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้และเกิดความเข้าใจอย่างเหมาะสม

๔. คุณภาพของบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กร ผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์ต้องศึกษาและวิเคราะห์ถึงคุณภาพ (Qualification) ของบุคลากรที่มีอยู่ในองค์การว่าเป็นอย่างไร มีความพร้อมที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายขององค์กร หรือการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อม จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมีการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับคุณภาพของบุคลากรที่มีอยู่

๕. การเกษียณ/การเลื่อนตำแหน่ง/การโยกย้าย จำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ทั้งหมดในองค์กรว่า มีบุคลากรที่จะเกษียณอายุการทำงานในรอบปีแต่ละปีจำนวนมากน้อยเพียงไร ในตำแหน่งใดบ้าง มีบุคลากรที่สามารถจะเลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายได้จำนวนเท่าไร จะต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาในเรื่องการขาดแคลนหรือการทดแทนบุคลากร

๖. อัตราการเข้าออกของบุคลากร เป็นการวิเคราะห์ถึงจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กรว่า มีอัตราการเข้าออก (Turnover) ในแต่ละตำแหน่งอย่างไร เพื่อที่จะได้มีการวางแผนเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรในแต่ละตำแหน่งได้อย่างถูกต้อง

๗. การขยายตัว/ถดถอยทางเศรษฐกิจ จะต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะมีการขยายตัวหรือถดถอย เพื่อวางแผนด้านทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับการขยายตัวหรือการถดถอยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกี่ยวข้องกับองค์กร







๓) ลักษณะที่สำคัญในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์



การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ จะมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้

๑. เป็นกระบวนการ.....ที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเก็บข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ กำหนดแนวทางปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง แผนการดำเนินงานให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ควรมีการกำหนดเป็นแผนทั้งในระยะสั้นและแผนระยะยาว ไม่ใช่การกระทำที่เป็นครั้งต่อครั้ง

๒. มีการคาดการณ์ ต้องคาดการณ์ไปในอนาคตถึงความต้องการด้านบุคลากรว่ามีแนวโน้มอย่างไร โดยที่ผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์จะต้องมีความเข้าใจถึงสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อองค์การทั้งในระดับมหาภาคและระดับจุลภาค ตลอดจนมีความสามารถที่จะนำข้อมูล ความรู้และความเข้าใจ มาวิเคราะห์สาเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อให้สามารถทำการพยากรณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด

๓. มีวิธีการปฏิบัติ ต้องกำหนดวิธีการปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละกิจกรรมด้านทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การฝึกอบรม การธำรงรักษา จนถึงการพ้นจากงานของบุคลากร ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร

๔. มีความสมดุลของบุคลากร จะต้องสร้างและรักษาสมดุลของทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นหลักประกันว่าองค์กรจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพตามที่ต้องการในปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่เกิดสภาวะบุคลากรล้นงานหรือขาดแคลนแรงงานขึ้น





๔) ปัจจัยที่ควรคำนึงในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์



๑. ปัจจัยด้านนโยบายขององค์กร (Organization Policy) เกี่ยวข้องกับการกำหนดพันธกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร ทั้งนี้เพราะการวางแผนด้านทรัพยากรมนุษย์โดยรวมจะต้องสัมพันธ์กับเป้าหมายและนโยบายขององค์กร ซึ่งจะต้องกำหนดว่าจะมีทิศทางอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์กรได้อย่างเหมาะสม

๒. ปัจจัยด้านโครงสร้างขององค์กร (Organization Structure) ต้องสอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กร กล่าวคือ องค์กรมีการจัดโครงสร้างในลักษณะใด เป็นแบบแบนราบ หรือเป็นแบบลำดับชั้น เช่น หากเป็นการจัดโครงสร้างแบบลำดับชั้นที่มีสายการควบคุมบังคับบัญชามาก การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ก็อาจจะมีความซับซ้อนมากกว่าการจัดโครงสร้างแบบแบนราบที่มีสายการควบคุมบังคับบัญชาน้อย เป็นต้น

๓. ปัจจัยด้านวัฒนธรรมขององค์กร (Organization Culture) ต้องพิจารณาถึงวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่บุคลากรได้ปฏิบัติเป็นระยะเวลานานและเป็นสิ่งที่ดีซึ่งจะไปเสริมวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ หากมีความสอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมหลักขององค์การแล้ว จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดแรงผลักดันให้การดำเนินงานขององค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้นตามไปด้วย

๔. ปัจจัยด้านบุคลากรในองค์กร (Organization Workforce) ต้องพิจารณาถึงบุคลากรโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวน เพศ อายุ การศึกษา ตำแหน่ง ประสบการณ์ในงาน เพื่อที่จะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและประเมินถึงแนวโน้มต่างๆ เกี่ยวกับบุคลากรขององค์กรได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

๕. ปัจจัยด้านลักษณะงาน (Characteristic of Job) ต้องพิจารณาถึงลักษณะของงานที่จะปฏิบัติว่า จะต้องใช้บุคลากรที่มีคุณสมบัติอย่างไร งานนั้นมีความยากง่ายมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้บุคลากรที่มีคุณลักษณะพิเศษอะไรบ้าง เพื่อที่ผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์จะได้ใช้ในการวางแผนเพื่อการสรรหาและการคัดเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน และตรงกับความต้องการของหน่วยงาน

๖. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) พิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กรโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้น จะต้องคำนึงถึงชุมชนและสังคมรวมทั้งกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย



๕) กระบวนการในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์

ขั้นที่ ๑ การพยากรณ์กำลังคนที่ต้องการในอนาคต

เป็นการพยากรณ์อุปสงค์ (Demand) ซึ่งเป็นความต้องการด้านทรัพยากรกับอุปทาน (Supply) ซึ่งเป็นปริมาณทรัพยากรในตลาดแรงงาน โดยวิเคราะห์ดูว่ากำลังพลที่ต้องการในอนาคตมีจำนวนเท่าใด ซึ่งการพยากรณ์ความต้องการกำลังคน (Manpower Forecast) ขององค์กรโดยทั่วไปมีรูปแบบที่นิยมใช้กันอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑. การพยากรณ์เชิงปริมาณ (Quantity) มีวิธีการที่นิยมใช้กันมาก คือ

การวิเคราะห์ปริมาณงาน (Work Load Analysis)

การวิเคราะห์กำลังคน (Work Force Analysis)

วิเคราะห์ปริมาณงาน (Work Load Analysis) เป็นการคาดคะเนปริมาณงานที่จะทำในอนาคต แล้ววิเคราะห์ปริมาณงานต่อคนที่จะสามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดและปรับเปลี่ยนออกมาในรู้ของจำนวนบุคลากรที่ต้องการ

ข้อมูลที่ใช้พิจารณาในการวิเคราะห์ปริมาณงาน เช่น

๑. ปริมาณงาน (ปัจจุบันและอนาคต)

๒. ปริมาณงานที่บุคลากรคนหนึ่งต้องรับผิดชอบ

๓. ความสามารถของบุคลากรในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ (มาตรฐาน)

การวิเคราะห์กำลังคน (Work Force Analysis) การวิเคราะห์ว่าบุคลากรที่มีอยู่มีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ครบตามปริมาณงานที่ต้องการในเวลาที่กำหนด โดยพยากรณ์/จำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ใช้พิจารณาในการวิเคราะห์กำลังคน

ข้อมูลที่ใช้พิจารณาในการวิเคราะห์ปริมาณงาน เช่น

๑. ปริมาณบุคลากรที่มี

๒. การขาดงาน (ลาป่วย ลากิจ ลาพักผ่อน)

๓. การหมุนเวียนของพนักงาน (ลาออก โยกย้าย เกษียณ)

๔. เทคนิคในการพยากรณ์ (แนวโน้ม อัตราส่วน)



๒. การพยากรณ์เชิงคุณภาพ (Quality) ใช้กำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติของผู้ที่จะทำงานในตำแหน่งต่างๆ วิธีการที่ใช้ คือ การวิเคราะห์งาน (JA : Job Analysis) และเมื่อทำการวิเคราะห์งานแล้ว จะได้ผลลัพธ์ออกมาอีก ๒ ประการ คือ

การพรรณนาลักษณะงาน (JD : Job Description)

คุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำงาน (JS : Job Specification)

๑. การพรรณนา/บรรยายลักษณะงาน (Job Description) เป็นการแสดงถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับลักษณะงาน และวิธีการในการปฏิบัติงานของการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งควรจะประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

ลักษณะของงาน (Job Identification)

สรุปย่อหน้าที่ของงาน (Job Summary)

ภารกิจที่ต้องทำ (Duties)

ความสัมพันธ์กับงานอื่น (Relation to Other Jobs)

เครื่องจักร/เครื่องมือ/เครื่องใช้/อุปกรณ์/วัสดุในการทำงาน (Equipment & Materials)

สภาพ/เงื่อนไขในการทำงาน (Working Condition)

อื่นๆ

๒. คุณสมบัติของบุคลากร (Job Specification) เป็นการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคลากรที่ต้องการ สำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งควรจะประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

คุณสมบัติทั่วไป

ความรู้ ความสามารถ

ประสบการณ์ ความชำนาญ

คุณลักษณะพิเศษ

สภาพทางร่างกาย/จิตใจ

อื่นๆ

ขั้นที่ ๒ การสำรวจกำลังคนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดยพิจารณาว่าปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรอยู่เท่าใด มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการหรือไม่ และเมื่อถึงอนาคตในเวลาที่ต้องการจะเหลือเท่าไร ในขั้นนี้จะมีเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสำรวจองค์กรเช่น การวิเคราะห์ SWOT Analysis เป็นการวิเคราะห์ SWOT Analysis จะช่วยให้มองเห็นถึงความต้องการใช้กำลังคนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร การเกษียณอายุ การโยกย้าย และการจัดหากำลังคนเพิ่มเติมเพื่อรองรับแผนกลยุทธ์ขององค์กร

การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณแรงงานที่มีอยู่ในองค์การ มีอยู่ ๒ ลักษณะ

การเพิ่มขึ้นของปริมาณแรงงาน อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ การจ้างแรงงานใหม่ การโยกย้ายภายใน และการกลับเข้าทำงานใหม่ของบุคลากรหลังจากการลาพักงาน

การลดลงของปริมาณแรงงาน อาจเกิดจากการเกษียณอายุ การปลดออก การโอนออกจากหน่วยงาน การลาออกโดยสมัครใจ การหมดสัญญาจ้าง การเจ็บป่วยเป็นเวลานาน การลาพักร้อน และการตาย

ขั้นที่ ๓ การเปรียบเทียบกำลังคนที่มีอยู่ในปัจจุบันกับความต้องการในอนาคต

เป็นการเปรียบเทียบกำลังบุคลากรขององค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบันกับปริมาณความต้องการบุคลากรในอนาคต ซึ่งการวางแผนเกี่ยวกับบุคลากรมีหลายวิธี เช่น

Replacement Plan เป็นการวางแผนกำลังคนเพื่อทดแทนบุคลากรในตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรโดยรวมที่กำลังจะว่างลง เนื่องจากบุคลากรเกษียณอายุ หรือลาออกจากงาน หรือมีการโยกย้าย ซึ่งการวางแผนนี้จะต้องทำไว้ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เตรียมจัดหาบุคลากรมาทดแทนได้ทันเวลาและได้คนที่มีคุณสมบัติพร้อมที่จะมารับตำแหน่ง

Succession Plan เป็นการวางแผนหรือเตรียมบุคลากรระดับบริหารเพื่อทดแทนบุคลากรในตำแหน่งบริหารที่จะว่างลงหรือเตรียมผู้บริหารเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจต่อไปในอนาคต



๖) เทคนิค/วิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการพยากรณ์ทรัพยากรมนุษย์

ในการพยากรณ์ทรัพยากรมนุษย์ ยังมีเทคนิคที่นิยมใช้กันอีก เช่น

๑. Zero-Forecasting เป็นวิธีการพยากรณ์โดยใช้อัตรากำลังคนทั้งหมดที่มีอยู่ในองค์กรขณะนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน แล้วนำเป้าหมายปริมาณงานที่ต้องการตามแผนกลยุทธ์ของหน่วยงานต่างๆ มาประมาณว่าใน ๑ ปี หรือ ๓ ปี องค์การควรมีอัตรากำลังคนเท่าไร และอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับแผนงานที่กำหนดไว้

๒. Bottom-Up Approach วิธีนี้จะให้ทุกระดับชั้นในองค์กร พยากรณ์ความต้องการกำลังคนในหน่วยงานของตนขึ้นมาตามลำดับชั้นที่เหนือขึ้นไป จนสามารถกำหนดเป็นความต้องการกำลังคนของแผนกนั้นๆ แล้วให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์รวบรวมความต้องการกำลังคนทุกแผนก รวมมาเป็นความต้องการกำลังคนของทั้งองค์กร

๓. Relationship between Sales and Number of Workers Required วิธีนี้ใช้การหาความสัมพันธ์ระหว่างยอดขายกับจำนวนพนักงาน เมื่อยอดขายลดลงจำนวนพนักงานก็จะลดลงตาม หรือเมื่อยอดขายเพิ่มพนักงานก็เพิ่มตาม สัดส่วนความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้ทราบว่า ถ้าจ้างพนักงานเพิ่ม ๑ คน ยอดขายจะต้องเพิ่มเท่าใด

๔. Simulation Models เป็นเทคนิคการพยากรณ์ที่ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์มาอธิบายสถานการณ์ต่างๆ โดยตั้งคำถาม What_____if (ถ้า………จะเป็นอย่างไร) จุดประสงค์ของวิธีนี้ ก็เพื่อให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์สามารถหาข้อมูลได้ในระดับหนึ่งก่อนที่จะตัดสินใจจริง วางแผนกำลังคนจริงๆ ในการคาดการกำลังคนจะพิจารณาในเรื่องของความต้องการของกำลังคนในตำแหน่งใดบ้าง จำนวนเท่าใด และต้องการกำลังคนเมื่อใด

๕. การคาดการณ์จากสมการพื้นฐาน โดยมีสมการ ดังนี้

จำนวนคนที่ต้องการคนเพิ่ม = จำนวนคนที่ต้องการทั้งหมด - จำนวนคนคงเหลือ

จำนวนคนที่ต้องการทั้งหมด = จำนวนงาน/อัตราส่วนของงานต่อคน

๖. วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Methods) วิธีทางนี้จะนำหลักการทางสถิติและคณิตศาสตร์ เข้ามาช่วยในการพยากรณ์ มีวิธีการต่างๆ ดังนี้

วิธีการทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Methods)

วิธีการทางสถิติ (Statistical Methods)

เทคนิคการพยากรณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของวิธีการที่ใช้ในการคาดการณ์ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับความนิยมและนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ การที่นักบริหารทรัพยากรมนุษย์จะเลือกใช้วิธีในด้านใดในการปฏิบัติ เพื่อคาดการณ์และวางแผนทรัพยากรมนุษย์นั้น สามารถจะพิจารณาได้จากมาตรการในการเลือกเทคนิคในการพยากรณ์ดังต่อไปนี้

๑. ระยะเวลา (Time Horizon)

๒. ลักษณะของข้อมูล (Pattern of Data)

๓. ค่าใช้จ่าย (Cost)

๔. ความแม่นยำ (Accuracy)

๕. ความง่ายในการนำไปใช้ (Easy of Application)



๗) กลยุทธ์ในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร อาจกล่าวได้ว่าจะครอบคลุมถึงกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่การรับคนเข้ามาทำงานจนถึงสิ้นสุดการเป็นพนักงาน โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่เรียกกันสั้นๆ ว่า กลยุทธ์ “๓ Rs” ซึ่งประกอบด้วย

กลยุทธ์การว่าจ้างพนักงาน (Recruitment Strategy)

กลยุทธ์การดูแลรักษาพนักงาน (Retention Strategy)

กลยุทธ์การสิ้นสุดการเป็นพนักงาน (Retirement Strategy)



บทสรุป

“ทรัพยากรมนุษย์” นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในบรรดาปัจจัยที่เป็นทรัพยากร 4 ประการของการบริหาร คือ 1) คน (Man) 2) เงิน (Money) 3) วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร (Material and Machine) 4) การจัดการ (Management) ฉะนั้น ถ้าองค์การใดขาดทรัพยากรมนุษย์ ย่อมส่งผลให้การดำเนินงานขององค์การนั้นล่าช้า พบอุปสรรคนานาประการ ซึ่งทำให้การดำเนินงานขององค์การไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์การไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Planning : HRP) นั่นเอง

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์หรือบางทีเรียกว่า การวางแผนกำลังคน (Manpower Planning) การวางแผนบุคลากร (Personnel Planning) หรือ การวางแผนการจ้างงาน (Employment Planning)

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง กระบวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ทรัพยากรมนุษย์ขององค์การไว้ล่วงหน้า ว่าต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ระดับใด จำนวนเท่าใด เมื่อใด ด้วยวิธีการใด ต้องพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ความสามารถอย่างไร และจะควบคุมจำนวนทรัพยากรมนุษย์ในองค์การให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินงานขององค์การได้อย่างไร ตลอดจนการกำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อจะใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อวิเคราะห์คำนิยามของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ที่กล่าวมาจะพบว่ามีองค์การประกอบ 2 ส่วนที่สำคัญ คือ การคาดการณ์ (Forecasting) และการกำหนดแผนปฏิบัติ (Programming) จึงอาจ กล่าวได้ว่า เป็นการนำแนวความคิดจากการคาดการณ์มาสู่การปฏิบัติจริงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ต่อไป


บรรณานุกรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). การพัฒนาที่ยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทมมหานคร : บริษัท

สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๐.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม. พิมพ์ครั้งที่ ๖,

กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘.

โกศล เพ็ชรวงศ์. "พระพุทธศาสนากับการพัฒนาตน : ศึกษาเฉพาะกรณี ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตาม

หลักสูตร "เตรียมผู้บริหารการศึกษา" ของสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา วัดไร่ขิง".

วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,

๒๕๔๓.

พระธรรมโกศาจารย์ , (ประยูร ธมฺมจิตโต). พุทธศาสนากับปรัชญา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์

พริ้นติ้งกรุ๊ฟ, ๒๕๓๓.

องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๑๙๒/๒๕๒, อภิ.สํ. (ไทย) ๓๔/๑๙๐/๗๕.

สุชิน (พระมหา) สุชีโว. "การศึกษาวิเคราะห์เรื่องหลักการสงเคราะห์ญาติในพระพุทธศาสนา

เถรวาท". หน้า ๗๗.

สุชิน (พระมหา) สุชีโว. "การศึกษาวิเคราะห์เรื่องหลักการสงเคราะห์ญาติในพระพุทธศาสนา

เถรวาท". หน้า ๓๕.

แก้ว ชิดตะขบ รวมวิชานักธรรมชั้นตรี, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนา

แห่งชาติ, ๒๕๔๙) หน้า ๑๓๒.

https://www.gotoknow.org/posts/582132

http://www.scghrknowledge.com/knowledge/detail/24/index.html


รวบรวมข้อมูลโดย : นายสถิต สมเสงี่ยม


ดาวน์โหลดไฟล์ : การวางแผนทรัพยากรมนุษย์


ตัวอย่างไฟล์ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น